แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน การที่จำเลยได้ที่ดินพิพาทมาอยู่ในโฉนดที่ทำขึ้นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำโดยชอบหรือมิชอบของโจทก์หรือเจ้าพนักงานผู้ที่เกี่ยวข้อง และแม้จำเลยจะได้ครอบครองที่ดินดังกล่าวเป็นเวลานานเท่าใด เมื่อมิใช่เป็นการได้มาโดยอำนาจแห่งกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกาตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1305 แล้วจำเลยก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ ทั้งไม่อาจอ้างสิทธิใด ๆ ขึ้นมาเป็นข้อต่อสู้กับโจทก์ผู้ดูแลรักษาสาธารณสมบัติของแผ่นดินได้ไม่ว่าในทางใด การออกโฉนดของจำเลยส่วนที่ทับที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินจึงเป็นการออกไม่ชอบ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 2848แขวงบางค้อ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 1เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดที่ 2847 แขวงบางค้อ เขตบางขุนเทียนกรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่ติดกับที่ดินแปลงดังกล่าวของโจทก์ จำเลยที่ 2เป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ 2847 จากจำเลยที่ 1เดิมที่ดินโฉนดที่ 2848 จังหวัดธนบุรี ซื้อจากนางพัน เพียรพร้อมเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2499 เพื่อใช้ตัดถนนสายดาวคนอง-จอมทองต่อมาจังหวัดธนบุรีได้นำที่ดินแปลงดังกล่าวของโจทก์ไปทำถนนเรียกว่าถนนสายดาวคนอง-จอมทอง เมื่อตัดถนนเสร็จที่ดินแปลงดังกล่าวยังมีที่ดินเหลืออีก 138 ตารางวา ซึ่งจะต้องไว้ใช้เป็นที่จอดรถสำหรับประชาชนใช้ร่วมกัน และในกรณีจะเป็นจะใช้เป็นที่สาธารณะสายดาวคนอง-จอมทอง ต่อไป ที่ดินแปลงดังกล่าวของโจทก์ทั้งแปลงจึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันแต่ก่อนที่โจทก์จะได้นำที่ดินส่วนที่เหลือมาใช้ประโยชน์ตามเจตนาดังกล่าว ห้างหุ้นส่วนจำกัดวัจนะกุลขนส่ง โดยจำเลยที่ 1 ได้ขอเช่าที่ดินส่วนที่เหลือซึ่งติดกับของจำเลยที่ 1 จำนวนเนื้อที่26 ตารางวา เพื่อใช้เป็นทางเข้าออกสำหรับรถยนต์ของจำเลยที่ 1ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ทำการรังวัดที่ดินโฉนดที่ 2847 แล้วฉ้อฉลเบียดบังเอาที่ดินบริเวณที่จำเลยที่ 1 ได้เช่าดังกล่าว และที่ดินต่อเนื่องจากบริเวณที่เช่าในแปลงเดียวกันไปเป็นเนื้อที่ 66 ตารางวาโดยวิธีการแสดงให้เจ้าหน้าที่ของโจทก์เข้าใจว่าเขตที่ดินของโจทก์อยู่ตรงจุดและบริเวณที่จำเลยที่ 1 ชี้อ้างว่าเป็นเขตติดต่อระหว่างที่ดินของโจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำให้เจ้าพนักงานที่ดินผู้มีอำนาจหน้าที่รังวัดและออกโฉนดเข้าใจว่าอาณาเขตที่ดินของโจทก์และจำเลยที่ 1 อยู่ ณ จุดที่ชี้ร่วมกันซึ่งไม่ตรงกับความเป็นจริง จำเลยที่ 1จึงเข้าครอบครองทีดินจำนวนเนื้อที่ 66 ตารางวา ของโจทก์โดยมิชอบเมื่อจำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวให้จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงไม่มีกรรมสิทธิ์เหนือที่ดินของโจทก์ ในส่วนที่จำเลยที่ 1เบียดบังไป ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2522 โจทก์ได้ขอรังวัดตรวจสอบที่ดินของโจทก์แต่การรังวัดไม่เป็นผล เพราะจำเลยทั้งสองคัดค้านการนำชี้แนวเขตของโจทก์ ขอให้ศาลมีคำสั่งว่า