คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6217/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

มูลหนี้ของผู้ร้องเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการผู้ร้องจึงได้รับการคุ้มครองสิทธิด้วยการขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/27 อยู่แล้ว ทั้งหนี้ของผู้ร้องเกิดจากการชำระเงินซื้อบ้านพร้อมที่ดินจากการประกาศขายของลูกหนี้ แต่ไม่มีการส่งมอบหรือโอนกรรมสิทธิ์ให้ซึ่งเป็นมูลหนี้ที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจของลูกหนี้ โดยมีเจ้าหนี้อีกหลายรายที่อยู่ในฐานะเดียวกับผู้ร้องที่ต้องจัดอยู่ในกลุ่มเจ้าหนี้เดียวกันและตามมาตรา 90/42 ทวิ และมาตรา 90/42 ตรี สิทธิของเจ้าหนี้ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันต้องได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกัน การยกเลิกข้อจำกัดสิทธิให้แก่ผู้ร้องจึงก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันและไม่เป็นธรรมต่อเจ้าหนี้รายอื่นในกลุ่มเดียวกัน การจำกัดสิทธิของผู้ร้องจึงยังมีความจำเป็นต่อการฟื้นฟูกิจการ

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2546 และมีคำสั่งตั้งลูกหนี้เป็นผู้ทำแผนเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2547
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมของลูกหนี้ในคดีหมายเลขแดงที่ 1047/2542 ของศาลจังหวัดสมุทรปราการ เป็นต้นเงินจำนวน 2,407,598.34 บาท ดอกเบี้ย 400,222 บาท รวมเป็นเงิน 2,807,820.34 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันถัดจากวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการจนกว่าจะได้รับชำระหนี้เสร็จตามสำเนาคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการท้ายคำร้อง หนี้ของผู้ร้องมีอัตราส่วนเพียงร้อยละ 0.008 ของยอดหนี้ทั้งหมดของลูกหนี้รวม 31,366,987,000 บาท หรือมีอัตราส่วนเพียงร้อยละ 0.025 ของสินทรัพย์ของลูกหนี้จำนวนรวม 11,098,341,000 บาท การที่ผู้ร้องต้องถูกจำกัดสิทธิตามมาตรา 90/12 (5) โดยไม่สามารถบังคับคดีตามคำพิพากษาได้ทั้งที่เป็นยอดเงินจำนวนที่มีอัตราส่วนต่ำอย่างยิ่งไม่มีผลกระทบและ/หรือความจำเป็นต่อการฟื้นฟูกิจการลูกหนี้ ขอให้มีคำสั่งยกเลิกข้อจำกัดสิทธิของผู้ร้องหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาด้วยเหตุไม่มีความจำเป็นต่อการฟื้นฟูกิจการ
ผู้ทำแผนและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องว่า ข้อจำกัดสิทธิของผู้ร้องมีความจำเป็นต่อการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 (5) บัญญัติห้ามมิให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ โดยเจ้าหนี้ที่ถูกจำกัดสิทธิอาจยื่นค้ำรองต่อศาลขอให้มีคำสั่งยกเลิกข้อจำกัดสิทธินั้นได้ หากการจำกัดสิทธิของเจ้าหนี้นั้นไม่มีความจำเป็นต่อการฟื้นฟูกิจการตามมาตรา 90/13 (1) การพิจารณาว่าข้อจำกัดสิทธิของเจ้าหนี้รายใดจำเป็นต่อการฟื้นฟูกิจการหรือไม่ นอกจากพิจารณาถึงจำนวนหนี้ของเจ้าหนี้รายนั้นตามอุทธรณ์ของผู้ร้องแล้ว ยังต้องพิจารณาว่าการยกเลิกข้อจำกัดสิทธิให้เจ้าหนี้รายใดแล้ว ลูกหนี้ต้องถูกบังคับคดีให้ชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่เจ้าหนี้รายนั้นแตกต่างไปจากหลักการและวิธีการฟื้นฟูกิจการในการชำระหนี้ การยืดกำหนดเวลาชำระหนี้ การลดจำนวนหนี้ลง และการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ อันมีผลกระทบต่อแผนฟื้นฟูกิจการตามมาตรา 90/42 ด้วยหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้ความว่ามูลหนี้ของผู้ร้องเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ผู้ร้องจึงได้รับการคุ้มครองสิทธิด้วยการขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการตามมาตรา 90/27 อยู่แล้ว ทั้งหนี้ของผู้ร้องเกิดจากการชำระเงินซื้อบ้านพร้อมที่ดินจากการประกาศขายของลูกหนี้ แต่ไม่มีการส่งมอบหรือโอนกรรมสิทธิ์ให้ ซึ่งเป็นมูลหนี้ที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจของลูกหนี้ เชื่อได้ว่ามีเจ้าหนี้อีกหลายรายที่อยู่ในฐานะเดียวกับผู้ร้องที่ต้องจัดอยู่ในกลุ่มเจ้าหนี้เดียวกัน และตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/42 ทวิ และมาตรา 90/42 ตรี บัญญัติว่า สิทธิของเจ้าหนี้ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันต้องได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกัน การยกเลิกข้อจำกัดสิทธิให้แก่ผู้ร้องจึงก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมกัน และไม่เป็นธรรมต่อเจ้าหนี้รายอื่นในกลุ่มเดียวกัน การจำกัดสิทธิของผู้ร้องจึงยังมีความจำเป็นต่อการฟื้นฟูกิจการ ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share