แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 18 วรรคหนึ่ง พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนความผิดอาญาซึ่งได้เกิดในเขตอำนาจของตน หรือผู้ต้องหามีที่อยู่หรือถูกจับภายในเขตอำนาจของตน นอกจากสามกรณีดังกล่าวแล้วพนักงานสอบสวนจะมีอำนาจสอบสวนต่อเมื่อมีการอ้างหรือเชื่อว่าความผิดนั้นได้เกิดภายในเขตอำนาจของตนโดยพนักงานสอบสวนเข้าใจหรือมีความเชื่อว่าความผิดได้เกิดภายในเขตอำนาจของตน ซึ่งผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงที่ความผิดไม่ได้เกิดในเขตอำนาจของพนักงานสอบสวน แต่ได้เกิดในสถานที่อื่น
เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมพบความผิดเกิดขึ้นในที่เกิดเหตุและจับกุมจำเลยในที่เกิดเหตุซึ่งอยู่ในเขตอำเภอเลิงนกทา จึงเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมและพนักงานสอบสวนทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่เกิดเหตุโดยชัดแจ้งแล้ว ไม่มีข้ออ้าง ข้อสงสัยหรือความเชื่อเกี่ยวกับที่เกิดเหตุที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ไม่ใช่กรณีที่พนักงานสอบสวนอ้างหรือเชื่อว่าความผิดได้เกิดในเขตอำนาจของตนซึ่งอยู่ในเขตอำเภอไทยเจริญ อันจะทำให้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอไทยเจริญมีอำนาจสอบสวนได้ตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยไม่ใช่ผู้มีที่อยู่หรือถูกจับในเขตอำเภอไทยเจริญ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอไทยเจริญจึงไม่มีอำนาจสอบสวนและมีผลห้ามโจทก์ฟ้องคดีตามมาตรา 120
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2540 เวลากลางวัน จำเลยกับพวกที่หลบหนีร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ จำเลยกับพวกร่วมกันทำไม้กระบากและไม้ตีนนก ซึ่งเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก ในป่าด้านทิศตะวันออกของบ้านเหล่าหันทราย อันเป็นป่าตามกฎหมาย โดยตัดฟันออกจากต้นแล้วทอนเป็นท่อน ๆ รวม 32 เหลี่ยม ปริมาตร 0.393 ลูกบาศก์เมตร แล้วจำเลยกับพวกร่วมกันแปรรูปไม้กระบากและไม้ตีนนกที่จำเลยกับพวกได้ตัดทำไม้ โดยใช้เลื่อยโซ่ยนต์เลื่อยออกเป็นเหลี่ยม/แผ่น รวม 32 เหลี่ยม/แผ่น ปริมาตร 0.393 ลูกบาศก์เมตร อันเป็นการกระทำให้ไม้เปลี่ยนรูปและขนาดไปจากเดิมภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ตามประกาศกระทรวงเกษตร จำเลยกับพวกร่วมกันมีไม้กระบากและไม้ตีนนกแปรรูปตามจำนวนและปริมาตรดังกล่าวซึ่งเกินกว่า 0.20 ลูกบาศน์เมตร ไว้ในครอบครองภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่และมิได้รับสัมปทานหรือได้รับการยกเว้นใด ๆ ตามกฎหมายให้ทำไม้ดังกล่าวได้ อันเป็นการทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ และจำเลยกับพวกร่วมกันซื้อและรับไว้ซึ่งเลื่อยโซ่ยนต์จำนวน 2 เครื่อง พร้อมทั้งส่วนอุปกรณ์และอุปกรณ์ประกอบของเลื่อยโซ่จำนวน 2 ชุด รวมราคา 9,400 บาท อันมีถิ่นกำเนิดและผลิตในต่างประเทศโดยมีผู้ลักลอบนำเข้ามาในราชอาณาจักร โดยมิได้เสียภาษีอากรขาเข้าเป็นเงิน 4,042 บาท รวมราคาเลื่อยโซ่พร้อมส่วนประกอบและอุปกรณ์กับภาษีอากรขาเข้าเป็นเงิน 13,442 บาท อันเป็นของต้องห้ามต้องจำกัดในการนำเข้ามาในราชอาณาจักรตามประกาศกระทรวงพาณิชย์และช่วยซ่อนเร้น ช่วยพาเอาไปเสียซึ่งของดังกล่าวโดยจำเลยกับพวกรู้อยู่แล้วว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากรข้อห้ามข้อจำกัด อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เหตุทั้งหมดเกิดที่ตำบลส้มผ่อ อำเภอไทยเจริญ จังหวัดยโสธร เจ้าพนักงานจับจำเลยพร้อมยึดไม้จำนวนดังกล่าว เลื่อยโซ่จำนวน 2 เครื่อง บาร์จำนวน 2 อัน โซ่จำนวน 2 เส้น แกลลอนพลาสติกจำนวน 4 ใบ และปีกไม้จำนวน 3 ปีก ซึ่งเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเลยใช้กระทำความผิดและได้ใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดดังกล่าวเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 7, 11, 48, 73, 74, 74 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91 พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำผิด พ.