แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ระเบียบธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ พ 42/2547 เรื่อง การออกจากงานโดยความเห็นชอบร่วมกัน พ.ศ.2547 – 2550 คือข้อกำหนดส่วนหนึ่งในหลักเกณฑ์การเกษียณอายุงาน อันเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์การเกษียณอายุงานเพิ่มเติมจากที่กำหนดให้เกษียณเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ เป็นเกษียณอายุเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ หรือเกษียณอายุงานก่อนอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ได้ เมื่อโจทก์ใช้สิทธิตามระเบียบนี้ ย่อมถือได้ว่าเป็นการเกษียณอายุโดยการออกจากงานเมื่อสิ้นกำหนดเวลาการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน โจทก์มีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ และเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเกินกว่า 5 ปี เงินได้ที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพย่อมได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
โจทก์ฟ้องขอคืนเงินค่าภาษีอากรที่ถูกหัก ณ ที่จ่าย เป็นเงิน 1,649,849.07 บาท แต่โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยคืนเงินค่าภาษีอากรส่วนที่โจทก์ต้องชำระเพิ่มขึ้นตามอัตราภาษีที่สูงขึ้นเป็นเงิน 482,297 บาท อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลางตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคแรก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือที่ กค 0707.05/ภค/8626 ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2551 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ กค 0707 (อธ.) /13638 ลงวันที่ 1 ธันวาคม 2551 และให้จำเลยคืนเงินภาษีจำนวน 1,649,849.07 บาท ให้แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยคืนเงินค่าภาษีให้โจทก์จำนวน 1,167,551.96 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน ของต้นเงินค่าภาษีดังกล่าว นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2552) เป็นต้นไปจนถึงวันที่ลงในหนังสือแจ้งคำสั่งคืนเงิน แต่ดอกเบี้ยต้องไม่เกินต้นเงินค่าภาษีอากร ในส่วนค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42 บัญญัติถึงเงินได้ประเภทต่าง ๆ ที่มีเหตุอันสมควรได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษี โดยเงินได้ในประเภทตามมาตรา 42 (17) คือเงินได้ตามที่กำหนดยกเว้นโดยกฎกระทรวง ให้อำนาจฝ่ายบริหารกำหนดได้ตามนโยบายภาษีและเพื่อความเป็นธรรมแก่ผู้มีเงินได้ และตามข้อ 2 (36) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากรกำหนดว่า เงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ลูกจ้างได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เมื่อลูกจ้างออกจากงานเพราะเกษียณอายุ ทุพพลภาพ หรือตาย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42 (17) แสดงให้เห็นว่ารัฐประสงค์จะใช้มาตรการยกเว้นภาษีจากเงินได้ประเภทนี้เพื่อสนับสนุนระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการ สำหรับกรณีลูกจ้างออกจากงานเพราะเกษียณอายุ ทุพพลภาพ หรือตาย ข้อ 1 (1) แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 151) กำหนดว่า (1) กรณีเกษียณอายุ ลูกจ้างผู้นั้นต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ ซึ่งออกจากงานเพราะครบกำหนดหรือสิ้นกำหนดเวลาทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานที่เป็นลายลักษณ์อักษร และเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ก็แสดงให้เห็นถึงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการยกเว้นภาษีเงินได้ประเภทนี้ ที่ประสงค์ให้มีการเข้าเป็นสมาชิกกองทุนเป็นระยะยาวอันจะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการกองทุนได้ดี จึงให้ประโยชน์ในการยกเว้นภาษีแก่ผู้เป็นสมาชิกไม่น้อยกว่า 5 ปี และต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ และไม่ให้ประโยชน์ในการยกเว้นภาษีในกรณีสมาชิกลาออกจากงานหรือออกเพราะเหตุที่กระทำความผิด กรณีของโจทก์ซึ่งมีข้อบังคับธนาคารแห่งประเทศไทยว่าด้วยการพนักงาน พ.ศ.2546 กำหนดเวลาการจ้างแรงงานไว้ในข้อ 6.6 (5) ว่า พนักงานผู้มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ พ้นจากตำแหน่งในวันที่ 1 ตุลาคม หลังจากที่พนักงานผู้นั้นมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์แล้ว นั้น ต่อมามีการออกระเบียบธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ พ 42/2547 เรื่อง การออกจากงานโดยความเห็นชอบร่วมกัน พ.