คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1080/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยลักรถจักรยานยนต์โดยใช้ลูกกุญแจไขกุญแจรถซึ่งใส่ไว้ เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ธรรมดาตาม มาตรา 334 ไม่เป็นผิดฐานลักทรัพย์โดยองค์ประกอบพิเศษตามมาตรา 335 (3) เพราะกุญแจรถที่ใส่ไว้ไม่ใช่สิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองบุคคลหรือทรัพย์เหมือนเช่นรั้วหรือลูกกรงหน้าต่างประตู ทั้งการไขกุญแจก็หาใช่การทำอันตรายแก่ตัวกุญแจอันจะเข้าเกณฑ์ตามอนุบัญญัติดังกล่าวไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยบังอาจลักรถจักรยานยนต์ของจ่าสิบตำรวจสุรพลผู้เสียหาย โดยใช้ลูกกุญแจไขกุญแจรถซึ่งเป็นสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองทรัพย์ ต่อมาจำเลยถูกจับได้พร้อมด้วยกุญแจของกลาง ๙ ดอก และอุปกรณ์รถอื่นๆ ทั้งนี้จำเลยบังอาจลักรถดังกล่าวไป หรือมิฉนั้นก็รับไว้โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ถูกลักมา ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๓๕ (๓), ๓๕๗ และให้คืนหรือใช้ราคา ๙,๓๗๐ บาท แก่ผู้เสียหาย ริบกุญแจของกลางและนับโทษจำเลยติดต่อกับคดีอื่นๆ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นฟังว่าจำเลยลักรถจักรยานยนต์ผู้เสียหายโดยไขกุญแจที่ใส่ไว้อันถือว่าเป็นสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองทรัพย์ เข้าลักษณะความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕ (๓) พิพากษาจำคุกจำเลยไว้มีกำหนด ๔ ปี ให้คืนหรือใช้ราคาแก่ผู้เสียหายริบของกลาง และนับโทษต่อจากคดีแดงที่ ๒๓๓, ๓๑๘ และ ๔๑๒/๒๕๑๐ ยกข้อหาฐานรับของโจร
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงยืนตามศาลชั้นต้นแต่วินิจฉัยว่ากุญแจรถจักรยานยนต์ที่ใส่ไว้นั้นไม่ใช่สิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองทรัพย์ กรณีจึงไม่เข้าเกณฑ์ความผิดตามมาตรา ๓๓๕ (๓) คงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา ๓๓๔ พิพากษาแก้ให้จำคุกจำเลยมีกำหนด ๓ ปี คำรับสารภาพในชั้นสอบสวนมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตาม มาตรา ๗๘ คงจำคุกไว้มีกำหนด ๒ ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษตามมาตรา ๓๓๕ (๓)
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่ากุญแจที่ใส่รถจักรยานยนต์มิใช่สิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองบุคคลหรือทรัพย์ เพราะกุญแจรถไม่มีลักษณะเป็นสิ่งกีดกั้นเหมือนเช่นรั้วหรือลูกกรงหน้าต่างประตูบ้าน ทั้งการไขกุญแจก็หาใช่เป็นการทำอันตรายแก่กุญแจไม่กรณีนี้ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๓๕ (๓) พิพากษายืน
( ประสบ เภกะสุต – ยง เหลืองรังษี – สว่าง ภูวะปัจฉิม

Share