คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9652/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ก่อนทำสัญญาเช่านั้นจำเลยได้ก่อสร้างอาคารพิพาทเสร็จแล้วเพียงแต่ยังมิได้ตบแต่งเท่านั้น โจทก์ตกลงจะชำระเงินช่วยค่าก่อสร้างอาคารพิพาทให้แก่จำเลยเป็นเงิน 1,000,000 บาท โดยโจทก์จะจ่ายให้ในวันจดทะเบียนการเช่า แม้ตามสัญญาเช่าไม่ได้กำหนดไว้ว่าจะไปจดทะเบียนการเช่าเมื่อใดแต่โจทก์กับจำเลยยอมรับกันว่าได้ตกลงกันจะไปจดทะเบียนการเช่าในวันที่ 5มกราคม 2535 ซึ่งในวันดังกล่าวโจทก์จะต้องชำระค่าเช่าล่วงหน้าอีก 100,000บาท กับเงินช่วยค่าก่อสร้างจำนวน 1,000,000 บาท ให้แก่จำเลย ตามที่ตกลงไว้ในสัญญาเช่า แต่ปรากฏว่าในวันนัดจดทะเบียนการเช่าดังกล่าว โจทก์ไม่ได้ชำระเงินค่าเช่าล่วงหน้าที่ค้างชำระอยู่ 100,000 บาท และเงินช่วยค่าก่อสร้างอาคารพิพาทให้แก่จำเลย และจำเลยเองก็ไม่ได้ไปที่สำนักงานที่ดินเพื่อจดทะเบียนการเช่าให้แก่โจทก์ ตามพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่า โจทก์และจำเลยไม่สามารถที่จะปฏิบัติตามสัญญาเช่ากันอีกต่อไป ทั้งหลังจากนั้นโจทก์และจำเลยต่างปล่อยปละละเลยให้ระยะเวลาล่วงเลยมาโดยมิจัดการอย่างหนึ่งอย่างใดเกี่ยวกับการเช่าและมิได้เรียกร้องให้อีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติตามสัญญา จนเวลาผ่านไปเนิ่นนานจนถึงวันที่ 11 มิถุนายน 2535 โจทก์จึงมีหนังสือแจ้งว่าจำเลยผิดสัญญาเช่าขอบอกเลิกสัญญาเช่าและให้ชำระเงินค่าเช่าล่วงหน้ากับค่าใช้จ่ายในการลงทุนให้แก่โจทก์ กรณีเช่นนี้แสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์และจำเลยว่าทั้งสองฝ่ายต่างสมัครใจเลิกสัญญากันโดยปริยายแล้ว สัญญาเช่าจึงไม่มีผลผูกพันกันต่อไปฝ่ายใดจะอ้างว่าอีกฝ่ายหนึ่งผิดสัญญาหาได้ไม่ ดังนั้น โจทก์และจำเลยต้องคืนสู่ฐานะดังเดิมที่เป็นอยู่ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 391
สัญญาเช่าได้เลิกกันโดยปริยายและโจทก์กับจำเลยต้องคืนสู่ฐานะดังเดิมที่เป็นอยู่ จำเลยจึงต้องคืนเงินค่าเช่าล่วงหน้าให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่เวลาที่รับไว้ และจำเลยยังต้องใช้ค่าก่อสร้างตบแต่ง ซึ่งโจทก์ได้ใช้เงินไปในการงานนั้น แต่ค่าเสียหายอื่น ๆ นอกจากนี้โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยได้ เพราะจำเลยมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์

Share