แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 198 วรรคสองบัญญัติให้เป็นหน้าที่ศาลชั้นต้นตรวจอุทธรณ์ว่าควรจะรับส่งขึ้นไปยังศาลอุทธรณ์หรือไม่ ถ้าเห็นว่าไม่ควรรับให้จดเหตุผลไว้ในคำสั่งของศาลนั้นโดยชัดเจน และมาตรา 158บัญญัติให้ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือและมี (7) ลายมือชื่อโจทก์ผู้เรียง ผู้เขียนหรือพิมพ์ฟ้อง เมื่อปรากฏว่าคำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยมี ค.ทนายจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อเป็นผู้อุทธรณ์และผู้เรียงพิมพ์ โดยที่ค.มิได้ยื่นใบแต่งทนายความไว้ต่อศาล แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยไว้โดยมิได้มีคำสั่งให้จำเลยยื่นใบแต่งทนายความเข้ามาในคดีให้ถูกต้องเสียก่อน จึงต้องถือว่าศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกระบวนพิจารณาและกรณีเช่นว่านี้ ศาลอุทธรณ์จะถือว่าจำเลยมิได้ลงชื่อเป็นผู้อุทธรณ์ และจะถือว่าคำฟ้องอุทธรณ์ที่ค.ยื่นต่อศาลเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบ และไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยหาได้ไม่ เมื่อคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกา ศาลฎีกาย่อม มีอำนาจสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินการตามที่กล่าว ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 208(2) ประกอบมาตรา 225 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพราะยังมิได้ล่วงเลยเวลาที่ควรปฏิบัติ แต่เมื่อปรากฏว่าจำเลยได้ตั้งแต่งให้ค.เป็นทนายความของตนโดยให้มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาได้ในชั้นฎีกานี้แล้วศาลฎีกาจึงไม่จำต้องดำเนินการในเรื่องนี้อีก และศาลฎีกาให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาคดีนี้ใหม่เพื่อเป็นไปตามลำดับชั้นศาล
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 32, 91 ริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 วรรคหนึ่ง,8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปีฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะ โดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 1 ปี 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก 9 เดือน ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า กรณีมีเหตุอันสมควรให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิจารณาพิพากษาคดีนี้ใหม่หรือไม่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า ตามคำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยมีนายคณิต มิตรกูล ทนายความลงชื่อเป็นผู้อุทธรณ์ แต่ไม่ปรากฏในสำนวนว่าจำเลยได้แต่งตั้งบุคคลผู้นี้เป็นทนายจำเลยไว้ทั้งนายคณิตมิได้ทำหน้าที่เป็นทนายจำเลยมาก่อนที่จะยื่นอุทธรณ์แม้นายคณิตจะยื่นอุทธรณ์โดยระบุชื่อจำเลยในหน้าแรกของคำฟ้องอุทธรณ์ว่าเป็นผู้ขอยื่นอุทธรณ์ โดยจำเลยมิได้ลงชื่อเป็นผู้อุทธรณ์ ก็ถือไม่ได้ว่าคำฟ้องอุทธรณ์ที่นายคณิตยื่นต่อศาลเป็นอุทธรณ์ของจำเลย คำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นคำฟ้องอุทธรณ์ที่ไม่ชอบศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงไม่วินิจฉัยให้พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลย นั้น เห็นว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 198 วรรคสองบัญญัติว่าให้เป็นหน้าที่ศาลชั้นต้นตรวจอุทธรณ์ว่าควรจะรับส่งขึ้นไปยังศาลอุทธรณ์หรือไม่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ถ้าเห็นว่าไม่ควรรับให้จดเหตุผลไว้ในคำสั่งของศาลนั้นโดยชัดเจน และมาตรา 158 บัญญัติว่า ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือและมี (7) ลายมือชื่อโจทก์ ผู้เรียง ผู้เขียนหรือพิมพ์ฟ้องเมื่อปรากฏว่าคำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยมีนายคณิต มิตรกูล ทนายจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อเป็นผู้อุทธรณ์และผู้เรียงพิมพ์ โดยที่นายคณิต มิตรกูล มิได้ยื่นใบแบ่งทนายความไว้ด้วย แต่ศาลชั้นต้นก็มีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลย โดยมิได้มีคำสั่งให้จำเลยยื่นใบแต่งทนายความเข้ามาในคดีให้ถูกต้องเสียก่อน ทั้งที่เป็นหน้าที่ของศาลชั้นต้นต้องตรวจอุทธรณ์ตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้นกรณีเช่นนี้ต้องถือว่าศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกระบวนพิจารณาศาลฎีกามีอำนาจสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินการตามที่กล่าวดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 208(2) ประกอบมาตรา 225 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพราะยังมิได้ล่วงเลยเวลาที่ควรปฏิบัติอย่างใด แต่อย่างไรก็ดี ปรากฏว่าจำเลยได้ตั้งแต่งให้นายคณิต มิตรกูล เป็นทนายความของตนโดยให้มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาได้ในชั้นฎีกานี้แล้วจึงไม่จำต้องดำเนินการในเรื่องนี้อีกและเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิจารณาพิพากษาคดีนี้ใหม่เพื่อเป็นไปตามลำดับชั้นศาล
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3พิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี