คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3079/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 มีอายุความสิบห้าปี ความผิดฐานสนับสนุนการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 และความผิดตาม ป.อ. มาตรา 177 วรรคแรก มีอายุความสิบปี โจทก์จึงต้องฟ้องและได้ตัวจำเลยผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในกำหนดอายุความดังกล่าว นับตั้งแต่วันกระทำผิด มิฉะนั้นคดีโจทก์ย่อมขาดอายุความ
โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ร่วมกันกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 จำเลยที่ 6 ถึงที่ 8 กระทำความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ในการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 ระหว่างวันที่ 28 สิงหาคม 2541 ถึงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2541 โจทก์ต้องฟ้องและได้ตัวจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 มาศาลอย่างช้าที่สุดภายในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2556 กับฟ้องและได้ตัวจำเลยที่ 6 ถึงที่ 8 มาศาลอย่างช้าภายในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2551 ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 177 วรรคแรก โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 6 ที่ 8 ที่ 11 และที่ 12 ว่ากระทำความผิดในวันที่ 21 มิถุนายน 2549 จำเลยที่ 7 และที่ 10 กระทำความผิดในวันที่ 22 มิถุนายน 2549 จำเลยที่ 1 กระทำความผิดในวันที่ 28 กรกฎาคม 2549 โจทก์ต้องฟ้องและได้ตัวจำเลยที่ 6 ที่ 8 ที่ 11 และที่ 12 มาศาลภายในวันที่ 21 มิถุนายน 2559 ฟ้องและได้ตัวจำเลยที่ 7 และที่ 10 มาศาลภายในวันที่ 22 มิถุนายน 2559 กับฟ้องและได้ตัวจำเลยที่ 1 มาศาลภายในวันที่ 28 กรกฎาคม 2559 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2550 ซึ่งแม้จะยังอยู่ภายในกำหนดอายุความสิบห้าปีและสิบปีก็ตาม แต่เมื่อคดีโจทก์ยังอยู่ระหว่างการไต่สวนมูลฟ้อง กรณีจึงไม่อาจถือว่าได้ตัวจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 และที่ 10 ถึงที่ 12 มาอยู่ในอำนาจของศาลแล้ว เนื่องจากตราบใดที่ศาลยังไม่ประทับฟ้อง ป.วิ.อ. มาตรา 165 วรรคสาม มิให้ถือว่าจำเลยอยู่ในฐานะเช่นนั้น อันเป็นเหตุให้อายุความไม่หยุดนับ เมื่อปรากฏว่าศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องคดีนี้เสร็จสิ้นในวันที่ 13 มีนาคม 2560 จึงเป็นระยะเวลาที่ล่วงเลยอายุความสิบห้าปีและสิบปีแล้ว คดีโจทก์สำหรับจำเลยแต่ละคนจึงขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสิบสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 91, 157, 177
ก่อนไต่สวนมูลฟ้อง โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 9 ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ข้อแรกว่า คดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 สำหรับจำเลยที่ 6 ถึงที่ 8 ฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และสำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 6 ถึงที่ 8 และที่ 10 ถึงที่ 12 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 วรรคแรก ขาดอายุความตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 4 หรือไม่ เห็นว่า ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เฉพาะโทษจำคุก มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี ส่วนผู้สนับสนุนผู้กระทำความผิดดังกล่าวมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 8 เดือน ถึง 6 ปี 8 เดือน และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 วรรคแรก เฉพาะโทษจำคุก มีระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี ซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 บัญญัติว่า “ในคดีอาญา ถ้ามิได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในกำหนดดังต่อไปนี้ นับแต่วันกระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ (1)… (2) สิบห้าปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าเจ็ดปีแต่ยังไม่ถึงยี่สิบปี (3) สิบปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าหนึ่งปีถึงเจ็ดปี…” ฉะนั้น ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จึงมีอายุความสิบห้าปี ความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดดังกล่าว และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 วรรคแรก มีอายุความสิบปี โจทก์จึงต้องฟ้องและได้ตัวจำเลยผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในกำหนดอายุความดังกล่าว นับแต่วันกระทำความผิด มิฉะนั้นคดีโจทก์ย่อมขาดอายุความ คดีนี้ เมื่อโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ร่วมกันกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ส่วนจำเลยที่ 6 ถึงที่ 8 กระทำความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ในการกระทำความผิดข้างต้นในระหว่างวันที่ 28 สิงหาคม 2541 ถึงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2541 โจทก์จึงต้องฟ้องและได้ตัวจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 มายังศาลอย่างช้าที่สุดภายในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2556 กับฟ้องและได้ตัวจำเลยที่ 6 ถึงที่ 8 มายังศาลอย่างช้าภายในวันเวลา 18 พฤศจิกายน 2551 ส่วนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 วรรคแรก ซึ่งโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 6 ที่ 8 ที่ 11 และที่ 12 ว่ากระทำความผิดในวันที่ 21 มิถุนายน 2549 จำเลยที่ 7 และที่ 10 กระทำความผิดในวันที่ 22 มิถุนายน 2549 และจำเลยที่ 1 กระทำความผิดในวันที่ 28 กรกฎาคม 2549 โจทก์ก็ต้องฟ้องและได้ตัวจำเลยที่ 6 ที่ 8 ที่ 11 และที่ 12 มายังศาลภายในวันที่ 21 มิถุนายน 2559 ฟ้องและได้ตัวจำเลยที่ 7 และที่ 10 มายังศาลภายในวันที่ 22 มิถุนายน 2559 กับฟ้องและได้ตัวจำเลยที่ 1 มายังศาลภายในวันที่ 28 กรกฎาคม 2559 คดีโจทก์จึงจะไม่ขาดอายุความ ได้ความว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2550 ซึ่งแม้จะยังอยู่ภายในกำหนดอายุความสิบห้าปีและสิบปีข้างต้นก็ตาม แต่เมื่อคดีโจทก์ยังอยู่ระหว่างการไต่สวนมูลฟ้อง กรณีจึงไม่อาจถือว่าได้ตัวจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 และที่ 10 ถึงที่ 12 มายังศาลโดยจำเลยเหล่านี้อยู่ในอำนาจของศาลแล้ว เนื่องจากตราบใดที่ศาลยังไม่ประทับฟ้อง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 165 วรรคสาม มิให้ถือว่าจำเลยอยู่ในฐานะเช่นนั้น อันเป็นเหตุให้อายุความยังไม่หยุดนับ เมื่อปรากฏว่าในวันที่ 13 มีนาคม 2560 อันเป็นวันที่ศาลชั้นต้นเสร็จสิ้นการไต่สวนมูลฟ้องระยะเวลาได้ล่วงเลยสิบห้าปีและสิบปีสำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 วรรคแรก คดีโจทก์สำหรับจำเลยแต่ละคนที่เกี่ยวกับความผิดข้างต้นจึงขาดอายุความ ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ขอให้นายอำเภอเมืองอุดรธานีตรวจสอบการออกโฉนดที่ดินโดยมิชอบซึ่งนายอำเภอเมืองอุดรธานีได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงขึ้น คณะกรรมการดังกล่าวรายงานผลการตรวจสอบให้นายอำเภอเมืองอุดรธานีทราบเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2546 ว่ามีการออกโฉนดที่ดินทับทางสาธารณประโยชน์และรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์โดยมิชอบด้วยกฎหมายจริง จึงต้องถือเอาวันดังกล่าวเป็นวันกระทำความผิดซึ่งเป็นวันเริ่มต้นของการนับอายุความ โดยก่อนหน้าที่ยังไม่มีการตรวจสอบ ต้องถือว่าการรังวัดเพื่อออกโฉนดดังกล่าวยังคงถูกต้องตามกฎหมายอยู่นั้น เห็นว่า วันกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 หมายถึงวันที่ผู้กระทำความผิดลงมือกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งอันกฎหมายบัญญัติไว้ว่าเป็นความผิด อันเป็นการแสดงออกให้ปรากฏเจตนาที่อยู่ภายในใจด้วยการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งออกมาภายนอก ซึ่งในขณะที่กระทำนั้นก็ถือเป็นความผิดทันที ไม่จำต้องรอให้มีผู้ใดพบเห็นหรือตรวจพบการกระทำความผิดนั้นก่อน เมื่อความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มีมูลมาจากการกล่าวหาของโจทก์ว่ามีการดำเนินการรังวัดและออกโฉนดที่ดินโดยไม่ถูกต้อง การกระทำที่แสดงออกมาภายนอกก็ด้วยการรังวัดและกระบวนการออกโฉนดที่ดินที่เกิดขึ้นนั้นเอง ซึ่งหากเป็นไปโดยทุจริตหรือโดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ความผิดย่อมเกิดขึ้นในทันทีที่มีการกระทำนั้น กล่าวคือในระหว่างวันที่ 28 สิงหาคม 2541 ถึงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2541 ตามที่โจทก์ฟ้องกล่าวหา หาใช่เป็นวันที่นายอำเภอเมืองอุดรธานีได้รับรายงานจากคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง หรือแม้แต่ในวันที่ศาลในคดีแพ่งซึ่งโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 6 ในมูลกรณีออกโฉนดที่ดินทับทางสาธารณประโยชน์และรุกล้ำที่ดินของโจทก์มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้เพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกโดยมิชอบดังกล่าวดังข้อที่โจทก์อ้างในฎีกาไม่ ส่วนที่โจทก์ฎีกาโต้แย้งว่าศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจจำหน่ายคดีโจทก์ออกจากสารบบความเป็นการชั่วคราวโดยให้รอฟังผลในคดีแพ่งซึ่งโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 6 ในมูลกรณีออกโฉนดที่ดินทับทางสาธารณประโยชน์และรุกล้ำที่ดินของโจทก์ จึงถือเป็นเหตุสุดวิสัยที่โจทก์ไม่อาจดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ต่อได้ การที่ยังนับอายุความต่อไปในช่วงระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นจำหน่ายคดีจึงไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ กรณีจึงต้องถือว่าอายุความสะดุดหยุดลง หรือมิฉะนั้นชอบที่ศาลจะขยายระยะเวลาให้แก่โจทก์นั้น เห็นว่า ในคดีอาญา ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 บัญญัติเงื่อนไขการนับอายุความไว้เป็นการเฉพาะแล้วซึ่งมิใช่แค่เพียงเรื่องกำหนดระยะเวลาเท่านั้น หากประกอบด้วยเรื่องการได้ตัวจำเลยหรือผู้กระทำความผิดมาอยู่ในอำนาจศาลด้วย กรณีจึงไม่อาจนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยอายุความสะดุดหยุดลงซึ่งมีเงื่อนไขเพิ่มเติมที่ทำให้อายุความหยุดนับในทางแพ่งมาใช้กับการนับอายุความในคดีอาญาซึ่งมิได้บัญญัติเงื่อนไขในลักษณะเดียวกันนั้นไว้ได้ และเมื่อกำหนดระยะเวลาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 เป็นอายุความ ซึ่งมิใช่ระยะเวลาที่เกี่ยวด้วยวิธีพิจารณาความอันกำหนดไว้ในกฎหมายเพื่อให้ดำเนินหรือมิให้ดำเนินกระบวนวิธีพิจารณาใด ๆ ก่อนสิ้นระยะเวลานั้น อันศาลจะใช้อำนาจขยายหรือย่นระยะเวลาเช่นนั้นเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษหรือมีเหตุสุดวิสัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ดังที่โจทก์อ้างในฎีกา การที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจสั่งจำหน่ายคดีโจทก์ออกจากสารบบความเป็นการชั่วคราวเพื่อรอฟังผลคดีแพ่งอันถึงที่สุดก่อนนั้น แม้เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาที่ไม่ทำให้คดีเสร็จสำนวนซึ่งโจทก์ไม่อาจใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งทันทีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 196 ก็ตาม โจทก์ย่อมตระหนักได้ว่าคดีของตนอยู่ในระหว่างการไต่สวนมูลฟ้อง ยังมิได้ตัวจำเลยมาอยู่ในอำนาจศาล อายุความจึงไม่หยุดนับ จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องหมั่นตรวจสอบและคอยระมัดระวังมิให้คดีของตนขาดอายุความด้วย หากเมื่อใดโจทก์เห็นว่าคำสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราวของศาลชั้นต้นอาจส่งผลให้คดีของโจทก์ขาดอายุความ ก็ชอบที่โจทก์จักต้องขวนขวายแถลงเหตุผลความจำเป็นต่อศาลเสียโดยเร็วเพื่อให้ศาลมีคำสั่งยกคดีโจทก์ขึ้นไต่สวนมูลฟ้องและมีคำสั่งต่อไปซึ่งยังจะต้องคาดหมายถึงระยะเวลาหากมีการอุทธรณ์และฎีกาคำสั่งศาลชั้นต้นซึ่งจะต้องอยู่ภายในอายุความคดีอาญาที่โจทก์ฟ้องด้วย โจทก์จะผลักภาระให้เป็นหน้าที่ของศาลที่ต้องคอยตรวจสอบเรื่องดังกล่าวทั้งที่เป็นข้อส่วนได้ส่วนเสียของโจทก์เอง แล้วกล่าวหาว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการที่อายุความไม่หยุดนับ ทั้งที่สาเหตุอันแท้จริงเกิดจากการไม่นำพาป้องกันและรักษาสิทธิของตนหาได้ไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ที่ 10 ถึงที่ 12 ในข้อหาความผิดข้างต้นโดยอาศัยเหตุว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
สำหรับจำเลยที่ 10 ซึ่งโจทก์ยังฟ้องกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 อีกกรรมหนึ่ง จากการรังวัดสอบเขตตามคำขอของโจทก์เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2545 แล้วไม่รายงานอธิบดีกรมที่ดินทราบตามหน้าที่เรื่องการออกโฉนดที่ดินให้แก่จำเลยที่ 6 ทับทางสาธารณประโยชน์และรุกล้ำที่ดินของโจทก์บางส่วน ครั้นเมื่อโจทก์มีหนังสือฉบับวันที่ 7 พฤศจิกายน 2545 ขอให้ดำเนินการรายงานเรื่องดังกล่าว จำเลยที่ 10 ยังคงเพิกเฉยนั้น เห็นว่า อายุความสำหรับความผิดที่โจทก์ฟ้องกล่าวหาจำเลยที่ 10 ดังกล่าวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (2) กำหนดไว้สิบห้าปีเช่นกัน ซึ่งจะครบกำหนดอย่างช้าที่สุดในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2560 ได้ความว่าโจทก์ยื่นฎีกาเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2561 ล่วงพ้นระยะเวลาสิบห้าปีแล้ว คดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 10 ในความผิดข้อหานี้จึงขาดอายุความด้วย ศาลฎีกาชอบที่จะยกฟ้องโจทก์เสียได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง โดยไม่จำต้องวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยที่ 10 มีมูลความผิดตามฟ้องหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ยกฟ้องจำเลยที่ 10 ในความผิดกรรมนี้มาด้วยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share