แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยในข้อหาตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ยกฟ้องข้อหาพยายามฆ่า โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดข้อหาพยายามฆ่าด้วย จำเลยฎีกาเพียงว่าศาลอุทธรณ์กำหนดโทษรุนแรงเกินไป ดังนี้ เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์ยังไม่พอฟังลงโทษจำเลยในความผิดข้อหาพยายามฆ่าแล้ว ก็มีอำนาจยกฟ้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 185 ประกอบด้วยมาตรา 215 และมาตรา 225 ส่วนข้อหาตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ นั้น ปรากฏว่า โจทก์จำเลยต่างไม่อุทธรณ์จึงเป็นยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ฎีกาของจำเลยในความผิดดังกล่าวจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีอาวุธปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและใช้อาวุธปืนนั้นยิงพยายามฆ่านายประสิทธิ์ ช่างเขียนขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 7, 72 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 80 จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ จำคุก 8 เดือน ยกฟ้องข้อหาพยายามฆ่า โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดฐานพยายามฆ่าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80 อีกด้วย ให้จำคุก10 ปี รวมเป็นจำคุก 10 ปี 8 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยฎีกาว่าศาลอุทธรณ์กำหนดโทษรุนแรงเกินไป
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายและนางพเยาว์ ประกอบกับแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุว่าขณะจำเลยถือปืนจ้องไปทางผู้เสียหาย และร้องท้าทายผู้เสียหายให้ออกมายิงกันนั้น ผู้เสียหายนั่งดื่มสุราอยู่ที่โต๊ะใกล้ประตูหน้าร้าน ระหว่างจำเลยและผู้เสียหายไม่มีอะไรบังเห็นว่าหากจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายจริงแล้วจำเลยก็น่าจะยิงผู้เสียหายเสียแต่แรกที่จ้องปืนไปทางผู้เสียหาย หาจำต้องร้องท้าทายกันก่อนไม่ ในเรื่องเสียงดังแช๊ะ ที่โจทก์นำสืบว่าเป็นเสียงเกิดจากจำเลยสับไกปืนยิงผู้เสียหายนั้น นางสาวน้ำฝน พยานโจทก์ซึ่งอยู่ในที่เกิดเหตุเบิกความว่า เมื่อสิ้นเสียงนางเพชรรัตน์ร้องบอกว่าจำเลยเอาปืนมาแล้ว ก็มีเสียงดังแช๊ะเลย ซึ่งแตกต่างกับคำเบิกความของประจักษ์พยานโจทก์ทั้งสองที่ว่ามีการร้องท้าทายกันก่อนดังกล่าวข้างต้น นอกจากนี้ในเรื่องสาเหตุที่โจทก์นำสืบว่า จำเลยไม่พอใจที่ผู้เสียหายพูดว่าเวลาจำเลยฉีดยาเสพติดเข้าเส้นทำไมไม่กลัวตายก็เบาบางจนไม่น่าจะทำให้จำเลยเกิดความแค้นจนถึงกับจะต้องฆ่าผู้เสียหาย ทั้งเมื่อผู้เสียหายพูดกระทบจำเลยดังกล่าว ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยแสดงอาการไม่พอใจแต่อย่างใด ที่โจทก์นำสืบต่อไปว่ากระสุนปืนลูกซองที่พบบริเวณหน้าบ้านจำเลย ท้ายชนวนกระสุนปืนมีรอยเข็มชนวนตีเกิดจากการที่จำเลยสับไกปืนยิงผู้เสียหาย นั้นได้ตรวจดูบันทึกการตรวจค้นจับกุม ตามเอกสารหมาย จ.2 แผ่นแรกแล้วปรากฏว่าข้อความที่เกี่ยวกับของกลางที่ตรวจพบรายการที่ 1 คืออาวุธปืนลูกซองสั้นนั้น สีหมึกแตกต่างจากข้อความตอนอื่น และรายการของกลางรายการที่ 2 มีการแก้ไขจากเลข 1 เป็นเลข 2 อย่างเห็นได้ชัดข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่า ขณะเขียนบันทึกการจับกุมแผ่นแรกเจ้าหน้าที่ตำรวจคงตรวจพบเพียงกระสุนปืนลูกซองเท่านั้น เมื่ออ่านบันทึกการจับกุมให้จำเลยฟังว่า จับจำเลยในข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่นตามที่ปรากฏในบันทึกการจับกุมดังกล่าว จำเลยได้ให้การปฏิเสธว่ากระสุนปืนของกลางไม่ใช่ของตน และได้นำเจ้าหน้าที่ตำรวจไปเอาอาวุธปืนของจำเลยที่ซุกซ่อนไว้ เพื่อขอให้กองพิสูจน์หลักฐานตรวจสอบว่าเป็นลูกกระสุนปืนที่ใช้ยิงมาจากปืนของตนจริงหรือไม่ ดังปรากฏข้อความในบันทึกการจับกุมแผ่นที่ 2 แล้ว แต่ก็ไม่ได้มีการตรวจพิสูจน์ในเรื่องนี้ จากพฤติการณ์ที่จำเลยกล้านำเจ้าหน้าที่ตำรวจไปเอาอาวุธปืนของจำเลยซึ่งไม่มีหมายเลขทะเบียนมาให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อให้ตรวจพิสูจน์กับกระสุนปืนของกลางย่อมแสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่า จำเลยมีความมั่นใจว่า รอยเข็มชนวนตีท้ายชนวนกระสุนปืนของกลางมิได้เกิดจากการยิงจากปืนของจำเลย เพราะการนำเจ้าหน้าที่ตำรวจไปเอาอาวุธปืนไม่มีหมายเลขทะเบียนที่จำเลยซุกซ่อนไว้นั้นเป็นที่แน่นอนว่าจำเลยจะต้องได้รับโทษทางอาญาฐานมีอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตอยู่แล้ว และหากมีการตรวจพิสูจน์พบว่ากระสุนปืนของกลางใช้ยิงจากปืนของจำเลยก็เป็นหลักฐานมัดตัวจำเลยในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายอีกด้วย ทั้งในเรื่องกระสุนปืนของกลางนี้จำเลยก็ได้ให้การปฏิเสธมาตั้งแต่ในชั้นสอบสวนตลอดถึงชั้นพิจารณาว่าไม่ใช่ของจำเลย โดยอ้างว่าจำเลยถูกผู้เสียหายยิงแต่กระสุนปืนไม่ลั่นด้วย พยานหลักฐานของโจทก์ดังได้วินิจฉัยมายังเป็นที่น่าสงสัยข้อเท็จจริงยังไม่เพียงพอที่จะฟังว่า จำเลยได้ถือปืนจ้องไปทางผู้เสียหายและลั่นไกปืนดังที่โจทก์นำสืบ แม้จำเลยจะมิได้ฎีกาในปัญหานี้มาด้วย แต่เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์ยังไม่พอฟังลงโทษจำเลยในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาแล้ว ก็มีอำนาจยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 ประกอบด้วยมาตรา 215และมาตรา 225
ที่จำเลยฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์กำหนดโทษรุนแรงนั้น เห็นว่าสำหรับความผิดฐานมีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน โดยไม่ได้รับอนุญาตโจทก์และจำเลยต่างไม่อุทธรณ์ คดีเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นฎีกาของจำเลยในความผิดฐานดังกล่าว จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์ยังไม่พอฟังลงโทษจำเลยแล้ว ฎีกาของจำเลยในข้อนี้จึงไม่จำต้องวินิจฉัย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์”