คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5519/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ว.ผู้จัดการสถานบริการของจำเลยที่ 1 จัดให้มีการแสดงแฟชั่นโชว์ ในสถานบริการของจำเลย นางแบบแต่งกายชุดอาบน้ำตัดเย็บด้วยผ้าลูกไม้บาง บนฟลอร์มีสปอทไลท์ ฉายไปมา สามารถมองผ่านช่องว่างของผ้าลูกไม้บางนั้นเห็นนมเนื้อตัวร่างกายของนางแบบลักษณะการแต่งกายเช่นนี้ไม่แตกต่างไปจากการเปลือยกาย และเพียงเท่านี้ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้จัดให้มีการแสดงเพื่อความบันเทิงในสถานบริการซึ่งเป็นไปในทางลามกหรืออนาจารแล้ว เมื่อจำเลยที่ 1โดยจำเลยที่ 2 ผู้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ตั้งสถานบริการดังกล่าว จึงมีหน้าที่ต้องควบคุมการแสดงมิให้เป็นไปในทางลามกหรืออนาจาร แม้จำเลยจ้าง ว.ให้เป็นผู้จัดการดูแลแทนและ ว.จัดให้มีการแสดงอันเป็นความผิดดังกล่าวในขณะที่จำเลยที่ 2 ไม่อยู่ ก็หาได้ทำให้จำเลยทั้งสองหลุดพ้นจากหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้นั้นไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติสถานบริการพ.ศ. 2509 มาตรา 19, 27 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. 2509 มาตรา 19, 27 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 ปรับคนละ 1,000 บาท ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหามีว่าได้มีการจัดให้มีการแสดงเพื่อความบันเทิงในสถานบริการของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นไปในทางลามกหรืออนาจารหรือไม่ โจทก์มีร้อยตำรวจเอกประวิทย์ เลขะวณิช มาเบิกความว่าได้เข้าไปตรวจสถานบริการของจำเลยที่ 1 โดยเข้าไปนั่งดูก่อน แล้วเห็นนางสาวจูลี่เดินเปลือยกายอยู่บนฟลอร์ ถึงแม้พยานจะตอบทนายจำเลยถามค้านว่าดูห่างจากฟลอร์ ประมาณ 15 เมตรนางสาวจูลี่แต่งชุดอาบน้ำสีเข้ม บนฟลอร์ มีไฟหรี่ กะพริบและมีไฟสปอทไลท์ ฉายไปมา แต่เมื่อตอบโจทก์ถามติงก็ว่า นางสาวจูลี่สวมชุดบาง สามารถมองเห็นนมเนื้อตัวร่างกายได้ กางเกงแบบกางเกงในเรียว เล็ก นายวิเชษฐ์และนางสาวอุทัยพยานจำเลยเองก็เบิกความเจือสมว่า ชุดที่นางสาวจูลี่สวมทำด้วยผ้าลูกไม้สีน้ำเงิน แต่นายวิเชษฐ์และนางสาวอุทัยอ้างว่าเป็นชุดอาบน้ำทูพีช (สองชิ้น)ทำด้วยผ้าลูกไม้ทึบ ไม่สามารถมองเห็นอวัยวะภายในได้ เห็นว่าโดยปกติทั่วไปไม่มีผู้ใดนำผ้าประเภทผ้าลูกไม้มาตัดเย็บเป็นชุดอาบน้ำ การนำผ้าลูกไม้มาตัดเย็บดังกล่าวก็เพื่อล่อตาล่อใจผู้ชมซึ่งผู้จัดก็คงจะไม่ใช้ผ้าลูกไม้ทึบดังพยานจำเลยอ้าง ผ้าลูกไม้ที่นางสาวจูลี่สวมใส่จึงน่าจะเป็นผ้าลูกไม้บางมากกว่า ข้อนำสืบของจำเลยไม่สมเหตุสมผล เมื่อบนฟลอร์มีสปอทไลท์ ซึ่งเป็นไฟฟ้าที่มีแสงสว่างเป็นพิเศษฉายไปมา จึงสามารถมองผ่านช่องว่างของผ้าลูกไม้บางนั้นเห็นนมเนื้อตัวร่างกายของนางสาวจูลี่ได้ดังที่ร้อยตำรวจเอกประวิทย์เบิกความตอนท้าย ซึ่งลักษณะการแต่งกายเช่นนี้ก็ไม่แตกต่างไปจากการเปลือยกายดังที่ร้อยตำรวจเอกประวิทย์เบิกความตอบโจทก์นั่นเอง และเพียงเท่านี้ก็พอจะให้ถือว่าเป็นการแสดงไปในทางลามกหรืออนาจารแล้ว นอกจากนี้ยังได้ความจากพยานจำเลยว่านางสาวจูลี่กับพวกเป็นนางแบบของห้างหุ้นส่วนจำกัดไดนาไนต์เอนเตอร์เทนเมนต์ ซึ่งประกอบธุรกิจในการจัดแสดงแฟชั่นโชว์ มีนางสาวอุทัยเป็นหัวหน้าควบคุม และในการเดินแฟชั่นโชว์ที่เกิดเหตุนี้ นางสาวอุทัยก็ไปคอยควบคุมอยู่ด้วย ถ้าการแสดงไม่ถึงขั้นเปิดเผยให้เห็นนมและเนื้อตัวในส่วนที่ควรปกปิดแล้วก็เชื่อได้ว่านางสาวอุทัยต้องไม่ยอมให้นางสาวจูลี่กับพวกรับสารภาพเพราะจะเป็นการเสื่อมเสียแก่ชื่อเสียงในการประกอบธุรกิจของห้างฯ หากมีวัตถุประสงค์เพียงการเดินแฟชั่นโชว์เครื่องแต่งหายตามปกติแต่เพียงอย่างเดียว ยิ่งกว่านั้นจำเลยที่ 2 ยังเบิกความว่าหากจำเลยที่ 2 ไม่อยู่ จะกำชับสั่งเสียนายวิเชษฐ์ผู้จัดการดูแลแทนไว้ว่าอย่าปฏิบัติผิดกฎหมายสถานบริการเป็นอันขาดทุกครั้งทั้งนี้ก็ต้องเนื่องจากเหตุที่อาจจะถูกเพิกถอนใบอนุญาตให้ตั้งสถานบริการซึ่งนายวิเชษฐ์ก็ต้องทราบเหตุนี้ด้วย ฉะนั้น ที่นายวิเชษฐ์เบิกความว่า เหตุที่ยอมรับผิดเพราะเจ้าพนักงานตำรวจบอกว่า ถ้ายอมให้ปรับแล้วจะไม่มีผลเกี่ยวพันถึงสถานบริการอีกไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง การที่นางสาวจูลี่กับพวกและนายวิเชษฐ์รับสารภาพต่อพนักงานสอบสวนและยินยอมให้พนักงานสอบสวนเปรียบเทียบดังปรากฏตามเอกสารหมาย จ.3 ถึง จ.6 แม้จะใช้ยันลงโทษจำเลยในชั้นพิจารณาไม่ได้ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย แต่ก็เป็นพยานหลักฐานสนับสนุนข้อเท็จจริงตามคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกประวิทย์พยานโจทก์ให้เห็นเด่นชัดยิ่งขึ้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า คืนเกิดเหตุได้มีการจัดให้มีการแสดงเพื่อความบันเทิงในสถานบริการของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นไปในทางลามกหรืออนาจาร จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2ผู้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ตั้งสถานบริการดังกล่าว จึงมีหน้าที่ต้องควบคุมการแสดงมิให้เป็นไปในทางลามกหรืออนาจาร ตามที่พระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. 2509 มาตรา 19ได้บัญญัติไว้ แม้จำเลยจะได้จ้างนายวิเชษฐ์ให้เป็นผู้จัดการดูแลแทนและนายวิเชษฐ์จะได้จัดให้มีการแสดงอันเป็นความผิดดังกล่าวในขณะที่จำเลยที่ 2 ไม่อยู่ก็หาได้ทำให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ตั้งสถานบริการ และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการในฐานะผู้แทนนิติบุคคลหลุดพ้นจากหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้นั้นไม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องมานั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share