การรังวัดสอบเขตที่ดินโฉนดที่ 2847 เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2519 เป็นโมฆะ และมีคำสั่งให้เพิกถอนการรังวัดที่ดินของจำเลยที่ 1 ครั้งดังกล่าวเสีย กับมีคำสั่งว่าการซื้อขายที่ดินโฉนดที่ 2847 ระหว่าง จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2เป็นโมฆะเฉพาะส่วนที่ดินของโจทก์ ให้จำเลยทั้งสองออกจากที่ดินพิพาทของโจทก์และให้เจ้าพนักงานที่ดิน สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครสาขาธนบุรีดำเนินการรังวัดและกำหนดแนวเขตที่ดินของโจทก์ต่อไปจำเลยที่ 1 ให้การว่า นางมาลี นิ่มเสมอ บุตรจำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินโฉนดที่ 2847 จากนางพัน เพียรพร้อม และนางพวง เพียรพร้อมตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2506 ต่อมานางมาลีได้โอนขายที่ดินโฉนดที่ 2847 ให้จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2510 จำเลยที่ 1จึงเข้าครอบครองสืบต่อจากนางมาลีมาเป็นเวลากว่า 10 ปี ไม่มีบุคคลโต้แย้งคัดค้าน ต่อมาผู้ว่าราชการจังหวัดธนบุรีได้ขอให้ทำการรังวัดตรวจสอบเนื้อที่ดินโฉนดที่ 2848 จำเลยที่ 1 ได้ไประวังแนวเขตและชี้เขตตามแนวรั้วของจำเลยที่ 1 ซึ่งทำไว้ ผู้แทนผู้ว่าราชการจังหวัดธนบุรีไม่คัดค้าน เมื่อเจ้าพนักงานขึ้นรูปแผนที่และคำนวณเนื้อที่ตามขอบเขตที่นำทำการรังวัดใหม่แล้วได้เนื้อที่ทั้งหมดคือเนื้อที่ซึ่งตัดเป็นถนนกับเนื้อที่ซึ่งเหลือจากที่ตัดเป็นถนนได้ 1 ไร่ 10 ตารางวา เกินจากโฉนดเดิมไปถึง 58 ตารางวา ส่วนที่ดินโฉนดที่ 2847 นั้น ได้รับโฉนดครั้งแรกเมื่อ ร.ศ. 124 เป็นเนื้อที่2 งาน 60 ตารางวา เมื่อ พ.ศ. 2470 เจ้าของที่ดินได้ยื่นคำขอสอบเขตเจ้าพนักงานได้ขึ้นรูปแผนที่และคำนวณเนื้อที่ตามที่นำทำการรังวัดปักหลักเขตใหม่ได้เนื้อที่ 2 งาน 18 ตารางวา น้อยกว่าเดิม 42 ตารางวา เจ้าพนักงานได้จำลองแผนที่ตามขอบเขตที่ทำการรังวัดปักหลักเขตใหม่นั้นไปปิดในหลังโฉนดและแก้เนื้อที่ให้ลดลงจากเดิมตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2470 ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2519 จำเลยที่ 1ได้ยื่นขอสอบเขตอีกเพื่อแบ่งหักที่ดินเป็นสาธารณประโยชน์ทางทิศตะวันออกตลอดแนว ซึ่งได้ใช้เป็นทางกันมาช้านานแล้วนั้นออกเพื่อทราบจำนวนที่ดินที่เหลือเพื่อขายให้จำเลยที่ 2 เจ้าพนักงานได้นัดไปทำการรังวัดในวันที่ 24 ธันวาคม 2519 ได้ปฏิบัติถูกต้องตามระเบียบและกฎหมาย จำเลยที่ 1 นำชี้ตามแนวรั้วของจำเลยที่ 1 เจ้าของที่ดินข้างเคียงทุกรายรวมทั้งที่ดินโฉนดที่ 2848 ของจังหวัดธนบุรี ได้นำเจ้าพนักงานทำการรังวัดและลงลายมือชื่อรับรองเขตกันไว้เป็นหลักฐานตามแนวที่ผู้แทนผู้ว่าราชการจังหวัดธนบุรีได้นำทำการรังวัดปักหลักเขตไว้เมื่อ พ.ศ. 2513 ไม่มีการโต้แย้ง และจำเลยที่ 1 ได้นำรังวัดแบ่งแยกที่ดินออกเป็นทางสาธารณประโยชน์ทางทิศตะวันออกตามสภาพของทางที่มีอยู่ในที่ดินดังกล่าวด้วย เมื่อเจ้าพนักงานขึ้นรูปแผนที่และคำนวณเนื้อที่ตามขอบเขตที่ทำการรังวัดได้เนื้อที่ 2 งาน 16 ตารางวา ลดลงจากเนื้อที่ซึ่งแก้ไขใหม่แล้วดังกล่าวอีก 2 ตารางวาจำเลยที่ 1 จึงได้ไปจดทะเบียนแบ่งหักเป็นทางสาธารณประโยชน์2 ตารางวา และเจ้าพนักงานได้แก้เนื้อที่ที่เหลือเป็น 2 งาน 14 ตารางวา แล้วจำเลยที่ 1 ขายให้จำเลยที่ 2 ไปเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2520 