คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1671/2517

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งให้ทำการขนส่งเดินรถยนต์โดยสารประจำทางตามพระราชบัญญัติการขนส่งพ.ศ.2497 ในเส้นทางสายที่ 1343 จากชัยภูมิ – ห้วยชันต่อมาจำเลยได้รับอนุญาตจากทางจังหวัดชัยภูมิให้เดินรถยนต์โดยสารในเส้นทางสายชัยภูมิ – หนองบัวแดง ทับเส้นทางเดินรถยนต์ประจำทางของโจทก์ตั้งแต่ตัวเมืองจังหวัดชัยภูมิถึงทางแยกหน่วยขยายพันธุ์พืชชัยภูมิ เป็นระยะทาง 6 กิโลเมตร รองอธิบดีกรมการขนส่งยืนยันว่าเส้นทางที่อนุญาตให้ผู้รับสัมปทานเดินรถยนต์ประจำทางนั้นอาจจะทับกันเป็นบางตอนหรือทับกันตลอดสายก็ได้. เส้นทางที่โจทก์จำเลยเดินรถยนต์ประจำทางทับกันบางตอนจึงเป็นทางร่วม ต่างมีสิทธิที่จะเดินทางเดียวกันได้. เมื่อทางจังหวัดตั้งกรรมการพิจารณาเรื่องราวให้สัมปทานเดินรถยนต์ประจำทางสายชัยภูมิ – หนองบัวแดงโจทก์เองก็ยื่นเรื่องราวขออนุญาตพร้อมกับจำเลยและบริษัทอื่น แต่คณะกรรมการพิจารณาอนุญาตให้จำเลยผู้เดียวเป็นผู้ได้รับสัมปทาน ทั้งเส้นทางสายนี้ก็เป็นทางหลวงจังหวัด อยู่ในความควบคุมดูแลของจังหวัดชัยภูมิ มิใช่ทางที่กรมการขนส่งประกาศเป็นเส้นทางของกรมการขนส่ง ดังนั้น เมื่อจำเลยได้รับอนุญาตจากทางจังหวัดชัยภูมิให้เดินรถยนต์ประจำทางในเส้นทางสายนี้ได้ แม้จะทับเส้นทางซึ่งโจทก์ได้รับอนุญาตเป็นบางตอน ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการแข่งขันกับโจทก์การที่จำเลยนำรถยนต์โดยสารเข้าวิ่งรับส่งคนโดยสารตามที่ได้รับอนุญาตจึงไม่เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้รับโอนสิทธิและหน้าที่ทั้งหมดจากห้างหุ้นส่วนจำกัดสุรชัยเดินรถ ซึ่งได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งให้ประกอบการขนส่งในเส้นทางสายชัยภูมิ-ห้วยชัน และโจทก์ได้ยื่นคำขอประกอบการขนส่งในเส้นทางสายชัยภูมิ-ห้วยชีลอง แต่ยังไม่ได้รับอนุญาต จำเลยได้นำรถยนต์โดยสารไปแล่นทับเส้นทางสายชัยภูมิ – ห้วยชัน เป็นระยะทาง 6 กิโลเมตร และทับเส้นทางสายชัยภูมิ – ห้วยชีลองตลอดสาย เป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ ขอให้ห้ามจำเลยไม่ให้นำรถยนต์โดยสารวิ่งทับเส้นทาง 2 สายของโจทก์ กับให้ใช้ค่าเสียหาย

จำเลยต่อสู้ว่า จำเลยมิได้ทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยได้รับอนุญาตจากทางราชการให้ประกอบการขนส่งโดยรถยนต์โดยสารวิ่งจากชัยภูมิถึงบ้านหนองบัวแดง จะหาว่าจำเลยวิ่งทับเส้นทางมิได้ และเส้นทางสายชัยภูมิ – ห้วยชีลอง โจทก์ยังไม่ได้รับอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยมิได้ละเมิดสิทธิโจทก์ในเส้นทางสายชัยภูมิ – ห้วยชีลอง แต่จำเลยเดิมรถยนต์ทับเส้นทางของโจทก์ในเส้นทางสายชัยภูมิ – หนองบัวแดง เป็นการละเมิดสิทธิโจทก์พิพากษาแก้ ห้ามจำเลยเดินรถโดยสารจากตัวเมืองจังหวัดชัยภูมิถึงทางแยกหน่วยขยายพันธุ์พืชทับเส้นทางแข่งขันกับโจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้โจทก์วันละ 40 บาท นับแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2513 เป็นต้นไป จนกว่าจำเลยจะเลิกแข่งขัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

