คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6178/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2542 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดได้ขยายองค์ประกอบความผิดจากเดิมที่กำหนดให้ผู้กระทำความผิดต้องเป็นผู้ไม่มีสัญชาติไทย ให้เป็น ผู้ใด ซึ่งจะเป็นผู้ที่มีสัญชาติไทยหรือไม่ก็ได้ ดังนั้น ในการพิจารณาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหรือไม่ จึงต้องพิจารณาตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 เดิม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 เมื่อคำฟ้องของโจทก์ปรากฏว่าจำเลยเป็นผู้มีสัญชาติไทย จึงเป็นฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิดตามมาตราดังกล่าว ถือเป็นฟ้องที่ไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ลงโทษจำเลยไม่ได้
โจทก์ขอให้ริบของกลางที่จำเลยใช้กระทำความผิด แต่ศาลล่างทั้งสองมิได้มีคำวินิจฉัยว่าจะริบของกลางนั้นหรือไม่ คำพิพากษาจึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186 (9) แม้คู่ความมิได้ฎีกาปัญหานี้ แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามมาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 แต่เมื่อปรากฏว่าศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ริบของกลางในคดีอื่นที่ผู้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยถูกฟ้องแล้ว จึงไม่จำต้องสั่งริบของกลางในคดีนี้อีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2540 เวลากลางวัน จำเลยกับนายชิดหรือชิด พัฒนากุล นายไมตรีหรือตรี ศรีพรหมรัตน์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 292/2542 ของศาลชั้นต้น กับพวก ร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่นางกรชนก รัตนศิลา เจ้าหน้าที่ปกครอง 3 และนายสำรอง หนูรักษา ปลัดอำเภอเมืองชุมพร ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย มีหน้าที่รับคำร้องเกี่ยวกับการขอมีบัตรประจำตัวประชาชนตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารและความเป็นจริงเกี่ยวกับการขอมีบัตรประจำตัวประชาชนว่านายชิตเป็นคนสัญชาติไทยชื่อนายนิยม แท่นแก้ว มีบิดามารดาเป็นคนไทยชื่อ นายเรียง แท่นแก้ว และนางตรุษหรือตรุด ภักดีหรือแท่นแก้ว มีภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 89/2 หมู่ 7 ตำบลปากจั่น อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง และนำสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน รหัส ส.น.ท. 8504 เลขรหัสประจำบ้าน 85040063971 เจ้าบ้าน รหัส ส.น.ท. 8504 เลขรหัสประจำบ้าน 85040063971 ซึ่งมีชื่อ นายนิยม แท่นแก้ว อยู่ในสำเนาทะเบียนบ้านดังกล่าว พร้อมใบแจ้งย้ายที่อยู่สำนักงานทะเบียนอำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง ที่แจ้งย้ายนายนิยม แท่นแก้ว จากบ้านเลขที่ 89/2 หมู่ที่ 7 ตำบลปากจั่น อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง ไปอยู่บ้านเลขที่ 79 หมู่ที่ 4 ตำบลบางลึก อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร มาแสดงต่อเจ้าหน้าที่เพื่อขอทำบัตรประจำตัวประชาชนของนายชิต โดยอ้างว่าบัตรประจำตัวประชาชนเดิมของนายชิตหายไป โดยอ้างว่าบัตรประจำตัวประชาชนเดิมของนายชิตหายไป ความจริงแล้วนายชิตเป็นคนต่างด้าวสัญชาติพม่า บิดามารดาไม่ทราบชื่อและถึงแก่ความตายตั้งแต่นายชิตยังเล็ก ไม่มีชื่อในสำเนาทะเบียนบ้านฉบับดังกล่าวและไม่เคยมีบัตรประจำตัวประชาชนเป็นคนไทย ทั้งนายนิยมได้ถึงแก่ความตายไปแล้ว ซึ่งการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จดังกล่าวอาจทำให้เจ้าพนักงานดังกล่าวและประชาชนเสียหาย เจ้าพนักงานจับกุมพวกของจำเลยพร้อมยึดได้เอกสารที่เกี่ยวข้องในการกระทำความผิดเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91, 137 พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 4, 14 ริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 83 พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (1) การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (1) ซึ่งเป็นกฎหมายหลายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 6 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 3 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยได้กล่าวอ้างข้อเท็จจริงที่ว่านายยิ่ง เศษสุข หลอกลวงจำเลยว่านายชิต พัฒนากุล คือนายนิยม แท่นแก้ว ต่อศาลชั้นต้นแล้ว เห็นว่า คำให้การของจำเลยฉบับลงวันที่ 27 สิงหาคม 2546 ระบุว่า หากส่วนหนึ่งส่วนใดในคำให้การนี้เป็นปฏิเสธก็ขอให้ถือเป็นรับสารภาพด้วย แม้คำให้การดังกล่าวจำเลยจะให้การเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่ว่านายยิ่งหลอกลวงจำเลยซึ่งเป็นการให้การในทำนองว่าจำเลยขาดเจตนาในการกระทำความผิดตามฟ้องก็ตาม