แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แม้ศาลจะสืบพยานหลักฐานไปแล้วก็ตาม แต่เมื่อมีคำพิพากษาให้ยกคำฟ้อง ศาลก็สามารถใช้ดุลพินิจพิพากษายกฟ้องโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคำฟ้องมายื่นใหม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ในวงเงิน 4,000,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 18 ต่อปี ชำระดอกเบี้ยทุกเดือน โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันที่ยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม และจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันในวงเงินดังกล่าว เมื่อครบกำหนดชำระต้นเงินและดอกเบี้ย จำเลยทั้งสองไม่ชำระ โจทก์ทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนองแล้ว จำเลยทั้งสองเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระให้บังคับจำนอง
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นระหว่างวันที่ 30 ธันวาคม 2528 ถึงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2531(วันฟ้อง) เพราะไม่มีการเดินสะพัดทางบัญชี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ต่อปีโดยไม่นำสืบว่ามีสิทธิคิดได้ตามกฎหมาย ดอกเบี้ยที่โจทก์คิดแต่ละยอดจึงเกินอัตราตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เป็นโมฆะ วันที่ 28 มิถุนายน2525 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ แต่บัญชีเอกสารที่โจทก์นำมาแสดงนั้นปรากฏรายการในการเดินบัญชีตั้งแต่วันที่ 17พฤษภาคม 2526 จึงไม่มีหลักฐานในการคำนวณยอดเงินที่จำเลยที่ 1เบิกเกินบัญชีและยอดเงินที่จำเลยที่ 1 นำเข้าบัญชี เพื่อคำนวณต้นเงินที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระเพื่อให้จำเลยทั้งสองรับผิดต่อโจทก์ได้ พิพากษายกฟ้อง แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องคดีใหม่ภายในอายุความ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ประเด็นที่จะวินิจฉัยในชั้นนี้จึงมีว่าที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์ แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องคดีใหม่ภายในอายุความนั้น ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 บัญญัติว่า “คดีที่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้ว ห้ามมิให้คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน เว้นแต่ในกรณีต่อไปนี้
ฯลฯ
(3) เมื่อคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นให้ยกคำฟ้องเสียโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคำฟ้องมายื่นใหม่ ในศาลเดียวกันหรือในศาลอื่นภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความ” เห็นว่า ในกรณีที่ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ยกฟ้องโจทก์นั้น มาตรา 148(3) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง บัญญัติรับรองให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งด้วยว่าไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคำฟ้องมายื่นใหม่ภายในอายุความ โดยไม่มีเงื่อนไขหรือวางกฎเกณฑ์ไว้ว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งดังกล่าวได้ภายในเงื่อนไขหรือกฎเกณฑ์อย่างใด จึงเป็นอำนาจทั่วไปของศาลที่จะใช้ดุลพินิจวินิจฉัยสั่งได้แล้วแต่ศาลจะเห็นสมควร ฉะนั้น แม้คดีนี้ศาลชั้นต้นจะสืบพยานหลักฐานไปแล้วก็ตามแต่เมื่อมีคำพิพากษาให้ยกคำฟ้องศาลชั้นต้นก็สามารถใช้ดุลพินิจพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคำฟ้องมายื่นใหม่ได้คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองชอบแล้ว ฎีกาจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน