คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2230/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ผู้ประกันผิดสัญญาประกันและศาลชั้นต้นสั่งปรับผู้ประกันตามสัญญาประกันแล้ว การที่ผู้ประกันยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายเวลาส่งตัวจำเลยที่ 2 ไป หรือลดค่าปรับลงโดยขอผ่อนชำระค่าปรับเป็นรายเดือน แต่ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องนั้น คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวเป็นคำสั่งบังคับตามสัญญาประกันตาม ป.วิ.อ. มาตรา 119ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.อ. (ฉบับที่ 17)พ.ศ. 2532 มาตรา 4 เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ผู้ประกันจึงฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ได้ เนื่องจากบทบัญญัติดังกล่าวบัญญัติไว้ว่าคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด.

ย่อยาว

สืบเนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 20,000บาท และจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 9 เดือน จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ผู้ประกันยื่นคำร้องขอประกันตัวจำเลยที่ 2 ในระหว่างอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 2 โดยตีราคาประกันเป็นเงิน160,000 บาท เมื่อถึงกำหนดนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ผู้ประกันยื่นคำร้องขอเลื่อนการส่งตัวจำเลยที่ 2 ต่อศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นอนุญาต แต่เมื่อถึงกำหนดนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าวผู้ประกันยื่นคำร้องขอเลื่อนการส่งตัวจำเลยที่ 2 ต่อศาลชั้นต้นอีก ศาลชั้นต้นเห็นว่า จำเลยที่ 2 ทราบนัดโดยชอบแล้วไม่มาศาล ผู้ประกันก็ไม่สามารถนำตัวจำเลยที่ 2 มาส่งได้ ถือว่าผู้ประกันผิดสัญญาประกันให้ปรับผู้ประกันเต็มตามสัญญาประกัน ให้ชำระค่าปรับต่อศาลชั้นต้นภายใน 15 วัน พฤติการณ์มีเหตุอันควรสงสัยว่าจำเลยที่ 2 หลบหนีให้ออกหมายจับจำเลยที่ 2 และนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ผู้ประกันยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายเวลาส่งตัวจำเลยที่ 2 หรือลดค่าปรับลงเป็นเงิน 70,000 บาท โดยขอผ่อนชำระค่าปรับที่เหลือเดือนละ 1,000 บาท
ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้อง
ผู้ประกันอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ประกันฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้ประกันผิดสัญญาประกั นและศาลชั้นต้นสั่งปรับผู้ประกันตามสัญญาประกันแล้ว การที่ผู้ประกันยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายเวลาส่งตัวจำเลยที่ 2 ไป หรือลดค่าปรับลงโดยขอผ่อนชำระค่าปรับเป็นรายเดือน แต่ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องนั้นคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวเป็นคำสั่งบังคับตามสัญญาประกัน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา119 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2532 มาตรา 4 ผู้ประกันจึงฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ได้ เนื่องจากบทบัญญัติดังกล่าวบัญญัติไว้ว่าคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด”
พิพากษายกฎีกาผู้ประกัน.

Share