แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 กับพวก ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์เข้าซ่อมแซมอาคารพิพาทครั้งแรกวันที่ 6 ธันวาคม 2549 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2550 ครั้งที่สองวันที่ 26 มีนาคม 2550 ถึงวันที่ 5 เมษายน 2550 และหลังจากเดือนเมษายน 2550 ถึงวันที่ 10 มกราคม 2551 พวกจำเลยยังคงครอบครองและยึดหน่วงอาคารพิพาทของโจทก์โดยไม่มีสิทธิ โจทก์มีรูปถ่ายความเสียหายของอาคารที่เกิดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างนั้นมาแสดง ซึ่งจากการประมวลรูปถ่ายดังกล่าว สรุปได้ว่าระหว่างเดือนเมษายน 2550 ถึงวันที่ 10 เมษายน 2551 ที่จำเลยที่ 2 กับพวกเข้ายึดถือครอบครองอาคารพิพาทโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น จำเลยที่ 2 กับพวกมีโอกาสก่อให้เกิดหรือทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินในอาคารได้ทุกเมื่อ ความเสียหายดังกล่าวเป็นการละเมิดที่สืบต่อเนื่องกันมาโดยพวกจำเลยไม่ใช้ความระมัดระวังดูแลทรัพย์สินให้ดี ไม่บำบัดปัดป้องความเสียหายที่จะเกิดขึ้นดังเช่นวิญญูชนพึงกระทำ อายุความละเมิดยังไม่เริ่มนับจนกว่าพวกของจำเลยจะเลิกยึดถือครอบครองอาคารพิพาทโดยไม่ชอบเพราะหากจำเลยกับพวกยังอยู่ในอาคารพิพาทแล้วไซร้ ก็ยังอยู่ในวิสัยที่พวกจำเลยสามารถทำละเมิดแก่ทรัพย์สินของโจทก์ได้ทุกขณะเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของโจทก์เสียหายเพิ่มมากขึ้นโดยไม่หยุดยั้ง แต่เมื่อพวกจำเลยออกไปจากอาคารพิพาทแล้ว โจทก์ย่อมเข้าไปตรวจสอบความเสียหายได้อย่างอิสระตามวิถีที่เจ้าของทรัพย์สินพึงกระทำได้ ดังนั้น เมื่อนับจากวันที่ 11 มกราคม 2551 ที่พวกจำเลยออกไปจากอาคารพิพาทถึงวันฟ้องวันที่ 4 กรกฎาคม 2551 ยังไม่เกิน 1 ปี นับแต่การกระทำละเมิด ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าชำระเงิน 21,297,001.96 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งห้าจะส่งมอบการครอบครองอาคารให้แก่โจทก์และชำระเงินแล้วเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งห้าใช้ค่าขาดประโยชน์จากการใช้อาคารพิพาทวันละ 15,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งห้าจะส่งมอบอาคารพิพาทคืนโจทก์และชำระเงินแล้วเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 5 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันรับผิดชำระเงิน 2,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งห้าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งห้าใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท ค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า ในคดีที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 กับพวกรวม 6 คน ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์เข้าซ่อมแซมอาคารพิพาทครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2549 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2550 ครั้งที่สองเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2550 ถึงวันที่ 5 เมษายน 2550 และหลังจากเดือนเมษายน 2550 จนถึงวันที่ 10 มกราคม 2551 พวกจำเลยยังคงยึดถือเข้าครอบครองและยึดหน่วงอาคารพิพาทของโจทก์โดยไม่มีสิทธิตามกฎหมาย เมื่อศาลตรวจพิจารณาดูรูปถ่าย ด้านซ้าย เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 11 มกราคม 2551 ซึ่งในรูปเปรียบเทียบด้านขวาที่โจทก์ยืนยันว่าเป็นจุดเดียวกัน ปรากฏว่า เมื่อตรวจสอบกับแผ่นซีดี ในแฟ้มชื่อ “2008” แฟ้มย่อยชื่อ “2008_รูปถ่ายล่าสุดตอนไปถ่ายวีดีโอ” แฟ้มย่อย “101MSDCF” รูปที่ DSC 00453 พบว่ารูปดังกล่าวถ่ายเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2551 