คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2622/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานฟ้องจำเลยว่าจำเลยปฏิบัติไม่ถูกต้องตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างจึงเป็นการจัดการและดำเนินการเพื่อให้สมาชิกได้รับประโยชน์ตามมาตรา98(2)แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ.2518ซึ่งต้องผ่านมติที่ประชุมใหญ่เสียก่อนที่จะดำเนินการได้ตามมาตรา103(2)แต่ฟ้องฟ้องคดีโดยไม่มีมติของที่ประชุมใหญ่โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2534 โจทก์กับจำเลยได้ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในเรื่องการหักและการจ่ายเงินกองทุนสะสมสำรองเลี้ยงชีพโดยตกลงกันว่า ในแต่ละเดือนให้จำเลยหักค่าจ้างของลูกจ้างจำเลยซึ่งเป็นสมาชิกโจทก์เข้ากองทุนสะสมสำรองเลี้ยงชีพในอัตราร้อยละ 5 ของค่าจ้าง และจำเลยต้องจ่ายเงินของจำเลยเข้าสมทบตามอายุงานของลูกจ้าง ดังนี้ ลูกจ้างที่อายุงานเริ่ม 1-2 ปี, 3-5 ปี 6-9 ปี และ 10 ปี เป็นต้นไป จำเลยต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนสะสมสำรองเลี้ยงชีพในอัตราร้อยละ 5, 6, 8และ 10 ของค่าจ้าง ตามลำดับ กรณีลูกจ้างลาออก จำเลยต้องจ่ายเงินกองทุนสะสมสำรองเลี้ยงชีพในส่วนที่หักจากลูกจ้างไว้ในอัตราร้อยละ 100 และต้องจ่ายสมทบเข้ากองทุนสะสมสำรองเลี้ยงชีพให้แก่ลูกจ้างที่เป็นสมาชิกโจทก์ที่มีอายุงานเริ่ม 3-5 ปี, 6-9 ปี และ10 ปี เป็นต้นไป ในอัตราร้อยละ 60, 80 และ 100 ตามลำดับ ของเงินที่จำเลยจ่ายสมทบเข้ากองทุนสะสมสำรองเลี้ยงชีพ เมื่อวันที่25 มิถุนายน 2536 จำเลยไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกล่าวคือ ลูกจ้างจำเลยที่เป็นสมาชิกโจทก์ที่มีอายุงานเกิน 2 ปีแต่ยังไม่ครบ 3 ปี จำเลยจ่ายเงินส่วนของจำเลยสมทบเข้ากองทุนเพียงร้อยละ 5 ของค่าจ้างซึ่งยังไม่ถูกต้อง เพราะลูกจ้างที่มีอายุงานดังกล่าวอยู่ในเงื่อนไขของอายุงานเริ่ม 3-5 ปี จำเลยจึงต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนสะสมสำรองเลี้ยงชีพในอัตราร้อยละ 6 ของค่าจ้าง การกระทำของจำเลยทำให้ลูกจ้างดังกล่าวได้รับความเสียหายเป็นเหตุให้เงินสมทบเข้ากองทุนสะสมสำรองเลี้ยงชีพของลูกจ้างนั้นในส่วนที่จำเลยต้องจ่ายสมทบเข้าขาดไปร้อยละ 1 ของค่าจ้าง และมีผลกระทบไปถึงลูกจ้างที่มีอายุงานตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป รวมทั้งกระทบถึงการจ่ายเงินจากกองทุนสะสมสำรองเลี้ยงชีพคืนแก่ลูกจ้างที่เป็นสมาชิกโจทก์ที่ลาออกด้วย ขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติให้ถูกต้องตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ฉบับลงวันที่ 14 พฤษภาคม 2534ข้อ 10 และให้จำเลยจ่ายเงินส่วนของจำเลยสมทบเข้ากองทุนสะสมสำรองเลี้ยงชีพที่จำเลยจ่ายขาดไปอีกร้อยละ 1 ของค่าจ้างลูกจ้างจำเลยซึ่งเป็นสมาชิกโจทก์ที่มีอายุงานเกิน 2 ปี แต่ยังไม่ครบ 3 ปี
จำเลยให้การว่า การฟ้องคดีนี้ โจทก์คงมีรายงานการประชุมของคณะกรรมการบริหารสหภาพแรงงานโจทก์โดยไม่มีมติของที่ประชุมใหญ่โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การฟ้องร้องคดีนี้เป็นการที่สหภาพแรงงานโจทก์ดำเนินกิจการอันอาจกระทบกระเทือนถึงส่วนได้เสียของสมาชิกเป็นส่วนรวมจะต้องมีการขอมติของที่ประชุมใหญ่ของสมาชิกสหภาพแรงงานก่อนจึงจะฟ้องคดีได้ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 103(2) แต่ปรากฏว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องมาโดยที่มิได้มีการประชุมใหญ่กันมาก่อน เพียงแต่มีรายงานการประชุมของกรรมการสหภาพ ซึ่งได้ประชุมกันเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2536ตามเอกสารหมาย จ.3 และโจทก์เพิ่งจะมีการประชุมใหญ่เกี่ยวกับเรื่องที่นำคดีนี้มาฟ้องเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2536 ตามเอกสารหมายจ.4 ซึ่งเป็นการประชุมใหญ่หลังจากที่ได้มีการฟ้องคดีนี้ไปแล้วโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์ อุทธรณ์ ต่อ ศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยอาศัยมติของที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสหภาพแรงงานการประชุมเอกสารหมาย จ.3 โดยไม่มีมติของที่ประชุมใหญ่ ปัญหาวินิจฉัยในชั้นนี้มีว่า โจทก์ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานฟ้องโดยอ้างว่า จำเลยปฏิบัติไม่ถูกต้องตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง จะต้องขอมติที่ประชุมใหญ่หรือไม่ เห็นว่าแม้การฟ้องคดีเช่นนี้ถือได้ว่าเป็นการจัดการและดำเนินการเพื่อให้สมาชิกได้รับประโยชน์ตามมาตรา 98(2) แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ก็ตาม แต่การฟ้องคดีนี้ไม่เพียงแต่ศาลพิพากษาโดยการวินิจฉัยชี้ขาดข้อโต้เถียงของคู่ความเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่อันมีอยู่ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเพื่อหาข้อยุติเท่านั้น หากแต่การดำเนินคดีย่อมต้องใช้ความจัดเจนในการดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบและถูกต้อง นอกจากนี้โจทก์จำเลยยังอาจทำการประนีประนอมยอมความกันให้ผิดแผกไปจากข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ทำไว้ก็ได้เป็นต้น ผลของคำพิพากษาย่อมผูกพันลูกจ้างซึ่งเป็นสมาชิกโจทก์กับจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างให้ต้องปฏิบัติตามอันอาจกระทบกระเทือนถึงส่วนได้เสียของลูกจ้างซึ่งเป็นสมาชิกเป็นส่วนรวม ซึ่งตามมาตรา 103(2) แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 บัญญัติว่า สหภาพแรงงานจะกระทำการได้ก็แต่โดยมติของที่ประชุมใหญ่ ในกรณีดำเนินกิจการอันอาจกระทบกระเทือนถึงส่วนได้เสียของสมาชิกเป็นส่วนรวม บทบัญญัติดังกล่าวนี้มุ่งหมายให้มีการทบทวนและไตร่ตรองให้รอบคอบโดยผ่านมติที่ประชุมใหญ่เสียก่อนที่จะดำเนินการ เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้โดยไม่มีมติของที่ประชุมใหญ่โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share