ศ. 2547 – 2550 โดยมีหลักการสำคัญตามระเบียบนี้ ข้อ 4 ให้สิทธิพนักงานแสดงความจำนงขอออกจากงานได้แต่ต้องได้รับการพิจารณาอนุญาตให้ออกจากงานได้จากธนาคารแห่งประเทศไทยด้วย และยังมีการให้เงินเพิ่มพิเศษและสิทธิประโยชน์แก่ผู้ออกจากงานตามระเบียบนี้ด้วย ประกอบกับในข้อ 2 ของระเบียบนี้ก็ระบุถึงเหตุผลและความจำเป็นว่าเพื่อเป็นทางเลือกแก่พนักงานในการทำงานภายใต้องค์กรกะทัดรัด ซึ่งย่อมเห็นได้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยใช้ระเบียบนี้เพื่อจูงใจพนักงานให้ขอออกจากงาน เนื่องจากต้องการลดกำลังคนขององค์กรให้มีขนาดเหมาะสม และลดค่าใช้จ่ายจากการมีพนักงานมากเกินความจำเป็น ซึ่งแตกต่างจากกรณีการลาออกของพนักงานตามปกติธรรมดา ที่เกิดจากความต้องการของพนักงานฝ่ายเดียว และธนาคารแห่งประเทศไทยก็ไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่มพิเศษหรือให้สิทธิประโยชน์อื่นใดนอกเหนือจากสิทธิของลูกจ้างที่จะได้รับเพราะการลาออกตามปกติโดยสิ้นเชิง จึงถือว่าการออกจากงานตามเงื่อนไขแห่งระเบียบธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ พ 42/2547 ดังกล่าว ไม่ใช่การลาออกจากงานตามปกติดังที่จำเลยอุทธรณ์ ตรงกันข้ามการออกจากงานตามระเบียบนี้กลับมีลักษณะที่เกิดจากความประสงค์ของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งก็เป็นทำนองเดียวกันกับการที่ธนาคารมีข้อบังคับให้พนักงานที่อายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ต้องเกษียณอายุออกจากงาน อันถือได้ว่าเป็นความประสงค์ของธนาคารที่จะให้พนักงานออกจากงานเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของธนาคาร ดังนั้น ตามเนื้อหาแห่งระเบียบฉบับที่ พ 42/2547 นี้ อาจกล่าวได้ว่าระเบียบฉบับนี้ก็คือระเบียบที่กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขให้พนักงานเกษียณอายุออกจากงานก่อนอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ได้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในระเบียบนี้นั่นเอง เพียงแต่ธนาคารแห่งประเทศไทยยังต้องการหลักเกณฑ์ที่ยืดหยุ่นให้เหมาะสมกับเหตุผลและความจำเป็นในขณะนั้น โดยยังต้องการคงหลักการให้พนักงานทำงานได้จนถึงอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ตามข้อบังคับเดิมด้วย ขณะเดียวกันก็ต้องการให้พนักงานบางส่วนที่พอจะลดอัตรากำลังลงได้ได้เกษียณอายุก่อนอายุครบ 60 ปี แต่พนักงานบางส่วนที่ยังจำเป็นต้องให้อยู่ทำหน้าที่ต่อไปหรือยังไม่มีผู้ทำหน้าที่ทดแทนได้ ก็อยู่ในดุลพินิจของธนาคารที่จะไม่อนุญาตให้ออกจากงานก่อนกำหนดได้ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์และประสิทธิภาพการทำงานของธนาคารแห่งประเทศไทย จึงย่อมเห็นได้ว่าหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดตามระเบียบฉบับที่ พ 42/2547 ที่ให้พนักงานออกจากงานก่อนอายุ 60 ปีบริบูรณ์ โดยความเห็นชอบร่วมกันนี้ก็คือข้อกำหนดส่วนหนึ่งในหลักเกณฑ์การเกษียณอายุงาน อันเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์การเกษียณอายุงานเพิ่มเติมจากที่กำหนดให้เกษียณเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ เป็นให้เกษียณอายุเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ หรือเกษียณอายุงานก่อนอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ได้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งระเบียบนี้ ดังนั้น การที่โจทก์ใช้สิทธิตามระเบียบนี้ในการออกจากงาน ก็ย่อมถือได้ว่าเป็นการเกษียณอายุโดยการออกจากงานเมื่อสิ้นกำหนดเวลาการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานที่กำหนดไว้ให้เป็นไปภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งระเบียบ ฉบับที่ พ 42/2547 ที่เป็นลายลักษณ์อักษร นอกจากนี้ขณะออกจากงานโจทก์ก็มีอายุ 57 ปีเศษ อันเป็นกรณีที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ ทั้งโจทก์ก็เข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งแต่ปี 2539 นับถึงปี 2550 ที่ออกจากงานเป็นเวลาเกินกว่า 5 ปีแล้ว จึงต้องด้วยหลักเกณฑ์ที่มีผลให้เงินได้ที่โจทก์ได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพย่อมได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42 (17) ประกอบด้วยกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ข้อ 2 (36) และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 151) ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
โจทก์ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรและฟ้องเรียกเงินค่าภาษีอากรจำนวน 1,649,849.07 บาท โดยอ้างเหตุแต่เพียงว่า เงินได้ที่โจทก์ได้รับจำนวน 12,296,994.97 บาท ซึ่งถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 1,649,849.07 บาท นั้นได้รับยกเว้นภาษี ส่วนปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้อ้างมาในคำฟ้อง จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคแรก
พิพากษายืน และยกอุทธรณ์ของโจทก์ คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกจากนี้ให้เป็นพับ