คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7299/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองและผู้ขับรถยนต์คันเกิดเหตุ จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดมีวัตถุประสงค์ประกอบธุรกิจประกันภัย จำเลยที่ 2 ได้รับประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าวไว้ในลักษณะประกันภัยค้ำจุน ขณะเกิดเหตุยังอยู่ในระหว่างอายุสัญญาประกันภัย จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันดังกล่าวโดยประมาทเลินเล่อทำให้รถยนต์โจทก์ถูกชนได้รับความเสียหาย ตามคำฟ้องโจทก์เป็นที่เข้าใจว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีส่วนได้เสียในรถยนต์คันเกิดเหตุ ย่อมอยู่ในฐานะเป็นผู้เอาประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าวได้ จำเลยที่ 2 มิได้ปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันเกิดเหตุของจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุน จำเลยที่ 2 จึงอาจต้อง รับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเกิดจากรถยนต์ที่รับประกันภัยไว้ ข้อที่ว่าจำเลยที่ 2 รับประกันภัยไว้จากผู้ใดเป็น ข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 2 ทราบดีอยู่แล้ว และเป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา โจทก์ไม่ จำต้องบรรยายว่าผู้ใดเป็นผู้เอาประกันภัยอีก ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหาย จำนวน ๑๑๘,๔๐๐.๘๓ บาท (๑๑๘,๔๐๑.๖๓ บาท) พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี จากต้นเงิน ๑๑๕,๑๓๖ บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ ๒ ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน ๘๕,๑๓๖ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับจากวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๔๐ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ ๒,๐๐๐ บาท
จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๒ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษา ศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลสำหรับจำเลยที่ ๒ ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว คดีมีปัญหาชั้นฎีกาว่า คำฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ ๒ เคลือบคลุมหรือไม่ โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าของผู้ครอบครองและผู้ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน ๓ อ – ๕๒๑๓ กรุงเทพมหานคร ในขณะเกิดอุบัติเหตุ จำเลยที่ ๒ เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ประกอบธุรกิจประกันภัย จำเลยที่ ๒ ได้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน ๓ อ – ๕๒๑๓ กรุงเทพมหานคร ไว้ในลักษณะประกันภัยค้ำจุน ขณะเกิดเหตุ ยังอยู่ในระหว่างอายุสัญญาประกันภัย จำเลยที่ ๑ ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน ๓ อ – ๕๒๑๓ กรุงเทพมหานคร โดยประมาทเลินเล่อทำให้รถยนต์โจทก์ถูกชนได้รับความเสียหาย จำเลยที่ ๒ จึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ เห็นว่า ตามคำฟ้งโจทก์ได้บรรยายไว้ว่า จำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าของผู้ครอบครองและผู้ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน ๓ อ – ๕๒๑๓ กรุงเทพมหานคร ในขณะเกิดเหตุ จึงเป็นที่เข้าใจว่าจำเลยที่ ๑ เป็นผู้มีส่วนได้เสียในรถยนต์หมายเลขทะเบียน ๓ อ – ๕๒๑๓ กรุงเทพมหานคร ย่อมอยู่ในฐานะเป็นผู้เอาประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าวได้ จำเลยที่ ๒ มิได้ปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน ๓ อ – ๕๒๑๓ กรุงเทพมหานคร ของจำเลยที่ ๑ เมื่อจำเลยที่ ๒ เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุน จำเลยที่ ๒ จึงอาจต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเกิดจากรถยนต์ที่รับประกันภัยไว้ ข้อที่ว่าจำเลยที่ ๒ รับประกันภัยไว้จากผู้ใดเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ ๒ ทราบดีอยู่แล้ว และเป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา โจทก์ไม่จำต้องบรรยายว่าผู้ใดเป็นผู้เอาประกันภัยอีก ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามา ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น และเห็นสมควรย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยประเด็นที่เหลือต่อไป
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยประเด็นที่เหลือต่อไป แล้วพิพากษาใหม่ตาม รูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้ศาลอุทธรณ์รวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่

Share