คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4818/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้โจทก์ทั้งสิบฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้น และศาลชั้นต้นรับฟ้องของโจทก์ทั้งสิบไว้พิจารณา แต่เมื่อต่อมามีคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลว่าเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของพระราชกฤษฎีกา หรือกฎที่ออกโดยคณะรัฐมนตรี หรือโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด กรณีนี้ตามมาตรา 10 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2542 บัญญัติความว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการที่เกี่ยวกับเขตอำนาจศาลให้เป็นที่สุด และตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว บัญญัติความว่า ถ้าคณะกรรมการได้วินิจฉัยชี้ขาดว่าคดีอยู่ในอำนาจของอีกศาลหนึ่ง ให้ศาลที่รับฟ้องสั่งโอนคดีหรือสั่งจำหน่ายคดีเพื่อให้คู่ความไปฟ้องศาลที่มีเขตอำนาจ ดังนี้ เมื่อมีคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลดังกล่าวแล้ว คดีนี้จึงดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปในศาลชั้นต้นได้เฉพาะการโอนคดีหรือการจำหน่ายคดีตามมาตรา 11 ดังกล่าวเท่านั้น โจทก์ทั้งสิบจึงไม่อาจยื่นคำแถลงคัดค้านคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ 44/2560 และไม่อาจยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องต่อศาลชั้นต้น ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องทั้งสองฉบับอันเป็นการไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัย จึงชอบแล้ว และกรณีเช่นนี้ โจทก์ทั้งสิบไม่มีสิทธิอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งยกคำร้องของโจทก์ทั้งสิบ ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสิบจึงไม่ชอบ และศาลอุทธรณ์ภาค 5 ต้องพิพากษายกอุทธรณ์เสีย และโจทก์ที่ 6 ถึงที่ 10 ไม่มีสิทธิฎีกาต่อมาอีกด้วย ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ทั้งสิบฟ้องว่า โจทก์ทั้งสิบและประชาชนอีกประมาณ 1,000 คน ซึ่งมีที่ดินทำกินและบ้านเรือนตั้งอยู่ที่หมู่บ้านแม่เหียะ หมู่ที่ 3 ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ โดยการครอบครองต่อเนื่องมาจากบุคคลอื่นก่อนปี 2492 ต่อมาปี 2492 จำเลยที่ 4 มีพระราชกฤษฎีกาประกาศเขตหวงห้ามในเขตท้องที่หลายตำบลรวมทั้งตำบลแม่เหียะทับที่ดินของประชาชนและโจทก์ทั้งสิบ ครั้นปี 2507 จำเลยที่ 4 ออกประกาศให้ที่ดินดังกล่าวเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ต่อมาปี 2518 จำเลยที่ 8 ประกาศให้เป็นพื้นที่ราชพัสดุ ปี 2524 จำเลยที่ 5 ประกาศให้พื้นที่ตำบลแม่เหียะและเขตตำบลในอำเภอเมืองเชียงใหม่เป็นอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ – ปุย ให้จำเลยที่ 6 เป็นผู้บริหารมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้อำนวยการ จำเลยที่ 3 เป็นหัวหน้าอุทยาน ทำให้โจทก์ทั้งสิบและประชาชนได้รับความเดือนร้อน เนื่องจากพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมีแนวเขตไม่ชัดเจน และไม่ดำเนินการพิสูจน์สิทธิก่อนจะประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ ประกาศเป็นที่ราชพัสดุประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ – ปุย ต่อมาจำเลยที่ 6 และที่ 7 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ปิดประกาศให้โจทก์ทั้งสิบและชาวบ้านรื้อถอนบ้านเรือนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดิน เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสิบได้รับความเสียหายไม่สามารถออกเอกสารสิทธิทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าว และเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสิบ ขอให้บังคับจำเลยทั้งแปดร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 350,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสิบเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น ให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 5 ออกโฉนดที่ดินเลขที่ 23 ถึง 27, 41, 42, 59, 115 ถึง 117, 137, 141 และ 174 ถึง 176 ในที่ดินหมู่ที่ 3 ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ให้จำเลยที่ 4 ที่ 5 และที่ 8 เพิกถอนพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตต์หวงห้ามที่ดินในท้องที่ตำบลโป่งแยง ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม ตำบลช้างเผือก ตำบลสุเทพ และตำบลแม่เหียะ อำเภอเมืองเชียงใหม่ และตำบลหนองควาย ตำบลบ้านปง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ.2492 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 และพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ.2518 เฉพาะส่วนที่เป็นของโจทก์ทั้งสิบหรือกันเขตพื้นที่ที่ดินที่ขอให้ออกโฉนดที่ดินดังกล่าวออกจากพื้นที่ประกาศของจำเลยทั้งแปด ให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 6 และที่ 7 เพิกถอนพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 เฉพาะส่วนที่เป็นของโจทก์ทั้งสิบ หรือกันเขตที่ดินที่ขอให้ออกโฉนดที่ดินออกจากพื้นที่ประกาศของจำเลยทั้งแปด กับให้รื้อถอนหลักเขตหวงห้ามที่กั้นออกไปจากที่ดินของโจทก์ทั้งสิบและห้ามจำเลยทั้งแปดเข้ากระทำการอันใดหรือมีคำสั่งใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองที่ดินหรือยุ่งเกี่ยวกับที่ดินของโจทก์ทั้งสิบ
