คำสั่งคำร้องที่ 1227-1230/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า จำเลยอุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางสั่งว่า เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 54 จึงไม่รับอุทธรณ์ของจำเลย
จำเลยเห็นว่า อุทธรณ์ของจำเลยในประเด็นที่ 1,3,4 และ 5เป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า เอกสารหมาย ล.3 เป็นเอกสารที่เลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่หรือไม่ จำเลยมีสิทธิตามกฎหมายเลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่หรือไม่การทดลองปฏิบัติงานของโจทก์ที่ 4 ต้องมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ที่ 4ทราบหรือไม่ และโจทก์ที่ 4 มีสิทธิได้รับค่าจ้างแทนการไม่บอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยเพียงไร เงินค่าน้ำมันที่จ่ายให้โจทก์ที่ 4เป็นค่าจ้างหรือไม่ โปรดมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ของจำเลยไว้พิจารณาต่อไป
หมายเหตุ ศาลแรงงานกลางได้ส่งสำเนาคำร้องให้โจทก์โดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับแล้ว (อันดับ 51)
คดีทั้งสี่สำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันโดยเรียกโจทก์สำนวนแรกว่า โจทก์ที่ 1 และเรียกโจทก์สำนวนถัดไปว่า โจทก์ที่ 2 ถึงโจทก์ที่ 4 ตามลำดับ
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 1,800 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน2,500 บาท โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 2,500 บาท และโจทก์ที่ 4 เป็นเงิน3,350 บาท และค่าชดเชยให้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 5,400 บาทโจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 15,000 บาท โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 7,500 บาทและโจทก์ที่ 4 เป็นเงิน 3,350 บาท
จำเลยอุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งดังกล่าว (อันดับ 45)
จำเลยจึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 48)

คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว อุทธรณ์ของจำเลยรวม 5 ข้อ สรุปความได้ดังนี้คือ ข้อ 1 เอกสารหมาย ล.3 เป็นเพียงคำสั่งให้พนักงานหยุดงานมิได้เป็นเอกสารที่แสดงถึงการเลิกจ้างพนักงานทั้งหมด ข้อ 2หลังจากจำเลยได้ออกเอกสารหมาย ล.3 เพื่อปรับปรุงการบริหารงานแล้วจนถึงวันที่ 7 ธันวาคม 2530 พนักงานทุกคนได้มาทำงาน เว้นแต่โจทก์ทั้งสี่เท่านั้นที่ไม่มาทำงานถือได้ว่ายังไม่มีการเลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่ ข้อ 3 โจทก์ทั้งสี่ปฏิบัติผิดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานทำให้จำเลยเสียหายหลายเรื่อง เช่น ร่วมกันทุจริตต่อหน้าที่จงใจทำให้จำเลยเสียหายอย่างร้ายแรงจำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่ได้ โดยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชย ข้อ 4 พยานโจทก์เจือสมพยานจำเลยฟังได้ว่าโจทก์ที่สี่เป็นลูกจ้างทดลองปฏิบัติงานยังไม่ครบ 120 วัน ยังไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และข้อ 5 เงินค่าน้ำมันรถ โจทก์ที่ 4 เบิกจ่ายต่อวันตามความเป็นจริง มีจำนวนไม่แน่นอน ไม่ใช่เป็นเงินที่จ่ายตอบแทนการทำงาน ถือไม่ได้ว่าเป็นค่าจ้าง นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าในปัญหาดังกล่าวศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ข้อความในเอกสารหมาย ล.3 หมายถึงการเลิกจ้างพนักงานทั้งหมดแล้ว และฟังไม่ได้ว่าโจทก์ที่สี่อยู่ในระหว่างทดลองปฏิบัติงานอันจะเป็นเหตุยกเว้นในการจ่ายค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้างส่วนค่าน้ำมันรถที่โจทก์ที่สี่เบิกได้อีกวันละ 50 บาท เมื่อรวมกับค่าจ้างเดือนละ2,000 บาทแล้ว โจทก์ที่สี่จึงได้ค่าจ้างเดือนละ 3,350 บาทตามฟ้องเช่นนี้อุทธรณ์ของจำเลยข้อ 1 และข้อ 2 ดังกล่าวข้างต้นเป็นอุทธรณ์ที่เกี่ยวเนื่องกันเกี่ยวกับการตีความในเอกสารหมาย ล.3 ว่าเป็นการเลิกจ้างแล้วหรือไม่ก็ดี อุทธรณ์ข้อ 5 ที่ว่าค่าน้ำมันรถที่จำเลยจ่ายให้โจทก์ที่ 4 เป็นค่าจ้างหรือไม่ ก็ดี เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายส่วนอุทธรณ์ข้อ 3 ที่ว่า โจทก์ทั้งสี่ปฏิบัติผิดระเบียบข้อบังคับจงใจทำให้จำเลยเสียหายอย่างร้ายแรงนั้น เป็นอุทธรณ์นอกเหนือไปจากคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางอันเป็นอุทธรณ์นอกประเด็น และอุทธรณ์ข้อ 4 ที่ว่า โจทก์ที่สี่เป็นลูกจ้างทดลองปฏิบัติงานนั้น การโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางที่ฟังเป็นยุติแล้วอันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามอุทธรณ์ ฉะนั้น ที่ศาลแรงงานกลางสั่งไม่รับอุทธรณ์ข้อ 3และข้อ 4 จึงชอบแล้ว แต่ที่ศาลแรงงานกลางสั่งไม่รับอุทธรณ์ข้อ 1 ข้อ 2 และข้อ 5 อันเป็นข้อกฎหมายนั้นไม่ถูกต้อง จึงให้รับอุทธรณ์ข้อ 1 ข้อ 2 และข้อ 5 ไว้ดำเนินการต่อไป

Share