แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
เอกสารท้ายฟ้องฉบับแรกมีข้อความว่า “โปรดมอบเงินจำนวน 15,000บาท (หนึ่งหมื่นห้าพันบาท) ให้กับนายนเรศแซ่ทวย ผู้ถือบัตรนี้มาด้วยครับ” และอีกฉบับหนึ่งมีข้อความว่า “ได้รับเงินจากพี่เล็ก15,000 บาท” ดังนี้ ข้อความในเอกสารทั้งสองฉบับไม่อาจแปลได้ว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์หรือเป็นหนี้โจทก์ จึงไม่ใช่หลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้เงินกู้ตามสำเนาหลักฐานการกู้ยืมและรับเงินเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 และ 2 แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย จำเลยให้การปฏิเสธว่าไม่เคยกู้เงินและรับเงินจากโจทก์เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 และ 2 ไม่ใช่หลักฐานแห่งการกู้ยืม แต่โจทก์เป็นหนี้จำเลย จึงมอบหมายให้พนักงานของจำเลยไปเรียกเก็บเงินจากโจทก์ ศาลชั้นต้นงดสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ในปัญหาที่ว่าเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1และ 2 เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 653 วรรคหนึ่ง หรือไม่นั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 มีข้อความว่า “โปรดมอบเงินจำนวน 15,000 บาท(หนึ่งหมื่นห้าพันบาท) ให้กับนายนเรศ แซ่ทวย ผู้ถือบัตรนี้มาด้วยครับ” ส่วนเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 มีข้อความว่า “ได้รับเงินจากพี่เล็ก 15,000 บาท” แม้หากจำเลยจะเป็นผู้ลงชื่อในเอกสารทั้งสองฉบับดังกล่าวก็ตาม ข้อความในเอกสารทั้งสองฉบับก็ไม่อาจแปลได้ว่า จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ หรือเป็นหนี้โจทก์แต่ประการใด ในทางตรงกันข้ามเมื่อพิจารณาเอกสารทั้งสองฉบับนี้ประกอบกันแล้วจะเห็นได้ว่า เอกสารทั้งสองฉบับนี้มีลักษณะทำนองว่าผู้เขียนทวงหนี้จนได้รับชำระหนี้ ดังนั้นเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 และ 2 จึงไม่ใช่หลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา653 วรรคหนึ่ง โจทก์จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น