แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่ผู้ร้องที่ 1 นำสืบพยานบุคคลและพยานเอกสารคือสำเนาสูติบัตร สำเนาใบสำคัญการหย่าเพื่อแสดงว่าผู้ร้องที่ 1 กับ จำเลยที่ 2 จดทะเบียนสมรสกันจริงพนักงานเจ้าหน้าที่จึงจดทะเบียนการหย่าให้ กับนำสืบสำเนาหนังสือยินยอมว่าในวันที่จำเลยที่ 2 ไปจดทะเบียนซื้อและจำนองที่ดินกับบ้านนั้น ผู้ร้องที่ 1 ให้ความยินยอมแล้วดังนี้ผู้ร้องมิได้นำสืบพยานบุคคลเพียงอย่างเดียว แม้มิได้นำทะเบียนสมรสมาแสดง ก็ไม่ใช่การนำสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสารไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 เมื่อการจดทะเบียนสมรสระหว่างผู้ร้องที่ 1 กับจำเลยที่ 2เกิดขึ้นก่อนวันที่จำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินและบ้านพิพาท ที่ดินและบ้านพิพาทจึงเป็นสินสมรส.
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินให้โจทก์จำนวน 450,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ย ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์โจทก์ได้ขอหมายบังคับคดี และนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างคือ บ้าน 1 หลัง อ้างว่าเป็นทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์ ต่อมาผู้ร้องทั้งสองได้ยื่นคำร้องว่าเดิมผู้ร้องที่ 1 เป็นภริยาของจำเลยที่ 2 โดยชอบด้วยกฎหมาย ปัจจุบันได้จดทะเบียนหย่ากันแล้ว ผู้ร้องที่ 2เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ร้องที่ 1 และจำเลยที่ 2 ที่ดินและบ้านพิพาทเป็นทรัพย์ที่ได้มาระหว่างการสมรสของผู้ร้องที่ 1กับจำเลยที่ 2 โดยผู้ร้องที่ 1 และจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกันซื้อมาผู้ร้องที่ 1 และที่ 2 จึงมีส่วนเป็นเจ้าของทรัพย์พิพาทกึ่งหนึ่งขอให้ศาลมีคำสั่งให้กันส่วนของผู้ร้องทั้งสองออกกึ่งหนึ่งของทรัพย์พิพาทก่อนนำไปชำระหนี้ให้แก่โจทก์ด้วย
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องที่ 1 ไม่ใช่ภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 2 เนื่องจากผู้ร้องที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ไม่เคยจดทะเบียนสมรสกัน ผู้ร้องที่ 2 ไม่ใช่บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 2 ที่ดินและบ้านพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2แต่ผู้เดียวผู้ร้องทั้งสองไม่มีส่วนเป็นเจ้าของทรัพย์พิพาท ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้องที่ 1 และที่ 2
ผู้ร้องทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็ฯว่า ให้กันส่วนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินและบ้านพิพาทกึ่งหนึ่งให้แก่ผู้ร้องที่ 1 กับให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้ร้องที่ 1 ทั้งสองศาล นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อที่โจทก์ฎีกาว่า ผู้ร้องที่ 1 มิได้นำทะเบียนสมรสมาแสดงเพียงแต่นำสืบพยานบุคคลแทนเอกสารคือทะเบียนสมรสเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 94 และเป็นการไม่แน่นอนว่า การจดทะเบียนสมรสเกิดขึ้นเมื่อใด การจดทะเบียนสมรสอาจเกิดขึ้นภายหลังจำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินและบ้านพิพาทแล้วก็ได้นั้น เห็นว่าผู้ร้องที่ 1 มิได้นำสืบพยานบุคคลแต่อย่างเดียว แต่ได้นำสืบเอกสาร คือ สำเนาสูติบัตรเอกสารหมาย ร.1 และสำเนาใบสำคัญการหย่าเอกสารหมาย ร.10 ด้วย จากเอกสารทั้งสองฉบับแสดงให้เห็นว่า ผู้ร้องที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนสมรสกันจริง พนักงานเจ้าหน้าที่จึงจดทะเบียนการหย่าให้และการสมรสได้เกิดขึ้นก่อนเด็กหญิงจิตตมา สุธีระตฤษณา เกิด คือก่อนวันที่ 29 ตุลาคม 2519 นอกจากนั้น จากสำเนาหนังสือยินยอมเอกสารหมาย ป.จ.3 ก็แสดงว่า ในวันที่จำเลยที่ 2 ไปจดทะเบียนซื้อและจำนองที่ดิน และบ้านพิพาท คือวันที่ 13 กันยายน 2521 นั้นผู้ร้องที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 2 ได้ให้ความยินยอมแล้ว การนำสืบเอกสารดังกล่าวไม่ใช่การนำสืบพยานบุคคลแทนเอกสาร จึงไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 94 และเป็นการนำสืบที่แน่นอนว่า การจดทะเบียนสมรสระหว่างผู้ร้องที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่จำเลยที่ 2ซื้อที่ดินและบ้านพิพาท ที่ดินและบ้านพิพาทจึงเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.