แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ว่าจำเลยมีความผิดตามป.อ. มาตรา 157,162(2) และมาตรา 267 รวม 3 กระทง ให้จำคุกกระทงละ 2 ปี ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา218 วรรคแรก ที่จำเลยฎีกาว่าหลักฐานการรับแจ้งการตายซึ่งโจทก์นำมาสืบประกอบคำเบิกความพยานโจทก์เป็นเอกสารที่ไม่สมบูรณ์ตามกฎหมายเกี่ยวกับทะเบียนราษฎร์ เพราะไม่ปรากฏชื่อ ป. ผู้ตายในเอกสารแต่ในช่องที่ต้องระบุชื่อ ป. ผู้ตาย กลับลงข้อความอื่นจึงฟังไม่ได้เลยว่าเป็นหลักฐานแจ้งการตายของใคร และจำเลยไม่มีหน้าที่รับแจ้งการตายของ ป. การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 ส่วนความผิด ตาม ป.อ. มาตรา 162 และมาตรา 267 พยานโจทก์เบิกความแตกต่างกับเอกสารเกี่ยวกับการที่จำเลยแจ้งย้ายภูมิลำเนาของ ป. ผู้ตาย การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยในความผิด ตาม ป.อ. มาตรา 157,162 และ มาตรา 267จึงเป็นการคลาดเคลื่อนต่อข้อกฎหมายนั้น เป็นการโต้เถียงการใช้ดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 157,162, 267 ที่แก้ไขแล้ว
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157, 162(2), 267 ให้จำคุกกระทงละ 2 ปี เรียงกระทงโทษตามมาตรา 91 รวมเป็นโทษจำคุก 6 ปี คำให้การรับสารภาพชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 หนึ่งในสาม คงให้จำคุกไว้ 4 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 162(2), 267 เรียงกระทงลงโทษตามมาตรา 91 จำคุกระทงละ 2 ปี รวมเป็นโทษจำคุก 6 ปีลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก4 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น และให้ลงโทษจำคุกจำเลยแต่ละกระทงไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรกที่จำเลยฎีกาว่า หลักฐานการรับแจ้งการตายตามเอกสารหมาย จ.1ซึ่งโจทก์นำสืบประกอบคำเบิกความพยานโจทก์เพื่อให้ศาลรับฟังว่าจำเลยกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 นั้นเป็นเอกสารที่ไม่สมบูรณ์ตามกฎหมายเกี่ยวกับทะเบียนราษฎร์ เพราะไม่ปรากฏชื่อนางสาวประมวนวรราช ผู้ตายอยู่ในเอกสารนั้น แต่ในช่องที่ต้องระบุชื่อนางสาวประมวน ผู้ตายกลับลงข้อความอื่น จึงฟังไม่ได้เลยว่าเป็นหลักฐานแจ้งการตายของใคร ทั้งจำเลยก็ไม่มีหน้าที่รับแจ้งการตายของนางสาวประมวนผู้ตายที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 จึงคลาดเคลื่อนต่อข้อกฎหมาย ส่วนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 และ 267 พยานโจทก์ก็เบิกความแตกต่างกับเอกสารหมายจ.4, จ.6, จ.10 และ จ.17 อันเป็นเอกสารเกี่ยวกับการที่จำเลยแจ้งย้ายภูมิลำเนาของนางสาวประมวน ผู้ตาย ดังนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 1พิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดดังกล่าวจึงเป็นการคลาดเคลื่อนต่อข้อกฎหมายเช่นกัน เห็นว่าฎีกาของจำเลยเป็นการโต้เถียงว่าศาลอุทธรณ์ภาค 1 ใช้ดุลพินิจชอบหรือไม่ในการรับฟังพยานหลักฐานในสำนวน จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยมาไม่ชอบด้วยกฎหมายศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษาให้ยกฎีกาของจำเลย.