แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่จำเลยนำสืบว่าโจทก์ทั้งสองทำสัญญาจะซื้อขายบ้านพิพาทกับจำเลยแต่ความประสงค์แท้จริงของโจทก์ทั้งสองก็เพื่อจะซื้อบ้านพิพาทให้ อ. บุตรโจทก์ที่ 2 นั้น เป็นเรื่องที่จำเลยนำสืบถึงวัตถุประสงค์ของโจทก์ในการทำสัญญา มิใช่นำสืบว่ามีข้อตกลงเป็นอย่างอื่นแตกต่างจากสัญญาอันจะเป็นการนำสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสารซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94(ข).
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2523 จำเลยขายบ้านไม้สองชั้นให้โจทก์ทั้งสองในราคา 75,000 บาท ในวันทำสัญญาโจทก์ทั้งสองชำระเงินให้จำเลย 70,000 บาท ส่วนที่เหลืออีก 5,000 บาทจะชำระภายหลัง จำเลยสัญญาว่าบ้านที่จำเลยนำมาขายให้แก่โจทก์ทั้งสองเป็นทรัพย์สินของจำเลยแต่ผู้เดียว จำเลยจะทำการโอนบ้านให้แก่โจทก์ทั้งสองภายใน 45 วัน นับแต่วันที่โจทก์ทั้งสองได้ชำระเงนเรียบร้อยแล้ว ต่อมาเมื่อกลางปี พ.ศ. 2527 โจทก์ทั้งสองจะชำระเงินส่วนที่เหลือ และให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์บ้าน แต่จำเลยบ่ายเบี่ยงไม่ยอมปฏิบัติตามสัญญา ปรากฏว่าบ้านดังกล่าวมีได้เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย หากแต่เป็นของนางสมร สื่อสุวรรณ และนางสมรได้ขายให้แก่นางเอมอร ภู่โต ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม 2525 ในราคา20,000 บาท ขอให้จำเลยคืนเงินค่าซื้อบ้านจำนวน 70,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า บ้านพิพาทที่จำเลยทำสัญญาซื้อขายกับโจทก์ทั้งสองนั้น โจทก์ทั้งสองประสงค์จะซื้อให้แก่นางเอมอรภู่โต ซึ่งเป็นบุตรสาวของโจทก์ที่ 2 กับสามีคนก่อน และโจทก์ทั้งสองไม่ชำระเงินที่เหลือให้แก่จำเลยตามสัญญา โจทก์ทั้งสองจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดคืนเงินจำนวน 70,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง และไม่ต้องรับผิดในเรื่องดอกเบี้ยของเงินจำนวนนี้ตามที่โจทก์ทั้งสองเรียกร้องขอให้ยกฟ้องโจทก์ และให้โจทก์ทั้งสองชำระเงินจำนวน 6,062 บาท ให้จำเลยพร้อมทั้งดอกเบี้ย
โจทก์ทั้งสองให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ตามสัญญาซื้อขายบ้านพิพาทข้อ 3 ให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ในบ้านพิพาทให้โจทก์ทั้งสองภายในเวลา 45 วัน นับแต่วันที่โจทก์ทั้งสองชำระราคาเสร็จสิ้น มิใช่ภายใน 45 วัน นับแต่วันที่ทำสัญญาซื้อขาย โจทก์ทั้งสองพร้อมที่จะชำระเงินจำนวน 5,000 บาท ให้แก่จำเลยและรับโอนกรรมสิทธิ์บ้านพิพาทบ้านดังกล่าวมิใช่จำเลยเป็นผู้มีชื่อกรรมสิทธิ์ หากแต่เป็นชื่อนางสมรภริยาจำเลยและได้ขายให้นางเอมอรแล้ว ซึ่งโจทก์ทั้งสองไม่ทราบมาก่อน และไม่เคยตกลงกับจำเลยว่าจะซื้อบ้านให้นางเอมอร โจทก์ทั้งสองมิใช่เป็นผู้ผิดสัญญา จึงไม่ต้องรับผิดตามฟ้องแย้ง และโจทก์ทั้งสองได้บอกเลิกสัญญา ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้น พิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 91,875 บาทพร้อมทั้งดอกเบี้ย ยกฟ้องแย้งของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ และยกฟ้องแย้งของจำเลย
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาจะต้องวินิจฉัยข้อแรกมีว่า การนำสืบของจำเลยเป็นการนำสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสารหรือไม่ เห็นว่าการที่จำเลยนำสืบว่าโจทก์ทั้งสองทำสัญญาจะซื้อขายบ้านพิพาทกับจำเลยตามเอกสารหมาย ล.2 แต่ความประสงค์แท้จริงของโจทก์ทั้งสองก็เพื่อจะซื้อบ้านพิพาทให้นางเอมอรบุตรโจทก์ที่ 2 นั้น เป็นเรื่องที่จำเลยนำสืบถึงวัตถุประสงค์ของโจทก์ทั้งสองในการทำสัญญา มิใช่นำสืบว่ามีข้อตกลงเป็นอย่างอื่นแตกต่างจากสัญญาอันจะเป็นการนำสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสาร ซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 94 (ข)
ปัญหาต่อไปมีว่าโจทก์ทั้งสองหรือจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ทั้งสองอ้างตนเองเบิกความประกอบสัญญาจะซื้อขายเอกสารหมาย ล.2ได้ความสอดคล้องกันว่า เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2523 โจทก์ทั้งสองตกลงซื้อบ้านพิพาทจากจำเลยในราคา 75,000 บาท ชำระราคาในวันทำสัญญา 70,000 บาท ส่วนที่เหลืออีก 5,000 บาท จะชำระในภายหลังเมื่อชำระเงินส่วนที่เหลือนี้แล้วจำเลยจะจดทะเบียนโอนบ้านพิพาทให้โจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองพยายามติดตามจำเลยเพื่อชำระเงินส่วนที่เหลือและให้จำเลยโอนบ้านพิพาทแก่โจทก์ทั้งสอง ในตอนแรกไม่พบตัว แต่เมื่อพบตัวแล้วจำเลยก็ขอผัดผ่อนต่อมาโจทก์ทั้งสองทราบว่านางสมร สื่อสุวรรณ ภริยาจำเลยได้ขายบ้านพิพาทและจดทะเบียนโอนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ให้แก่นางเอมอร ภู่โต ไปเมื่อวันที่ 30 มีนาคม2525 ในราคา 20,000 บาท ปรากฏตามหนังสือสัญญาขายเรือนเอกสารหมาย จ.1 โจทก์ทั้งสองสอบถามจำเลย จำเลยบอกว่าเมื่อขายบ้านพิพาทไปแล้วก็เลิกสัญญากันโจทก์ทั้งสองจึงทวงถามให้จำเลยคืนเงินที่โจทก์ทั้งสองชำระแก่จำเลยไป จำเลยเพิกเฉย จำเลยให้การและนำสืบว่าโจทก์ทั้งสองจะซื้อบ้านพิพาทให้นางเอมอรบุตรโจทก์ที่ 2 พิเคราะห์แล้วศาลฎีกาเห็นว่า พิจารณาตามเหตุผลแล้ว ข้อนำสืบของจำเลยไม่น่าเป็นไปได้ เพราะได้ความจากนางเอมอรพยานจำเลยว่าโจทก์ที่ 2 หย่ากับบิดานางเอมอรตั้งแต่นางเอมอรอายุ 6-7 ปี หลังจากนั้นางเอมอรไปอยู่กับบิดาที่จังหวัดนครปฐมตลอดมาจนแต่งงานแล้วจึงได้มาเป็นลูกจ้างจำเลย โจทก์ที่ 2 ไม่เคยอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นบิดาเลี้ยงก็ไม่มีความใกล้ชิดสนิทสนมกัน และยังได้ความต่อไปอีกว่าโจทก์ทั่งสองมีบุตรด้วยกันอีก 1 คน น่าจะมีความรักและเป็นห่วงบุตรที่เกิดใหม่นี้มากกว่านอกจากนี้ปรากฏว่านางสมรจดทะเบียนโอนบ้านพิพาทให้นางเอมอร นางเอมอรก็ทำสัญญาขายฝากบัานพิพาทแก่นายนัสริทร์ในวันเดียวกัน การทำสัญญาซื้อขายและขายฝากเป็นไปโดยรีบด่วนในลักษณะที่จะหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อขายพยานหลักฐานจำเลยล้วนเป็นพิรุธ ไม่มีน้ำหนัก พยานหลักฐานโจทก์ทั้งสองมีน้ำหนักน่าเชื่อถือกว่าพยานหลักฐานจำเลย เชื่อว่าจำเลยทำสัญญาจะขายบ้านพิพาทให้โจทก์ทั้งสองค้างชำระแก่จำเลยนั้น เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา และโจทก์ทั้งสองใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว โจทก์ทั้งสองจึงไม่ต้องชำระแก่จำเลย แต่จำเลยต้องคืนเงินจำนวน 70,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวโดยคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2523 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยรับเงินไปจากโจทก์ทั้งสองและเป็นวันที่ถือว่าคู่สัญญาจะต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม…”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.