คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6134/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การขอแก้ไขเลขที่โฉนดที่ดินในคำพิพากษาซึ่งเป็นเพียงการเพิ่มเติมในรายละเอียดให้ชัดเจนถูกต้องตรงความเป็นจริง แม้จะอยู่ในชั้นบังคับคดี แต่เมื่อมิได้เป็นการเปลี่ยนแปลงผลของคำพิพากษาหรือเป็นการบังคับคดีนอกเหนือไปจากคำพิพากษาก็ขอแก้ไขให้ถูกต้องได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์ 1,048,991.13 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี นับจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2540) จนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้น หากไม่ชำระหนี้ ให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 137814 ตำบลคลองถนน อำเภอบางเขน กรุงเทพมหานคร ที่จำนองขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ ถ้าได้เงินไม่พอชำระหนี้ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 ขายทอดตลาดชำระหนี้จนครบถ้วนให้จำเลยทั้งสองชำระเงินแก่โจทก์ 629,562.86 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ของต้นเงิน 417,907.19 บาท นับจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2540) จนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้น หากไม่ชำระหนี้ ให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 134368 และ 137880 ตำบลคลองถนน อำเภอบางเขน กรุงเทพมหานคร ที่จำนองขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ ถ้าได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 2 ขายทอดตลาดชำระหนี้จนครบถ้วนกับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ กำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท ต่อมาในชั้นบังคับคดี โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำพิพากษา อ้างว่าโจทก์ไม่สามารถยึดทรัพย์จำนองได้เนื่องจากเลขโฉนดที่ดินเลขที่ 137814 นั้นผิดพลาด ความจริงที่ดินดังกล่าวโฉนดเลขที่ 137818 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ศาลพิพากษาให้บังคับจำนองที่ดินตรงตามที่โจทก์บรรยายฟ้องถูกต้องแล้ว ไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 ได้นำที่ดินมาจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ ในชั้นพิจารณาจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา โจทก์สืบพยานโดยส่งสัญญาเงินกู้วายุภักษ์หนังสือสัญญาจำนองที่ดิน หนังสือสัญญาต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกัน และสำเนาโฉนดที่ดิน เอกสารหมาย จ.3 ถึง จ.6 ตามลำดับเป็นพยานหลักฐาน ซึ่งตามสารบัญจดทะเบียนของสำเนาโฉนดที่ดิน เอกสารหมาย จ.6 ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดิน และเป็นผู้จดทะเบียนจำนองที่ดินไว้กับโจทก์เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2534 ตรงกับวันที่ที่ระบุไว้ในสัญญาเงินกู้วายุภักษ์หนังสือสัญญาจำนองที่ดิน และหนังสือสัญญาต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกัน เอกสารหมาย จ.3 ถึง จ.5 ตามลำดับ โดยเลขที่ในสำเนาโฉนดที่ดิน เอกสารหมาย จ.6 เขียนด้วยหมายเลขไทย ไม่สามารถอ่านได้ชัดเจนว่าเป็นเลขที่ 137814 หรือ 137818 เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาและคดีถึงที่สุดแล้ว มีการบังคับแก่จำเลยทั้งสอง โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นแก้ไขคำพิพากษาในส่วนที่เกี่ยวกับเลขที่โฉนดที่ดินที่ต้องบังคับจำนองตามคำพิพากษา โดยขอแก้ไขจากโฉนดที่ดินเลขที่ 137814 เป็น 137818 เนื่องจากขณะทำสัญญากันนั้น เจ้าหน้าที่โจทก์พิมพ์เลขโฉนดที่ดินดังกล่าวผิดพลาด แต่ในหนังสือสัญญาจำนองที่ดิน หมาย จ.4 และหนังสือสัญญาต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกัน หมาย จ.5 ได้ระบุระวางของที่ดิน เลขที่ดิน หน้าสำรวจตรงกับในโฉนดที่ดินหมาย จ.6 และโจทก์ได้ถ่ายสำเนาเอกสารดังกล่าวแนบท้ายฟ้องด้วย ดังนี้ กรณีจึงอาจเป็นไปได้ตามฎีกาของโจทก์ว่า ที่ดินที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองในคดีนี้คือโฉนดเลขที่ 137818 เพราะได้มีการระบุระวางของที่ดิน เลขที่ดิน หน้าสำรวจในหนังสือสัญญาจำนองที่ดิน และหนังสือสัญญาต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองที่ดิน เป็นประกันตรงกับในโฉนดที่ดินเลขที่ 137818 เอกสารหมาย จ.6 ซึ่งเป็นการระบุให้ทราบว่า จำนองที่ดินแปลงใดและโจทก์ได้แนบเอกสารดังกล่าวมาท้ายฟ้อง ซึ่งถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องด้วย ศาลย่อมจะมีอำนาจบังคับจำนองแก่ที่ดินที่จำนองตามโฉนดเลขที่ที่ถูกต้องได้ โดยไม่เป็นการบังคับนอกเหนือไปจากคำพิพากษา และไม่เป็นการแก้ไขคำพิพากษาในส่วนที่เป็นสาระสำคัญอันเป็นผลทำให้คำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป เพราะการขอแก้ไขเลขที่โฉนดที่ดินดังกล่าวเป็นเพียงการเพิ่มเติมในรายละเอียดให้ชัดเจนถูกต้องตรงความเป็นจริง แม้จะอยู่ในชั้นบังคับคดี แต่เมื่อมิได้เป็นการเปลี่ยนแปลงผลของคำพิพากษา หรือเป็นการบังคับคดีนอกเหนือไปจากคำพิพากษาก็ย่อมขอแก้ไขให้ถูกต้องได้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องและศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนมานั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับให้แก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นจากข้อความเดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 137814 เป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 137818 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลในส่วนนี้ให้เป็นพับ

Share