แต่เมื่อจำเลยระบุข้อความดังกล่าวในคำให้การของจำเลยเท่ากับจำเลยสละข้อต่อสู้ในเรื่องดังกล่าวแล้ว จึงถือว่าจำเลยไม่ได้ว่ากล่าวในทำนองว่าจำเลยขาดเจตนาในการกระทำความผิดตามฟ้องมาตั้งแต่ศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ไม่รับวินิจฉัยให้โดยเห็นว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (1) หรือไม่ เห็นว่า ขณะที่จำเลยกระทำความผิดยังไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 ซึ่งบัญญัติว่า ผู้ไม่มีสัญชาติไทยผู้ใดยื่นคำขอมีบัตรโดยแจ้งข้อความหรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าตนเป็นผู้มีสัญชาติไทยหรือใช้บัตรซึ่งตนหมดสิทธิใช้ตามมาตรา 9 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท แต่ต่อมาก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้มีพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2542 มาตรา 8 ให้ยกเลิกความในมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทนว่า
ผู้ใด
(1) แจ้งข้อความหรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในการขอมีบัตรตามมาตรา 5 วรรคสี่ หรือมาตรา 6 หรือการขอมีบัตรใหม่ตามมาตรา 6 ตรี หรือการขอมีบัตรใหม่หรือขอเปลี่ยนบัตรตามมาตรา 6 จัตวา ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
(2) …
เห็นได้ว่า กฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดคดีนี้ได้ขยายองค์ประกอบความผิดจากเดิมที่กำหนดให้ผู้กระทำความผิดต้องเป็น ผู้ไม่มีสัญชาติไทย ให้เป็น ผู้ใด ซึ่งจะเป็นผู้ที่มีสัญชาติไทยหรือไม่ก็ได้ ดังนั้น ในการพิจารณาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหรือไม่ จึงต้องพิจารณาตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 เดิม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 เมื่อคำฟ้องของโจทก์ปรากฏว่าจำเลยเป็นผู้มีสัญชาติไทย ฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 เดิม จึงเป็นฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิดตามมาตราดังกล่าว ถือเป็นฟ้องที่ไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ลงโทษจำเลยในข้อหาตามพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษจำเลยในความผิดตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (1) มาด้วยจึงไม่ชอบ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น จำเลยคงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 เท่านั้น และเมื่อโทษจำคุกที่ศาลล่างกำหนดมานั้นไม่เกินอัตราโทษขั้นสูงของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 ทั้งยังเหมาะสมแก่สภาพความผิดของจำเลยจึงไม่จำต้องแก้ไขโทษจำคุกที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดมา
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายว่า สมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า จำเลยร่วมกับพวกแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานว่านายชิตเป็นคนสัญชาติไทยทำบัตรประจำตัวประชาชนหาย ขอมีบัตรใหม่ เพื่อให้ทางราชการออกบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่นายชิตนั้น นับเป็นการกระทำที่กระทบต่อความมั่นคงและความปลอดภัยของประชาชน ทั้งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นได้ พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องที่ร้ายแรง จึงไม่มีเหตุสมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น แต่อย่างไรก็ตามจำเลยอายุ 66 ปี และป่วยเจ็บเป็นโรคหัวใจขาดเลือดและไขมันในเลือดสูงต้องรักษาที่โรงพยาบาลเป็นประจำ ประกอบกับจำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน สมควรเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังแทน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23
อนึ่ง คดีนี้โจทก์ขอให้ริบของกลางที่จำเลยกับพวกร่วมกันใช้กระทำความผิด แต่ศาลล่างทั้งสองมิได้มีคำวินิจฉัยว่าจะริบของกลางนั้นหรือไม่ คำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองจึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186 (9) แม้คู่ความมิได้ฎีกาปัญหานี้แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 แต่เมื่อปรากฏว่าศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ริบของกลางในคดีหมายเลขแดงที่ 292/2542 ของศาลชั้นต้น ที่ผู้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยถูกฟ้องแล้ว จึงไม่จำต้องสั่งริบของกลางในคดีนี้อีก”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 83 ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นโทษกักขังแทนมีกำหนด 3 เดือน ยกฟ้องโจทก์สำหรับข้อหาตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 ยกคำขอให้ริบของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8

Share