คดีมีปัญหามาสู่ศาลฎีกาว่า การที่จำเลยเดินรถยนต์โดยสารประจำทางสายชัยภูมิ – หนองบัวแดง ทับเส้นทางสายชัยภูมิ – ห้วยชัน เป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์หรือไม่

ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ได้รับอนุญาตให้ทำการขนส่งเดินรถยนต์โดยสารประจำทางตามพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. 2497 ในเส้นทางสายที่ 1343 จากชัยภูมิ – ห้วยชัน ตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 2508 ถึงวันที่ 4 กรกฎาคม 2513 ต่อมาเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2513 จำเลยซึ่งได้รับอนุญาตจากทางจังหวัดชัยภูมิ ให้เดินรถยนต์โดยสารในเส้นทางสายชัยภูมิ – หนองบัวแดง ได้นำรถยนต์โดยสารเข้าวิ่งรับส่งคนโดยสารตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2513 เป็นต้นมาแต่เส้นทางนี้ทับเส้นทางเดินรถยนต์ประจำทางของโจทก์ตั้งแต่ตัวเมืองจังหวัดชัยภูมิถึงทางแยกหน่วยขยายพันธุ์พืชชัยภูมิ ปรากฎตามแผนที่สังเขปท้ายคำให้การ ระยะทางที่ทับกัน 6 กิโลเมตรทำให้โจทก์เสียหาย เพราะรายได้ลดต่ำลง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เส้นทางที่จำเลยเดินรถยนต์ประจำทางทับเส้นทางของโจทก์นั้น นายกัญจน์ นาคามดี รองอธิบดีกรมการขนส่งพยานโจทก์เบิกความว่า เส้นทางที่อนุญาตให้ผู้รับสัมปทานเดินรถยนต์ประจำทางนั้นอาจจะทับกันเป็นบางตอนหรือทับกันตลอดสายก็ได้ และนายสุระ ชัยวิรัตน์ กรรมการผู้จัดการของบริษัทโจทก์ก็เบิกความรับว่าโจทก์ได้รับสัมปทานเดินรถสายชัยภูมิ – หนองบัวโคก ทับเส้นทางของจำเลยซึ่งเดินรถยนต์ประจำทางสายชัยภูมิ – โคราชและทับกันเป็นระยะทางถึง 60 กิโลเมตร ฉะนั้น เส้นทางที่โจทก์จำเลยเดินรถยนต์ประจำทางทับกันบางตอนจึงเป็นทางร่วม ต่างก็มีสิทธิที่จะเดินทางเดียวกันได้ทั้งเป็นทางร่วมที่จะเข้าตัวเมืองจังหวัดชัยภูมิ นายชัชวาลย์ สุวรรณพงศ์ นายอำเภอเมืองชัยภูมิ นายวัฒนา สุจริตจิตร นายอำเภอหนองบัวแดง และพันตำรวจตรีขยาย อุรุวงษ์ ผู้บังคับกองสถานีตำรวจภูธร อำเภอเมืองชัยภูมิพยานจำเลย เบิกความว่าพยานทั้งสาม เป็นกรรมการพิจารณาเรื่องราวให้สัมปทานเดินรถยนต์ประจำทางสายชัยภูมิ – หนองบัวแดง โจทก์เองก็ยื่นเรื่องราวขออนุญาตเดินรถยนต์ประจำทางสายนี้พร้อมกับจำเลยและบริษัทอื่น แต่ทางคณะกรรมการพิจารณาอนุญาตให้จำเลยผู้เดียวเป็นผู้ได้รับสัมปทาน นอกจากนี้ นายประมูล ศรัทธาทิพย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ พยานจำเลยยังเบิกความสนับสนุนอีกว่าทางสายชัยภูมิ – หนองบัวแดง เป็นทางหลวงจังหวัดอยู่ในความควบคุมดูแลของจังหวัดชัยภูมิ มิใช่ทางที่กรมการขนส่งประกาศเป็นเส้นทางของกรมการขนส่ง จึงเห็นได้ว่าเมื่อจำเลยได้รับอนุญาตจากทางจังหวัดชัยภูมิให้เดินรถยนต์ประจำทางในเส้นทางสายนี้ได้ แม้จะทับเส้นทางซึ่งโจทก์ได้รับอนุญาตเป็นบางตอน ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการแข่งขันกับโจทก์ การกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงไม่เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์

พิพากษาแก้ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share