ส่วนรูปถ่าย ด้านซ้าย เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 11 มกราคม 2551 ตรงกับรูปถ่าย พบว่าถ่ายเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2548 ถึงวันที่ 6 ธันวาคม 2549 มีกรอบอะลูมิเนียมปรากฏอยู่ ซึ่งในรูปเปรียบเทียบด้านขวาที่โจทก์ยืนยันว่าเป็นจุดเดียวกัน ปรากฏว่า เมื่อตรวจสอบกับแผ่นซีดี แล้ว ในแฟ้มชื่อ “2007” แฟ้มย่อยชื่อ “2007_ภาพรั้วหลังจากจำเลยหนี” แฟ้มย่อย “รั้วพัง 121207” แฟ้มย่อย “100SSCAM” รูปที่ S4025181 ปรากฏว่าไม่มีกรอบอะลูมิเนียมแล้วซึ่งพบว่ารูปดังกล่าวถ่ายเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2550 และในแฟ้มชื่อ “2008” แฟ้มย่อยชื่อ “2008_รูปถ่ายตึกหลังถูกขโมยอลูมิเนียมdate160108” รูปที่ S4025549 ปรากฏว่าไม่มีกรอบอะลูมิเนียมแล้ว พบว่ารูปดังกล่าวถ่ายเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2551 ส่วนรูปถ่าย ซึ่งถ่ายเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2549 ยังมีกรอบอะลูมิเนียมอยู่ เมื่อเปรียบเทียบกับแผ่นซีดี แล้ว ในแฟ้มชื่อ “2007” แฟ้มย่อย 2007_ภาพอาคาร” แฟ้มย่อย “ภาพไฟในตึก” รูปที่ S4024416 และ S4024418 พบว่าถ่ายเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2548 นั้นยังไม่มีกรอบอะลูมิเนียม ซึ่งน่าเป็นภาพก่อนการติดตั้งกรอบอะลูมิเนียม ส่วนรูปถ่าย รูป ข – 10 เป็นรูปผนังชั้นล่างเสียหาย เมื่อไปสำรวจความเสียหายระหว่างวันที่ 24 ถึง 30 พฤษภาคม 2551 จากการประมวลรูปภาพดังกล่าวมาข้างต้น สรุปความได้ว่า ระหว่างเดือนเมษายน 2550 ถึงวันที่ 10 มกราคม 2551 จำเลยที่ 2 กับพวกเข้ายึดถือครอบครองอาคารพิพาทของโจทก์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น จำเลยที่ 2 กับพวกมีโอกาสก่อให้เกิดหรือทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินในอาคารพิพาทโจทก์ได้ทุกขณะที่ยึดถือครอบครองอาคารพิพาทโดยมิชอบได้ตลอดเวลา เช่น กรอบอะลูมิเนียมสูญหายหรือเสียหายไปตามรูปถ่าย ข้างขวาซึ่งตรวจพบเมื่อเดือนธันวาคม 2550 และเดือนมกราคม 2551 และฝ้าเพดานเสียหายมากขึ้นตามรูปถ่าย ข้างขวาซึ่งตรวจพบเมื่อเดือนมกราคม 2551 และผนังชั้นล่างเสียหายตามรูปถ่ายซึ่งตรวจพบได้อย่างเร็วสุดเมื่อเดือนมกราคม 2551 ความเสียหายดังกล่าวเป็นการละเมิดที่สืบต่อเนื่องกันมาโดยพวกจำเลยไม่ใช้ความระมัดระวังดูแลรักษาทรัพย์สินให้ดี ไม่บำบัดปัดป้องความเสียหายที่จะเกิดขึ้นดังเช่นวิญญูชนพึงกระทำ อีกทั้งโจทก์เพิ่งทราบความเสียหายดังกล่าวในเมื่อเดือนธันวาคม 2550 หรือเดือนมกราคม 2551 อายุความละเมิดยังไม่เริ่มนับจนกว่าพวกจำเลยจะเลิกยึดถือครอบครองอาคารพิพาทของโจทก์โดยไม่ชอบเพราะหากจำเลยยังอยู่ในอาคารพิพาทแล้วไซร้ ก็ยังอยู่ในวิสัยที่พวกจำเลยสามารถทำละเมิดแก่ของทรัพย์สินของโจทก์ให้เสียหายได้ทุกขณะหรือเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของโจทก์ได้รับความเสียหายเพิ่มมากขึ้นโดยไม่หยุดยั้ง หากพวกจำเลยออกไปจากอาคารพิพาทแล้วโจทก์เจ้าของทรัพย์สินย่อมเข้าไปตรวจสอบแก้ไขความเสียหายได้อย่างอิสระตามวิถีทางดำเนินชีวิตของเจ้าของทรัพย์สินพึงกระทำได้ ดังนั้น เมื่อนับจากวันที่ 11 มกราคม 2551 ซึ่งพวกจำเลยออกไปจากอาคารพิพาทถึงวันฟ้องวันที่ 4 กรกฎาคม 2551 ยังไม่เกิน 1 ปี นับแต่การกระทำละเมิด ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น เพื่อให้การวินิจฉัยชี้ขาดตัดสินคดีมีการตรวจสอบถ่วงดุลกลั่นกรองตามลำดับชั้นศาล ศาลฎีกาเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในประเด็นอื่นที่ยังไม่ได้วินิจฉัยแล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
พิพากษายกคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาล ให้รวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่