แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เมื่อคดีฟังได้ว่าที่ดินแปลงเดิมมีทางออกไปสู่ทางสาธารณะแต่ภายหลังถูกแบ่งแยกเป็นเหตุให้ที่ดินที่ถูกแบ่งแยกออกมาซึ่งเป็นของโจทก์ไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะ โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินบนที่ดินของจำเลยซึ่งเคยเป็นที่ดินแปลงเดียวกับที่ดินของโจทก์มาแต่เดิมได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350 การที่โจทก์มีคำขอว่า หากจำเลยไม่ยอมรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างก็ขอให้บุคคลภายนอกเป็นผู้รื้อถอน โดยให้จำเลยชดใช้้ค่าใช้จ่ายนั้น เมื่อมีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2527ออกใช้บังคับ ซึ่งมาตรา 12 เพิ่มเติมมาตรา 296 ทวิเปลี่ยนแปลงวิธีการดังกล่าวเป็นว่า หากลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ปฏิบัติตามคำบังคับ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะยื่นคำร้องต่อศาลให้มีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีให้จัดการให้โจทก์ชอบที่จะดำเนินการตามวิธีดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยเปิดทางพิพาท โดยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่กีดขวางอยู่ให้โจทก์ออกสู่ทางสาธารณะได้หากไม่ปฏิบัติตามก็ขอให้บุคคลภายนอกเป็นผู้รื้อถอน โดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย และให้จำเลยไปทำการจดทะเบียนภารจำยอมทางพิพาทให้โจทก์ หากจำเลยไม่ยินยอมให้ถือว่าคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยให้การว่า ที่พิพาทไม่เคยมีทางผ่าน ที่ดินของโจทก์ไม่ใช่ที่ดินที่ถูกล้อมจนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง หากศาลฟังว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็นก็ขอให้ศาลกำหนดค่าทดแทนให้จำเลยด้วย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยเปิดทางบนที่ดินของจำเลยเป็นแนวตรงตามแผนที่พิพาท กว้าง 3 เมตรตลอดแนว เป็นทางจำเป็นให้โจทก์ทั้งสามใช้เข้าออกสู่ถนนโดยให้จำเลยรื้อสิ่งปลูกสร้างกีดขวางออก หากไม่ปฏิบัติตามให้โจทก์ทั้งสามรื้อถอนโดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่ทั้งสองฝ่ายไม่โต้เถียงกันรับฟังได้ว่า เดิมที่ดินของโจทก์ทั้งสามและจำเลยเป็นที่ดินแปลงเดียวกัน ภายหลังถูกแบ่งแยก เป็นเหตุให้ที่ดินที่ถูกแบ่งแยกออกมาเป็นของโจทก์ทั้งสามไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะได้ปัญหามีว่า โจทก์ทั้งสามมีสิทธิเรียกร้องเอาทางออกไปสู่ทางสาธารณะในที่ดินของจำเลยได้หรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงเชื่อได้ดังพยานโจทก์ทั้งสามอ้างว่า นายปรือรวมทั้งโจทก์ทั้งสามตลอดจนทายาททุกคนที่รับมรดกที่ดินแปลงนี้ของนายปรือเจ้ามรดกต่างเคยใช้เส้นทางในที่ดินออกไปสู่ถนนเพชรช่อด้วยกันมาตั้งแต่ก่อนนายปรือตาย แต่อย่างไรก็ดี แม้จะเคยออกจากที่ดินไปสู่ทางสาธารณะโดยผ่านที่ดินของผู้อื่นที่อยู่เขตติดต่อกันบ้างก็ไม่ได้ความชัดว่าได้ใช้เส้นทางไหนจนได้สิทธิเป็นทางภารจำยอมในที่ดินของผู้ใด จึงต้องถือว่า ที่ดินของโจทก์ทั้งสามมีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะ เมื่อคดีฟังได้ว่าที่ดินแปลงเดิมมีทางออกไปสู่ทางสาธารณะอยู่แล้ว แต่ภายหลังถูกแบ่งแยกเป็นเหตุให้ที่ดินที่ถูกแบ่งแยกออกมาเป็นของโจทก์ทั้งสามไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะได้เช่นนี้ โจทก์ทั้งสามย่อมมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินบนที่ดินของจำเลยซึ่งเคยเป็นที่ดินแปลงเดียวกับที่ดินของโจทก์ทั้งสามมาแต่เดิมได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1350 ตามเหตุผลที่ได้วินิจฉัยมา
อนึ่ง ที่โจทก์มีคำขอว่า หากจำเลยไม่ยอมรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไป ก็ขอให้บุคคลภายนอกเป็นผู้รื้อถอนแทน โดยให้จำเลยชดใช้ค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนนั้น เนื่องจากได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2527ออกใช้บังคับ ซึ่งมาตรา 12 เพิ่มเติมบทมาตรา 296 ทวิ บัญญัติเปลี่ยนแปลงวิธีการดังกล่าวเป็นว่า หากลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ปฏิบัติตามคำบังคับ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะยื่นคำขอฝ่ายเดียวโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลให้มีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีให้จัดการให้ ดังนั้น โจทก์ชอบที่จะดำเนินการตามวิธีการดังกล่าว จะดำเนินการตามคำขอเดิมของโจทก์หาได้ไม่”
พิพากษาแก้เป็นว่า หากจำเลยไม่ยอมรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างให้โจทก์ดำเนินการตาม มาตรา 296 ทวิ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์