แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยนำสินค้าควบคุมจากเขตจังหวัดอื่นเข้ามาในเขตท้องที่จังหวัดที่มีการประกาศเขตควบคุม แม้จะปรากฏว่าสินค้ายังอยู่ในเรือที่ได้บรรทุกมายังไม่มีการขนถ่ายสินค้าก็ตาม การกระทำของจำเลยก็เป็นการฝ่าฝืนประกาศของคณะกรรมการส่วนจังหวัดกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาดแล้ว
จำเลยร่วมกันพยายามนำสินค้า สบู่ ผ้า บุหรี่ และไม้อัดซึ่งมิได้ผ่านด่านศุลกากร โดยถูกต้องออกไปนอกราชอาณาจักรและร่วมกันขนย้ายสบู่อันเป็นสินค้าควบคุมในท้องที่จังหวัดตราดทางทะเลกับร่วมกันขนย้ายผ้าและบุหรี่อันเป็นสิ่งของที่อยู่ในความควบคุมทางทะเลจากท้องที่จังหวัดอื่นเข้ามาในเขตจังหวัดตราดทางทะเล การกระทำของจำเลยในสินค้าแต่ละประเภทเป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท จึงต้องแยกประเภทสินค้าออกเป็นกระทงความผิดแล้วลงโทษบทหนัก
คดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นทั้งบทมาตราความผิดและกำหนดโทษเป็นการแก้ไขมาก ไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218
ความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากรมาตรา 27 ไม่ว่าจะเป็นพยายามกระทำความผิดหรือกระทำความผิดสำเร็จก็ตาม กฎหมายได้กำหนดโทษไว้เท่ากันคือความผิดครั้งหนึ่งให้ปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งรวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วหรือจำคุกไม่เกินสิบปีหรือทั้งปรับทั้งจำ เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายบทพระราชบัญญัติศุลกากรจึงเป็นบทหนักกว่าพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องอุปโภคบริโภคและของอื่นในภาวะคับขัน.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469มาตรา 27 พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2490 มาตรา 3พระราชบัญญัติกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด พ.ศ. 2522มาตรา 10, 23, 24, 40, 43 พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องอุปโภคบริโภคและของอื่นๆในภาวะคับขัน พ.ศ. 2488 มาตรา 4, 10, 20 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 84, 91 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21พฤศจิกายน 2514 ข้อ 2 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 3, 6, 7 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 37, 76 พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 มาตรา277, 282 พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทยแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2477 มาตรา 3 พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำผิดพ.ศ. 2489 มาตรา 4, 5, 6, 7, 8, 9 ประกาศคณะกรรมการกลางกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด ฉบับที่ 1 ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2522ประกาศคณะกรรมการส่วนจังหวัดกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาดจังหวัดตราด ฉบับที่ 9 ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2523 ประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องอุปโภคบริโภคและของอื่นๆในภาวะคับขันฉบับที่ 104 ลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2524 ประกาศจังหวัดตราด ลงวันที่ 13 มีนาคม 2524 ริบของกลางทั้งหมด ยกเว้นเรือยนต์ส. เรืองสมุทร 5 กับอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนให้คืนเจ้าของจ่ายเงินสินบนนำจับแก่ผู้นำจับ และจ่ายรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับตามกฎหมาย
จำเลยทั้งแปดให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 8มีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร มาตรา 27 ให้จำคุกคนละ 2 ปีและปรับรวมกัน 7,275,840 บาท มีความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดราคาสินค้า และป้องกันการผูกขาด พ.ศ. 2522 มาตรา 10, 23, 24, 40, 43จำคุกคนละ 3 เดือนและปรับคนละ 3,000 บาท มีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องอุปโภคบริโภคและของอื่นๆในภาวะคับขันพ.ศ. 2488 มาตรา 4, 10, 20 จำคุกคนละ 3 เดือนและปรับคนละ 1,000บาท จำเลยที่ 1 และที่ 6 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 3, 6, 7 ฐานมีอาวุธปืนให้จำคุกจำเลยที่ 1 8 เดือนและปรับ 4,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 6 6เดือน และปรับ 3,000 บาท ฐานพกพาอาวุธปืนจำคุกจำเลยที่ 1 8 เดือนและปรับ 3,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 6 6 เดือน และปรับ 2,000 บาทจำเลยที่ 3 และที่ 7 มีความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 37, 76 ให้ปรับคนละ 1,000 บาท จำเลยที่ 7 มีความผิดตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 มาตรา 277, 282พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทยแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2477มาตรา 3 ให้ปรับ 1,000 บาท ถ้าจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทน ริบสินค้าไม้อัด สบู่ บุหรี่ และผ้าของกลาง ส่วนเรือ ส.เรืองสมุทร 5 อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน เสื้อ กางเกง รองเท้ากระเป๋าเดินทาง และกล้องถ่ายรูปของกลางให้คืนเจ้าของจ่ายเงินรางวัลแก่ผู้จับร้อยละ 30 ของเงินสุทธิจากการขายของกลางที่ศาลสั่งริบหรือเงินค่าปรับที่จำเลยได้ชำระต่อศาลตามพระราชบัญญัติกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด และจ่ายเงินรางวัลแก่ผู้จับร้อยละ 20 ของราคาของกลางหรือค่าปรับตามพระราชบัญญัติศุลกากร ถ้าจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยถูกจำคุกมาก่อนเพื่อให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นคนดี จึงให้รอการลงโทษจำเลยทุกคนไว้มีกำหนดคนละ 2 ปี ยกฟ้องจำเลยที่ 4 และที่ 5 กับข้อหาอื่นสำหรับจำเลยที่ 1, 2, 3, 6, 7 และ 8
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 8 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นฟังลงโทษจำเลยที่1 ที่ 2 และที่ 8 ชอบแล้ว แต่ที่เรียงกระทงลงโทษโดยมิได้แยกประเภทสินค้าออกเป็นกระทงความผิดแล้วลงโทษในบทหนักเป็นการไม่ถูกต้อง พิพากษาแก้เป็นว่าสำหรับสินค้าผ้าและบุหรี่อันเป็นสิ่งของที่อยู่ในความควบคุมนั้น จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่8 มีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องอุปโภคบริโภคและของอื่นๆในภาวะคับขัน พ.ศ. 2488 มาตรา 4, 10, 20 ประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องอุปโภคบริโภคและของอื่นในภาวะคับขัน ฉบับที่ 104 พ.ศ.2524 พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2496 มาตรา 27 พระราชบัญญัติศุลกากร(ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2490 มาตรา 3 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 84, 90ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องอุปโภคบริโภคและของอื่นในภาวะคับขันอันเป็นบทหนัก จำคุกคนละ 6 เดือน และปรับคนละ10,000 บาท ส่วนสินค้าสบู่อันเป็นสินค้าควบคุมนั้นจำเลยที่ 1ที่ 2 และที่ 8 มีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา27 พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2490 มาตรา 3 พระราชบัญญัติกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด พ.ศ. 2522 มาตรา 10, 23, 24,40, 43 ประกาศคณะกรรมการกลางกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2522 ประกาศคณะกรรมการส่วนจังหวัด กำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด จังหวัดตราด ฉบับที่ 9 พ.ศ. 2522ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 84, 90 ให้ลงโทษฐานพยายามนำสินค้าหลบหนีออกนอกราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัติศุลกากรอันเป็นบทหนักให้จำคุกคนละ 4 เดือนและปรับรวม 2 ใน 3 ของสี่เท่าราคาสบู่ของกลางเป็นเงิน 123,733.33 บาทจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 8 มีความผิดฐานพยายามนำสินค้าไม้อัดหลบหนีออกนอกราชอาณาจักร ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 พระราชบัญญัติศุลกากร(ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2490 มาตรา 3 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 84ให้จำคุกคนละ 2 เดือน และปรับรวม 2 ใน 3 ของสี่เท่าราคาไม้อัดของกลางเป็นเงิน 13,333.33 บาท รวม 3 กระทงเป็นจำคุกจำเลยที่ 1ที่ 2 และที่ 8 คนละ 1 ปี และปรับคนละ 10,000 บาท กับปรับรวม137,066.66 บาทนอกจากที่แก้นี้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 8 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 8 เป็นเจ้าของสินค้าบุหรี่ ผ้า สบู่ และไม้อัดของกลาง ซึ่งเป็นสินค้าไม่ต้องห้าม ต้องจำกัดและไม่ต้องเสียภาษีถ้านำออกนอกประเทศสินค้าดังกล่าวได้ผ่านด่านศุลกากรมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร ในขณะบรรทุกลงเรือ ส. เรืองสมุทร 5 ซึ่งเป็นเรือที่ได้รับอนุญาตให้ทำการค้าชายฝั่ง สถานีปลายทางที่ที่นำสินค้าไปส่งคือเกาะพงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี จำเลยที่ 1 ทำหน้าที่เป็นนายท้ายเรือ พนักงานศุลกากรด่านมหาชัยได้ออกใบปล่อยสินค้าตามเอกสารหมายปจ.1 ตามวันเวลาเกิดเหตุ เรือโทไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผู้บังคับการเรือ ต.12 กับพวกได้นำเรือออกตรวจ จับเรือ ส. เรืองสมุทร 5 ยึดบุหรี่ ผ้า สบู่ และไม้อัดดังกล่าวเป็นของกลาง จำเลยที่ 2 ทำหน้าที่เป็นนายท้ายเรือขณะถูกจับ จุดที่จับอยู่ในทะเลห่างจากปลายแหลมเทียนเกาะกูดประมาณ 13 ไมล์ทะเล
ปัญหาวินิจฉัยข้อแรกมีว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 8 พยายามนำสินค้าของกลางซึ่งเป็นของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการทางศุลกากรณ ด่านศุลกากร คลองใหญ่ จังหวัดตราด ออกไปนอกราชอาณาจักรไทยตามฟ้องหรือไม่ ศาลฎีกาพิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์จำเลยแล้วฟังว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 พยายามนำสินค้าบุหรี่ ผ้า สบู่ และไม้อัดของกลางซึ่งยังมิได้ผ่านพิธีการทางศุลกากร ด่านศุลกากรคลองใหญ่จังหวัดตราดโดยถูกต้อง ออกไปนอกราชอาณาจักรไทยมุ่งไปประเทศกัมพูชาโดยการใช้ จ้าง วาน ของจำเลยที่ 8 ซึ่งเป็นเจ้าของสินค้า การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 8 เป็นความผิดฐานพยายามนำสินค้าซึ่งเป็นของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการทางศุลกากรออกไปนอกราชอาณาจักรไทยตามที่โจทก์ฟ้อง
ปัญหาวินิจฉัยข้อ 2 ที่ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 8 ร่วมกันนำสินค้าของกลางซึ่งเป็นสินค้าควบคุมจากจังหวัดสมุทรสาครเข้ามาในเขตจังหวัดตราดและขนย้ายสินค้าดังกล่าวออกนอกเขตจังหวัดตราดโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากผู้ว่าราชการจังหวัดตราดอันเป็นการฝ่าฝืนประกาศคณะกรรมการส่วนจังหวัด กำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาดจังหวัดตราด ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องอุปโภคบริโภคและของอื่นๆในภาวะคับขันพ.ศ. 2488 และพระราชบัญญัติกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด พ.ศ. 2522 หรือไม่ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้จำเลยได้บรรทุกสินค้าต้องควบคุมจากจังหวัดสมุทรสาครเข้ามาในเขตท้องที่ของจังหวัดตราดแล้ว แม้จะปรากฏว่าสินค้ายังอยู่ในเรือที่ได้บรรทุกมายังไม่มีการขนถ่ายสินค้าก็ตาม การกระทำของจำเลยที่ 1, 2 และ 8 ก็เป็นการฝ่าฝืนต่อประกาศของคณะกรรมการส่วนจังหวัดกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาดจังหวัดตราดอันเป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้องแล้ว
ปัญหาวินิจฉัยข้อ 3 ตามที่โจทก์แก้ฎีกาว่า ฎีกาของจำเลยที่1 ที่ 2 และที่ 8 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 นั้น เห็นว่าคดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นทั้งบทมาตราความผิดและกำหนดโทษเป็นการแก้ไขมากจึงไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ส่วนปัญหาข้อสุดท้ายตามฎีกาของโจทก์เกี่ยวกับการปรับบทลงโทษจำเลยนั้น โจทก์ฎีกาว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 8 ฐานร่วมกันพยายามนำสินค้า สบู่ ผ้า บุหรี่ และไม้อัดซึ่งยังมิได้ผ่านด่านศุลกากรโดยถูกต้องออกไปนอกราชอาณาจักรและฐานขนย้ายสบู่อันเป็นสินค้าควบคุมในท้องที่จังหวัดตราดทางทะเล กับฐานขนย้ายผ้าและบุหรี่อันเป็นสิ่งของที่อยู่ในความควบคุมทางทะเลจากท้องที่จังหวัดอื่นเข้ามาในเขตจังหวัดตราดทางทะเล เป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระกัน ควรพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 8 แต่ละกระทงความผิด ซึ่งได้กระทำต่างกรรมต่างวาระกันไม่จำกัดแยกสินค้าออกเป็นประเภท ศาลชอบที่จะลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 8 ทุกกระทงความผิดนั้นเห็นว่า การกระทำของจำเลยในสินค้าแต่ละประเภทเป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยโดยแยกประเภทสินค้าออกเป็นกระทงความผิดแล้วลงโทษบทหนักนั้นชอบแล้ว แต่ที่ศาลอุทธรณ์ปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 8ในความผิดสำหรับสินค้า ผ้า และบุหรี่อันเป็นสิ่งของที่อยู่ในความควบคุมโดยลงโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องอุปโภคบริโภคและของอื่นๆในภาวะคับขันโดยอ้างว่าเป็นบทหนักกับปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 8 ฐานพยายามขนย้ายสบู่อันเป็นสินค้าควบคุม และปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 8 ฐานพยายามนำสินค้าไม้อัดหลบหนีออกนอกราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัติศุลกากรมาตรา 27 โดยให้ปรับ 2 ใน 3 ของสี่เท่าของราคาสินค้านั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ไม่ถูกต้องดังที่โจทก์ฎีกา เพราะความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร มาตรา 27 ไม่ว่าจะเป็นพยายามกระทำความผิดหรือกระทำความผิดสำเร็จก็ตามกฎหมายได้กำหนดโทษไว้เท่ากันคือความผิดครั้งหนึ่งให้ปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งรวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วหรือจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือทั้งปรับทั้งจำ
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับสินค้า ผ้า และบุหรี่อันเป็นเครื่องอุปโภคบริโภคที่อยู่ในความควบคุม จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 8 มีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องอุปโภคบริโภคและของอื่นๆในภาวะคับขัน พ.ศ. 2488 มาตรา 4, 10, 20 ประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องอุปโภคบริโภคและของอื่นในภาวะคับขัน ฉบับที่ 104 พ.ศ. 2524พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2496 มาตรา 27 พระราชบัญญัติศุลกากร(ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2490 มาตรา 3 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 84, 90ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2496 มาตรา 27 พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2490 มาตรา 3 อันเป็นบทหนักให้จำคุกคนละ 6 เดือนและปรับรวมสี่เท่าของราคาผ้าและบุหรี่ของกลางเป็นเงิน 7,070,240 บาท ส่วนสินค้าสบู่อันเป็นสินค้าควบคุมนั้นจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 8 มีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 27 พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2490 มาตรา 3 พระราชบัญญัติกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด พ.ศ. 2522มาตรา 10, 23, 24, 40, 43 ประกาศคณะกรรมการส่วนจังหวัดกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาดจังหวัดตราด ฉบับที่ 9 พ.ศ. 2523ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 84, 90 ให้ลงโทษฐานพยายามนำสินค้าหลบหนีออกนอกราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัติศุลกากรอันเป็นบทหนักให้จำคุกคนละ 4 เดือน และปรับรวมสี่เท่าราคาสบู่ของกลางเป็นเงิน 185,600 บาท กับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 8 มีความผิดฐานพยายามนำสินค้าไม้อัดหลบหนีออกนอกราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2490 มาตรา 3 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 84 ให้จำคุกคนละ 2เดือน และปรับรวมสี่เท่าราคาไม้อัดของกลางเป็นเงิน 20,000 บาทรวม 3 กระทงเป็นจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 8 คนละ 1 ปีและปรับรวม 7,275,840 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.