คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8325/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การบังคับคดีนั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 271 บัญญัติให้บุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะ (เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา)เท่านั้น ที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง ผู้ร้องไม่ใช่บุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะ (ในคดีที่ร้องนี้) จึงไม่มีสิทธิตามกฎหมายดังกล่าวสำหรับกรณีที่เจ้าหนี้ที่จะใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 233 นั้น หมายถึงการใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลโดยให้เจ้าหนี้เป็นโจทก์ฟ้องในนามของเจ้าหนี้แทนลูกหนี้ได้รวมทั้งเรียกลูกหนี้เข้ามาในคดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 234 มิใช่เข้าสวมสิทธิในการบังคับคดีของลูกหนี้ ซึ่งเป็นสิทธิที่กฎหมายกำหนดให้เป็นสิทธิแก่บุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะดังกล่าว

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์ตามสัญญาซื้อขายพร้อมกับรับเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือและชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้น (ศาลแพ่งธนบุรี) พิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 7181 และ 7182 ให้แก่โจทก์พร้อมกับรับเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือจำนวน 8,405,000 บาท หากจำเลยไม่ยอมโอนให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาและให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์อีก 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2538 จนกว่าจะชำระเสร็จ คดีถึงที่สุดแล้ว ทั้งโจทก์และจำเลยต่างก็ยังมิได้ดำเนินการบังคับคดี

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้จำเลยในฐานะผู้รับจำนองที่ดินพิพาทและเป็นเจ้าหนี้จำเลยตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1013/2538 สัญญาประนีประนอมยอมความที่จำเลยทั้งห้าทำกับผู้ร้องมีสาระสำคัญว่าจำเลยทั้งห้าตกลงยอมร่วมกันหรือแทนกันชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามฟ้องจำนวน 13,500,000 บาท พร้อมค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนที่ศาลไม่สั่งคืนกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีและค่าทนายความอีกจำนวน 20,000 บาทภายในวันที่ 30 กรกฎาคม 2538 หากจำเลยทั้งห้าผิดนัดยอมร่วมกันหรือแทนกันชำระหนี้ทั้งหมดตามฟ้องให้แก่โจทก์ทันทีเป็นเงิน 9,652,503.25บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ของต้นเงิน 7,671,891.29 บาทนับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ กับยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ทันทีโดยให้ยึดทรัพย์จำนองตามฟ้องอันได้แก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 7181 และ7182 พร้อมสิ่งปลูกสร้างในที่ดินออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ยอมให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งห้าออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบ ครั้นครบกำหนดชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยทั้งห้าผิดนัดไม่ยอมชำระหนี้ผู้ร้องจึงขอบังคับคดี ชั้นที่สุดได้ขายทอดตลาดที่ดินที่จำเลยในคดีนี้จำนองอยู่แก่ผู้ร้องนายประกอบ ประจงกิจ เป็นผู้ประมูลซื้อได้ในราคา 9,200,000 บาท และได้มีการชำระเงินแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ครั้นผู้ร้องจะขอรับเงินค่าที่ดิน โจทก์กลับยื่นคำร้องคัดค้าน อ้างว่าศาลแพ่งธนบุรีพิพากษาให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิดีกว่านายประกอบอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน ศาลมีคำสั่งอนุญาตตามคำร้องของโจทก์ โจทก์จึงแถลงขอวางเงินค่าที่ดินต่อศาลภายในกำหนด 60 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง แต่เมื่อครบกำหนดดังกล่าวโจทก์ก็มิได้นำเงินไปวางตามคำแถลง และจำเลยก็ละเลยมิได้ขอบังคับคดีขอศาลอนุญาตให้ผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้ของจำเลยตามคำพิพากษาดังกล่าวใช้สิทธิของจำเลยบังคับคดีแทนจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 233 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ผู้ร้องขอใช้สิทธิเรียกร้องของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ของผู้ร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 233จะต้องเสนอคดีโดยทำเป็นคำฟ้อง ผู้ร้องจะยื่นคำร้องเข้ามาในคดีนี้หาได้ไม่ ยกคำร้อง

ผู้ร้องอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่าผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องขอบังคับคดีแทนจำเลยหรือไม่ เห็นว่า การบังคับคดีนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 บัญญัติให้บุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะ (เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา) เท่านั้น ที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งผู้ร้องไม่ใช่บุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะจึงไม่มีสิทธิตามกฎหมายดังกล่าว สำหรับกรณีที่เจ้าหนี้ที่จะใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 233นั้น หมายถึง การใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลโดยให้เจ้าหนี้เป็นโจทก์ฟ้องในนามของเจ้าหนี้แทนลูกหนี้ได้ รวมทั้งเรียกลูกหนี้ให้เข้ามาในคดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 234 มิใช่เข้าสวมสิทธิในการบังคับคดีของลูกหนี้ ซึ่งเป็นสิทธิที่กฎหมายกำหนดให้เป็นสิทธิแก่บุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะดังกล่าวมาแล้ว ที่ศาลชั้นต้นยกคำร้องของผู้ร้องและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนมานั้นชอบแล้ว ฎีกาผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share