ขอให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 2 ได้ซื้อที่ดินโฉนดที่ 2847 จากจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 9พฤษภาคม 2520 จำเลยที่ 2 เชื่อด้วยความสุจริตว่าที่ดินตามแนวเขตที่จำเลยที่ 1 นำชี้เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 โดยชอบด้วยกฎหมายจำเลยที่ 2 จึงรับซื้อและครอบครองด้วยความสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาเป็นเวลากว่าสิบปีแล้ว ขอให้ยกฟ้องโจทก์และพิพากษาว่าที่ดินโฉนดที่ 2847 ตำบลบางค้อ อำเภอบางขุนเทียนกรุงเทพมหานคร เป็นไปตามขอบเขตตามแผนที่หลังโฉนดที่ 2847ซึ่งเจ้าพนักงานทำการรังวัดสอบเขตเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2519 และเขตที่ดินโฉนดที่ 2848 เป็นไปตามที่นำทำการรังวัดปักหลักเขตไว้เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2513 ห้ามโจทก์และบริวารเข้าไปเกี่ยวข้องในที่ดินของจำเลยที่ 2 อีกต่อไปและให้ถือว่า การนำรังวัดรวมโฉนดและแบ่งแยกที่จำเลยที่ 2 นำรังวัดไว้เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2521 สำหรับด้านติดกับที่ดินโฉนดที่ 2848 เป็นการถูกต้องแล้ว โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ขอปฏิเสธฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 ทั้งสิ้นและขอถือเอาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายตามฟ้องเดิมของโจทก์เป็นคำให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าการรังวัดที่ดินของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2519 เป็นโมฆะให้เจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาธนบุรี เพิกถอนการรังวัดสอบเขตที่ดินโฉนดที่ 2847 เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2519 และการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน โฉนดที่ 2847 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2เป็นโมฆะเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับที่ดินของโจทก์ คำขออื่นให้ยก จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ที่ดินพิพาทตามแผนที่พิพาทเอกสารหมาย จ.ล.1 เป็นของจำเลยที่ 2 ห้ามโจทก์เข้าเกี่ยวข้องคำขอของจำเลยที่ 2 นอกจากนี้ให้ยก และให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ศาลชั้นต้นวินิจฉัยเกี่ยวกับที่ดินแปลงพิพาทของโจทก์ว่า ที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 2484เป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน จำเลยมิได้อุทธรณ์หรือกล่าวในคำแก้ฎีกาว่ามิใช่ที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน คงกล่าวอ้างแต่เพียงว่าส่วนที่พิพาทกันนั้นไม่อยู่ในเขตโฉนดดังกล่าวเท่านั้น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า ที่ดินของโจทก์ตามโฉนดเลขที่ 2848 นอกเหนือจากส่วนที่พิพาทกันนั้นเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยคือ ที่ดินที่พิพาทจำนวน 66 ตารางวา ตามแผนที่พิพาทเอกสารหมาย จ.ล.1 หรือ จ.3 นั้น อยู่ในเขตโฉนดดังกล่าวและเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ พิเคราะห์แล้วตามแผนที่ระวาง (สำเนาแผนที่ข้าหลวง) เอกสารหมาย จ.11 นั้น ที่ดินของโจทก์เป็นที่ดินเลขที่ 36ที่ดินของจำเลยที่ 2 อยู่ทางเหนือเป็นที่ดินเลขที่ 33 ตามแผนที่ดังกล่าวที่ดินทั้งสองแปลงติดกันในแนวขนานและรูปที่ดินเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ที่ดินเลขที่ 32 ที่อยู่ติดกับที่ดินเลขที่ 33ทางด้านทิศเหนือเป็นของจำเลยเช่นกัน ที่ดินของโจทก์นั้นเมื่อทำถนนอพยพก่อนที่จะขยายมาเป็นถนนสายดาวคนอง-จอมทอง นั้น มีที่ดินทางด้านทิศเหนือเหลืออยู่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดวัจนะกุลขนส่ง เคยเช่าที่ดินของโจทก์แปลงนี้ส่วนที่เหลือจากการทำถนนทางด้านทิศตะวันออกตามสัญญาเช่าที่ดินของจังหวัดธนบุรี เอกสารหมาย จ.5 ตามคำเบิกความของนายประมูลพ่วงพงษ์ ซึ่งเคยรับราชการที่อำเภอบางขุนเทียน เมื่อ พ.ศ. 2474ได้ความว่าทางจังหวัดธนบุรีได้ซื้อที่ดินที่พิพาทมาจากนางพันเพียรพร้อม เมื่อซื้อมาแล้วทางการยังไม่ทำถนนทันทีเพียงแต่ทำเป็นทางให้ประชาชนเดินได้ ส่วนที่เหลือจากการทำเป็นทางให้ขุนภักดีนรารักษ์เช่าที่ดินส่วนที่เช่ากว้างประมาณ 6 เมตร ยาวประมาณ 80 เมตร นายประมูลไม่มีส่วนได้เสียกับคู่ความฝ่ายใดคำขอนายประมูลนี้ทำให้เห็นข้อเท็จจริงที่ไม่อาจโต้แย้งได้ประการแรกคือที่ดินที่โจทก์ซื้อมาจากนางพันนั้น ส่วนที่เหลือจากการทำถนนนั้นเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ถนนที่ตัดผ่านที่ดินที่โจทก์ซื้อมาจากทางตะวันออกไปทางตะวันตกนั้นต้องเป็นแนวขนานกับที่ดินของโจทก์ที่เหลืออยู่ ดังนั้น แม้ต่อมาจะมีการขยายถนนตามแนวคูข้างถนน ถนนที่ขยายออกมาก็ต้องขนานกับที่ดินของโจทก์ที่เหลืออยู่เพราะการขยายถนนในแนวตรงนั้นจะต้องขยายออกไปเป็นส่วนที่เท่ากันทางราชการคงไม่ขยายถนนในส่วนกว้างของถนนไม่เท่ากันเป็นแน่เมื่อพิจารณาจากแผนที่พิพาทเอกสารหมาย จ.ล.1 และ จ.3 ถ้าที่ดินของจำเลยที่ 2 โฉนดเลขที่ 2847 เป็นไปตามรูปแผนที่ในเส้นสีเขียวดังที่จำเลยที่ 2 นำชี้แล้ว ที่ดินของโจทก์ตามโฉนดเลขที่ 2848เหลือเป็นรูปสามเหลี่ยมชายธง โดยทางด้านทิศตะวันออกเป็นชายธงและที่ดินของจำเลยที่ 2 อยู่ติดกับถนนสายดาวคนอง-จอมทอง จึงเป็นการขัดแย้งกับรูปแผนที่ที่ควรจะเป็นไปตามที่กล่าวข้างต้น ถ้าที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือจากการทำถนนทางด้านทิศเหนืออยู่ในแนวเส้นสีแดงในแผนที่พิพาทแล้วรูปแผนที่ก็จะตรงกับความจริงที่มีอยู่ก่อนที่จะเกิดกรณีพิพาท ข้อนี้เป็นเหตุประการแรกที่จะเป็นข้อแสดงให้เห็นว่าที่ดินของจำเลยที่ 2 นั้น โดยแท้จริงไม่ใช่ตามที่จำเลยที่ 2 นำชี้ในแผนที่พิพาท อีกประการหนึ่งนั้นคือ ที่ดินของโจทก์ทางทิศตะวันออกที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดวัจนะกุลขนส่งเคยเช่าตามสัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.5 นั้น กำหนดอาณาเขตที่ดินที่เช่าทิศเหนือ ทิศใต้ยาว 8 วาทิศตะวันออก ทิศตะวันตกยาว 3 วา 1 ศอก โดยทางทิศตะวันตกติดต่อกับที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือทางทิศเหนือติดต่อกับที่ดินของห้างหุ้นส่วนวัจนะกุลขนส่ง (คือที่ดินของจำเลยที่ 2 ในปัจจุบัน)แสดงว่าส่วนที่ห้างวัจนะกุลขนส่งเช่านั้นเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าถ้าที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือทางด้านทิศตะวันออกถูกตัดเป็นถนนทั้งหมดด้วย คงไม่เหลือเป็นรูปสามเหลี่ยมชายธงเล็กตามที่ปรากฏในแผนที่พิพาทหมาย จ.ล.1 และ จ.3 เหตุอีกประการหนึ่งคือที่จำเลยที่ 2นำชี้เขตที่ดินของตนตามเอกสารหมาย จ.ล.1 และ จ.3 นั้น ส่วนทางทิศตะวันออกมีส่วนที่เป็นฟุตบาทริมถนน ถนนสายดาวคนอง-จอมทองตัดมุมที่เล็กน้อย ถ้าเป็นดังนั้นจริงก็ต้องมีการให้ความยินยอมของจำเลยก่อนที่จะมีการทำฟุตบาทริมถนนดังกล่าว แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏจากคำเบิกความของจำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 2 เลยว่าได้เข้าไปโต้แย้งหรือคัดค้านในการที่ทางราชการตัดถนนและทำฟุตบาทผ่านมุมที่ของตนคงมีแต่ข้อเท็จจริงที่ว่าโจทก์ไม่รับรองแนวเขตโฉนดของจำเลยเพราะรุกล้ำที่สาธารณะ ทั้งข้อเท็จจริงได้ความจากการนำสืบของจำเลยว่ามีการรังวัดสอบเขตและทำแผนที่สำหรับที่ดินเลขที่ 32 ซึ่งติดต่อกับที่ดินเลขที่ 33 ที่เป็นกรณีพิพาททางทิศเหนือที่ดินทั้งสองแปลงนี้เป็นของจำเลยที่ 1 มาแต่เดิม และหลังจากมีการรังวัดสอบเขตทำแผนที่ใหม่ แล้วที่ดินเลขที่ 32 มีเนื้อที่เพิ่มขึ้น 58 ตารางวาเป็นจำนวนเนื้อที่ที่ใกล้เคียงกับจำนวนเนื้อที่ดินของโจทก์ที่ขาดหายไป 66 ตารางวา กรณีจึงน่าเชื่อว่าเหตุที่ทำให้รูปแผนที่ที่ดินของจำเลยที่ 2 ในเอกสารหมาย จ.ล.1 และ จ.3 เปลี่ยนแปลงไปเนื่องมาจากรูปแผนที่เดิมของที่ดินแปลงนี้เข้าไปอยู่ในรูปแผนที่ใหม่ของที่ดินแปลงนี้เข้าไปอยู่ในรูปแผนที่ใหม่ของที่ดินเลขที่ 32 และเพื่อให้รูปแผนที่ของที่ดินเลขที่ 33 ซึ่งปัจจุบันเป็นของจำเลยที่ 2คงรูปเดิมจึงได้รุกล้ำเข้ามาในที่ดินสาธารณะของโจทก์ที่ปล่อยปละละเลยไว้ รูปแผนที่ตามโฉนดของจำเลยที่ 2 ที่จัดทำขึ้นใหม่ก็มีข้อโต้แย้งกันมาแต่ต้น เมื่อรูปแผนที่ขัดแย้งกับรูแผนที่เดิมซึ่งคู่ความไม่อาจจะเปลี่ยนได้เช่นนี้ รูปแผนที่ที่ทำใหม่จึงไม่อาจที่จะใช้เป็นหลักในการค้นหาความจริงได้ ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากหลักฐานของแผนที่ระวางและแผนที่ในโฉนดเดิมดังกล่าวจึงเห็นได้เป็นการแน่ชัดว่าเขตที่ดินของโจทก์ทางทิศเหนืออยู่ในแนวเส้นสีแดงตามแผนที่พิพาทหมาย จ.ล.1 และ จ.3 ที่ดินของจำเลยที่ 2 ตามที่ปรากฏในแผนที่ในโฉนดที่ทำขึ้นใหม่จึงเป็นการรุกล้ำที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 2484 ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ข้อที่จำเลยกล่าวขึ้นเป็นข้อต่อสู้เป็นประการสำคัญคือ ข้อที่ว่าเจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้มีการรับรองแนวเขตถูกต้องและเจ้าพนักงานที่ดินได้ทำแผนโฉนดขึ้นโดยถูกต้องและเจ้าพนักงานที่ดินได้ทำแผนที่ตามโฉนดขึ้นโดยถูกต้องนั้น ในเมื่อที่พิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินดังที่กล่าวข้างต้นแล้ว การที่จำเลยได้ที่ดินที่พิพาทมาอยู่ในโฉนดนั้นไม่ว่าจะเป็นการทำโดยชอบหรือมิชอบของโจทก์หรือเจ้าพนักงานผู้ที่เกี่ยวข้องก็ตามและแม้จะได้ครอบครองที่สาธารณประโยชน์หรือไม่อย่างไรเป็นเวลานานเท่าใด เมื่อมิใช่เป็นการได้มาโดยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกาตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1305 แล้ว จำเลยก็หาได้กรรมสิทธิ์ในสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นแต่ประการใดไม่ ทั้งไม่อาจอ้างสิทธิอย่างใด ๆ ขึ้นมาเป็นข้อต่อสู้กับโจทก์ผู้ดูแลรักษาสาธารณสมบัติของแผ่นดินได้ไม่ว่าในทางใด การออกโฉนดของจำเลย ส่วนที่ทับที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินจึงเป็นการออกไม่ชอบ คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น