แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อ ส. คนไร้ความสามารถถึงแก่ความตาย ความเป็นผู้อนุบาลของคนไร้ความสามารถย่อมสิ้นสุดตาม ป.พ.พ. มาตรา 28 วรรคสอง และมาตรา 1598/18 วรรคสอง ประกอบมาตรา 1598/11 ผู้อนุบาลจะต้องรีบส่งมอบทรัพย์สินที่จัดการแก่ทายาทของ ส. และทำบัญชีในการจัดการทรัพย์สินส่งมอบภายในหกเดือนและถ้ามีเอกสารเกี่ยวกับเรื่องจัดการทรัพย์สินก็ให้ส่งมอบพร้อมกับบัญชี แต่ถ้าผู้อนุบาลหรือทายาทร้องขอศาลจะสั่งให้ยืดเวลาก็ได้ทั้งนี้ตามมาตรา 1598/18 วรรคสอง ประกอบมาตรา 1598/11 เมื่อ ส. ถึงแก่ความตายกองมรดกของ ส. ได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่างๆ เว้นแต่ตามกฎหมายหรือโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ย่อมตกทอดแก่ทายาทตามมาตรา 1599 วรรคหนึ่งและมาตรา 1600 ดังนั้น หากระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ของผู้อนุบาลก่อให้เกิดความเสียหายแก่ ส. อย่างไร ความเสียหายที่ ส. ได้รับย่อมเป็นมรดกของ ส. ที่ตกได้แก่ทายาทที่จะเรียกร้องเอาแก่ผู้อนุบาล เมื่อ ส. ถึงแก่ความตายก็ไม่มีประโยชน์ที่จะพิจารณาว่าสมควรถอนผู้คัดค้านที่ 2 ออกจากการเป็นผู้อนุบาลหรือไม่ ศาลอุทธรณ์ชอบที่จะจำหน่ายคดีได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 132 ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 กรณีเช่นนี้ถือว่าเป็นการเพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นโดยปริยาย หาผูกพันว่าผู้คัดค้านที่ 2 ปฏิบัติผิดหน้าที่ไม่
อนึ่ง ศาลอุทธรณ์สั่งจำหน่ายคดีโดยมิได้สั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 151 วรรคสามและมาตรา 167 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้นางสุจิตรา เป็นคนไร้ความสามารถและให้อยู่ในความอนุบาลร่วมกันของผู้ร้องที่ 1 และผู้คัดค้านทั้งสองเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2548
ผู้ร้องที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งถอดถอนผู้คัดค้านทั้งสองออกจากการเป็นผู้อนุบาลร่วมและให้ผู้ร้องที่ 1 เป็นผู้อนุบาลนางสุจิตรา คนไร้ความสามารถแต่เพียงผู้เดียว
ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องขอของผู้ร้องที่ 1
ผู้ร้องที่ 1 ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำคัดค้านของผู้คัดค้านทั้งสองที่ขอถอดถอนผู้ร้องที่ 1 จากการเป็นผู้อนุบาลร่วม
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นนายทวีศักดิ์ ผู้ร้องที่ 2 และนางศรีสอางค์ ผู้ร้องที่ 3 ยื่นคำร้องขอและแก้ไขคำร้องขอให้ถอดถอนผู้คัดค้านทั้งสองออกจากการเป็นผู้อนุบาลและตั้งผู้ร้องที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้อนุบาลร่วมกับผู้ร้องที่ 1
ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำคัดค้านคำร้องขอของผู้ร้องที่ 2 และที่ 3 ขอให้ยกคำร้องขอของผู้ร้องที่ 2 และที่ 3
ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงแก่ความตาย ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีในส่วนของผู้คัดค้านที่ 1 นางวงเดือน ผู้ร้องที่ 4 ยื่นคำร้องขอว่าเป็นบุตรของผู้คัดค้านที่ 1 ได้ช่วยเหลือผู้คัดค้านที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่ขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องที่ 4 เป็นผู้อนุบาลร่วม
ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 ยื่นคำคัดค้านคำร้องขอของผู้ร้องที่ 4 ต่อมาแถลงว่าไม่ติดใจคัดค้าน
ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น นางพยุงศักดิ์ ผู้ร้องที่ 5 ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องที่ 5 เป็นผู้อนุบาลร่วม
ผู้คัดค้านที่ 2 ยื่นคำคัดค้านคำร้องของผู้ร้องที่ 5 ขอให้ยกคำร้องขอของผู้ร้องที่ 5
ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น นางจารุวดี ผู้ร้องที่ 6 ยื่นคำร้องขอว่าเป็นบุตรของนางสุจิตรา คนไร้ความสามารถ ผู้อนุบาลที่เหลือมีอายุมากแล้ว ไม่สมควรที่จะปฏิบัติหน้าที่ ผู้ร้องที่ 1 ไม่ให้ความร่วมมือในการรวบรวมทรัพย์สิน ขอให้ศาลตั้งผู้ร้องที่ 6 เป็นผู้อนุบาลร่วม
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้ถอดถอนนายสมศักดิ์ ผู้คัดค้านที่ 2 ออกจากการเป็นผู้อนุบาลของนางสุจิตรา คนไร้ความสามารถ และให้นายทวีศักดิ์ ผู้ร้องที่ 2 นางศรีสอางค์ ผู้ร้องที่ 3 นางพยุงศักดิ์ ผู้ร้องที่ 5 และนางจารุวดี ผู้ร้องที่ 6 เป็นผู้อนุบาลนางสุจิตรา คนไร้ความสามารถร่วมกับนางสาวศรีศักดิ์ ผู้ร้องที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมเห็นสมควรเป็นพับ ให้ส่งคำสั่งไปโฆษณาในราชกิจจานุเบกษา
ผู้ร้องที่ 4 และผู้คัดค้านที่ 2 อุทธรณ์
ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ นางสุจิตรา คนไร้ความสามารถถึงแก่ความตาย
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวมีคำสั่งให้จำหน่ายคดี
ผู้คัดค้านที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 2 ว่า ศาลอุทธรณ์จำหน่ายคดีชอบหรือไม่ เห็นว่า เมื่อนางสุจิตรา คนไร้ความสามารถถึงแก่ความตาย ความเป็นผู้อนุบาลของคนไร้ความสามารถสิ้นสุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 28 วรรคสองและมาตรา 1598/18 วรรคสอง ประกอบมาตรา 1598/11 ผู้อนุบาลจะต้องรีบส่งมอบทรัพย์สินที่จัดการแก่ทายาทของนางสุจิตรา และทำบัญชีในการจัดการทรัพย์สินส่งมอบภายในหกเดือนและถ้ามีเอกสารเกี่ยวกับเรื่องจัดการทรัพย์สินนั้นก็ให้ส่งมอบพร้อมกับบัญชีแต่ถ้าผู้อนุบาลหรือทายาทร้องขอศาลจะสั่งให้ยืดเวลาก็ได้ ทั้งนี้ตามมาตรา 1598/18 วรรคสอง ประกอบมาตรา 1598/11 นอกจากนี้ เมื่อนางสุจิตราถึงแก่ความตายกองมรดกของนางสุจิตราอันได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตายตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ย่อมตกแก่ทายาทตามมาตรา 1599 วรรคหนึ่งและมาตรา 1600 ดังนั้นหากระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ของผู้อนุบาลก่อให้เกิดความเสียหายแก่นางสุจิตราอย่างไร ความเสียหายที่นางสุจิตราได้รับย่อมเป็นมรดกของนางสุจิตราที่ตกได้แก่ทายาทที่จะเรียกร้องเอาแก่ผู้อนุบาลถ้าหากมี ดังนั้น เมื่อนางสุจิตราถึงแก่ความตายแล้วก็ไม่มีประโยชน์ที่จะพิจารณาว่าสมควรถอนผู้คัดค้านที่ 2 ออกจากเป็นผู้อนุบาลหรือไม่ ศาลอุทธรณ์ชอบที่จะจำหน่ายคดีได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 138 ประกอบพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวพ.ศ.2553 มาตรา 6 การที่ศาลอุทธรณ์จำหน่ายคดีกรณีเช่นนี้ถือว่าเป็นการเพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นโดยปริยายหาผูกพันว่า ผู้คัดค้านที่ 2 ปฏิบัติผิดหน้าที่ไม่ ที่ศาลอุทธรณ์จำหน่ายคดีมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่งศาลอุทธรณ์สั่งจำหน่ายคดีโดยมิได้สั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 151 วรรคสามและมาตรา 167 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้เป็นพับ