คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1367/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประกาศนียบัตรหลักสูตรการศึกษาผู้ใหญ่แบบเบ็ดเสร็จขั้นพื้นฐาน(ประถมศึกษาปีที่ 4) เป็นเอกสารราชการที่แสดงว่า ผู้ได้รับประกาศนียบัตรนั้นจบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ไม่ได้เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิประกาศนียบัตรดังกล่าวจึงเป็นเอกสารราชการ แต่ไม่ใช่เอกสารสิทธิ ข้อนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาในชั้นอุทธรณ์มีเหตุสมควรลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ฎีกาศาลฎีกาก็มีอำนาจวินิจฉัยลดโทษให้ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกรรมต่างกันโดยจำเลยทั้งสองร่วมกันปลอมและใช้ประกาศนียบัตรหลักสูตรการศึกษาผู้ใหญ่แบบเบ็ดเสร็จขั้นพื้นฐาน (ประถมศึกษาปีที่ 4) ซึ่งเป็นเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอม ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 264, 266, 268 และริบของกลาง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 266 จำคุก 5 ปี ข้อหาอื่นให้ยก และยกฟ้องจำเลยที่ 2 ริบของกลาง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 จำคุก3 ปี
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(9)เอกสารสิทธิหมายความว่า เอกสารซึ่งเป็นหลักฐานแห่งการก่อเปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิ สำหรับประกาศนียบัตรนักศึกษาโรงเรียนผู้ใหญ่ เอกสารหมาย ป.จ.3 ซึ่งเป็นเอกสารราชการปลอม โจทก์ไม่ได้ฟ้องและนำสืบเลยว่า ประกาศนียบัตรนักศึกษาโรงเรียนผู้ใหญ่ หลักสูตรการศึกษาผู้ใหญ่แบบเบ็ดเสร็จขั้นพื้นฐาน(ประถมศึกษาปีที่ 4) เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอนสงวนหรือระงับซึ่งสิทธิอย่างไร ลำพังตัวเอกสารดังกล่าวเองก็เพียงแสดงว่า ผู้ได้รับประกาศนียบัตรนั้นจบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4เท่านั้น หาได้เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิแต่ประการใด ประกาศนียบัตรนักศึกษาโรงเรียนผู้ใหญ่เอกสารหมาย ป.จ.3 จึงมิใช่เอกสารสิทธิปลอมที่จำเลยนำสืบยอมรับว่าจำเลยที่ 1 เคยติดต่อให้จำเลยที่ 2 ทำใบสุทธิหรือประกาศนียบัตรให้และได้แสดงเอกสารดังกล่าวต่อนายนพดล สองเมือง เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาในชั้นอุทธรณ์ มีเหตุสมควรลดโทษให้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ฎีกาศาลฎีกาก็มีอำนาจวินิจฉัยลดโทษให้ได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share