ศ.2489 มาตรา 4, 5, 6, 7, 8, 9 ริบของกลาง และจ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับตามกฎหมาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 11 วรรคแรก, 48 วรรคแรก, 73 วรรคแรก วรรคสอง (2), 74, 74 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันเรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันทำไม้หวงห้าม จำคุก 1 ปี ฐานร่วมกันแปรรูปไม้หวงห้าม จำคุก 1 ปี ฐานร่วมกันมีไม้หวงห้ามแปรรูปไว้ในครอบครอง จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 2 ปี ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก ริบของกลาง ให้ยกคำขอให้จ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ของกลางให้ริบ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ซึ่งโจทก์และจำเลยไม่โต้แย้งฟังได้เป็นยุติว่า เหตุตามฟ้องเกิดในเขตตำบลสามัคคี อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร จำเลยมีที่อยู่และถูกจับภายในเขตตำบล อำเภอและจังหวัดดังกล่าว ซึ่งเหตุได้เกิดส่วนการจับกุมและการสอบสวนได้กระทำโดยเจ้าพนักงานตำรวจและพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอไทยเจริญ จังหวัดยโสธร ซึ่งเป็นเขตที่อยู่ติดต่อกับเขตที่เกิดเหตุ คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าการสอบสวนที่กระทำโดยพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอไทยเจริญ จังหวัดยโสธร ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า เจ้าพนักงานตำรวจประจำสถานีตำรวจภูธรอำเภอไทยเจริญ ทำการจับกุมและพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอไทยเจริญ ทำการสอบสวนเพราะเชื่อโดยสุจริตว่าเหตุเกิดภายในเขตอำนาจตน การสอบสวนจึงชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 18 พิเคราะห์แล้ว ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 18 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในจังหวัดอื่นนอกจากจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี… ข้าราชการตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นนายร้อยตำรวจตรีหรือเทียบเท่านายร้อยตำรวจตรีขึ้นไป มีอำนาจสอบสวนความผิดอาญาซึ่งได้เกิดหรืออ้าง หรอืเชื่อว่าได้เกิดภายในเขตอำนาจของตนหรือผู้ต้องหามีที่อยุ่ หรือถูกจับภายในเขตอำนาจของตนได้” ตามบทกฎหมายนี้เห็นได้ว่าพนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนความผิดอาญาซึ่งได้เกิดในเขตอำนาจของตน หรือผู้ต้องหามีที่อยู่หรือถูกจับภายในเขตอำนาจของตน นอกจากสามกรณีดังกล่าวแล้วพนักงานสอบสวนจะมีอำนาจสอบสวนต่อเมื่อมีการอ้างหรือเชื่อว่าความผิดนั้นได้เกิดภายในเขตอำนาจของพนักงานสอบสวนนั้น หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือพนักงานสอบสวนเข้าใจหรือมีความเชื่อเกี่ยวกับที่เกิดเหตุว่าความผิดได้เกิดภายในเขตอำนาจของตน ซึ่งผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงที่ความผิดไม่ได้เกิดในเขตอำนาจของพนักงานสอบสวน แต่ได้เกิดในสถานที่อื่นนอกเขตอำนาจของพนักงานสอบสวนนั้น เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้ได้ความว่าเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมพบความผิดเกิดขึ้นในที่เกิดเหตุและจับกุมจำเลยในที่เกิดเหตุซึ่งเป็นเขตอำเภอเลิงนกทา จึงเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมและพนักงานสอบสวนทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่เกิดเหตุโดยชัดแจ้งแล้ว ไม่มีข้ออ้าง ข้อสงสัยหรือความเชื่อเกี่ยวกับที่เกิดเหตุที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงแต่ประการใด ข้ออ้างตามฎีกาของโจทก์ที่ว่าเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมและพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอไทยเจริญทำการจับกุมและทำการสอบสวนเพราะเชื่อโดยสุจริตว่าที่เกิดเหตุอยู่ในเขตอำนาจของพนักงานสอบสวนเป็นกรณีที่อ้างว่าพนักงานสอบสวนอ้าง หรือเชื่อหรือเข้าใจว่าเขตอำนาจของพนักงานสอบสวนครอบคลุมไปถึงที่เกิดเหตุหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอไทยเจริญไม่รู้ว่าเขตอำนาจสอบสวนของตนครอบคลุมเขตพื้นที่เพียงใด ไม่ใช่กรณีที่พนักงานสอบสวนอ้างหรือเชื่อว่าความผิดได้เกิดในเขตอำนาจของตน ซึ่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอไทยเจริญมีอำนาจสอบสวนได้ตามที่บัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 18 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยไม่ใช่ผู้มีที่อยู่หรือถูกจับในเขตอำเภอไทยเจริญ ซึ่งเป็นเขตอำนาจสอบสวนของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอไทยเจริญ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอไทยเจริญจึงไม่มีอำนาจสอบสวนและมีผลห้ามโจทก์ฟ้องคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน