คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1704/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หลังจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่ตรวจชำระใหม่ ใช้บังคับแล้ว เมื่อไม่ปรากฏว่าได้ทำสัญญาก่อนสมรสในเรื่องทรัพย์สิน ไว้เป็นพิเศษ อำนาจการจัดการที่ดินสินสมรสระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นสามี และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นภรรยาตามฟ้องซึ่งรวมถึงอำนาจการจำหน่ายด้วย ย่อมเป็นอำนาจของโจทก์และจำเลยที่ 1 รวมกันตามมาตรา 1476 และมาตรา 1477 แม้จำเลยที่ 1 จะมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ในโฉนดแต่ผู้เดียว จำเลยที่ 1 ก็ไม่มีอำนาจทำนิติกรรมขายโดยโจทก์ไม่ยินยอม การที่จำเลยที่ 1 แจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานที่ดินว่าจำเลยที่ 1เป็นหญิงหม้ายหย่ากับสามี ยังไม่มีสามีใหม่เจ้าพนักงานที่ดิน จึงจดทะเบียนโอนขายที่ดินตามฟ้องให้แก่จำเลยที่ 2 ย่อมทำให้โจทก์ ได้รับความเสียหาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องในข้อหาดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายจำเลยที่ 2 เป็นหลาน จำเลยทั้งสองร่วมกันนำข้อความซึ่งรู้ว่าเป็นเท็จไปแจ้งแก่เจ้าพนักงานที่ดินว่า จำเลยที่ 1 เป็นหญิงหม้ายหย่ากับสามีประมาณ 6 ปีแล้วและยังไม่มีสามีใหม่ เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานที่ดินหลงเชื่อจึงจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 ความจริงโจทก์กับจำเลยที่ 1 ยังไม่หย่าขาดจากกัน และจำเลยที่ 2ก็รู้ความจริง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 137

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วมีคำสั่งประทับฟ้อง

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137 จำเลยที่ 2 ไม่มีความผิดให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริง และวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า ที่ดินตามฟ้องเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมขายที่ดินตามฟ้องให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2520 ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ใช้บังคับแล้ว ไม่ปรากฏว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากันไว้ในเรื่องทรัพย์สินเป็นพิเศษก่อนสมรสให้จำเลยที่ 1แต่ผู้เดียวมีอำนาจจำหน่ายสินสมรสได้ในขณะจำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมและจดทะเบียนโอนขายที่ดินตามฟ้องให้แก่จำเลยที่ 2 นั้น อำนาจการจัดการที่ดินตามฟ้องซึ่งรวมถึงอำนาจการจำหน่ายด้วยเป็นอำนาจของโจทก์กับจำเลยที่ 1ร่วมกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1476 และมาตรา 1477ที่ได้ตรวจชำระใหม่ แม้จำเลยที่ 1 จะมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินตามฟ้องในโฉนดแต่ผู้เดียว จำเลยที่ 1 ก็ไม่มีอำนาจทำนิติกรรมขายที่ดินตามฟ้องโดยโจทก์ไม่ยินยอม ที่เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนโอนขายที่ดินตามฟ้องให้แก่จำเลยที่ 2 ตามความประสงค์ของจำเลยที่ 1 ก็เพราะจำเลยที่ 1 แจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานที่ดินว่าจำเลยที่ 1 เป็นหญิงหม้ายหย่ากับสามีประมาณ6 ปี ยังไม่มีสามีใหม่ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโจทก์จึงอำนาจฟ้อง ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

Share