จำเลยทั้งแปดให้การและแก้ไขคำให้การพร้อมยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลขอให้โอนคดีไปยังศาลปกครองเชียงใหม่
ศาลชั้นต้นและศาลปกครองเชียงใหม่มีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาล ศาลชั้นต้นโดยสำนักงานศาลยุติธรรมจึงส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2542 มาตรา 10 วรรคหนึ่ง (3) คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาแล้วมีคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ 44/2560 ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2560 ว่า เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของพระราชกฤษฎีกา หรือกฎที่ออกโดยคณะรัฐมนตรี หรือโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ตามมาตรา 11 (2) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ส่วนคำขอข้ออื่นของโจทก์ทั้งสิบล้วนเป็นคำขออันเป็นผลต่อเนื่องจากการวินิจฉัยความชอบด้วยกฎหมายของพระราชกฤษฎีกาและกฎกระทรวงดังกล่าว คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
โจทก์ทั้งสิบยื่นคำแถลงคัดค้านคำวินิจฉัยฉบับลงวันที่ 13 กันยายน 2560 ขอให้เพิกถอนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลมีคำวินิจฉัยใหม่ และยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องฉบับที่ 21 กันยายน 2560
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง แล้วมีคำสั่งโอนคดีไปศาลปกครองเชียงใหม่และสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
โจทก์ทั้งสิบอุทธรณ์คำสั่ง
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีคำสั่งอนุญาต จำหน่ายคดีเฉพาะโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 ออกจากสารบบความ
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ที่ 6 ถึงที่ 10 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ที่ 6 ถึงที่ 10 ว่า ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของโจทก์ที่ 6 ถึงที่ 10 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และโจทก์ที่ 6 ถึงที่ 10 อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวได้หรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์ทั้งสิบฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้น และศาลชั้นต้นรับฟ้องของโจทก์ทั้งสิบไว้พิจารณา แต่เมื่อต่อมามีคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลว่าเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของพระราชกฤษฎีกา หรือกฎที่ออกโดยคณะรัฐมนตรี หรือโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด กรณีนี้ตามมาตรา 10 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2542 บัญญัติความว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการที่เกี่ยวกับเขตอำนาจศาลให้เป็นที่สุด และตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว บัญญัติความว่า ถ้าคณะกรรมการได้วินิจฉัยชี้ขาดว่าคดีอยู่ในอำนาจของอีกศาลหนึ่ง ให้ศาลที่รับฟ้องสั่งโอนคดีหรือสั่งจำหน่ายคดีเพื่อให้คู่ความไปฟ้องศาลที่มีเขตอำนาจ ดังนี้ เมื่อมีคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลดังกล่าวแล้ว คดีนี้จึงดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปในศาลชั้นต้นได้เฉพาะการโอนคดีหรือการจำหน่ายคดีตามมาตรา 11 ดังกล่าวเท่านั้น โจทก์ทั้งสิบจึงไม่อาจยื่นคำแถลงคัดค้านคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ 44/2560 และไม่อาจยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องต่อศาลชั้นต้น ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องทั้งสองฉบับอันเป็นการไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัย จึงชอบแล้ว และกรณีเช่นนี้โจทก์ทั้งสิบไม่มีสิทธิอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งยกคำร้องของโจทก์ทั้งสิบ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสิบจึงไม่ชอบ และศาลอุทธรณ์ภาค 5 จะต้องพิพากษายกอุทธรณ์เสีย และโจทก์ที่ 6 ถึงที่ 10 ไม่มีสิทธิฎีกาต่อมาอีกด้วย ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้รับอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสิบ ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 และยกฎีกาของโจทก์ที่ 6 ถึงที่ 10 คืนค่าขึ้นศาลทั้งหมดในชั้นอุทธรณ์แก่โจทก์ทั้งสิบ และคืนค่าขึ้นศาลทั้งหมดในชั้นฎีกาแก่โจทก์ที่ 6 ถึงที่ 10 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ

Share