คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4719/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

องุ่นพันธุ์มะตะแขกแม้จะเป็นพืชที่มีอายุสั้นและสามารถเก็บเกี่ยวครั้งแรกได้ภายใน 12 เดือนแต่ก็เป็นพืชที่ต้องการน้ำมาก จึงไม่เป็นพืชไร่ ที่ดินซึ่งปลูกองุ่นพันธุ์ดังกล่าวไม่เป็นนาอันจะได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524.

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องขอให้บังคับจำเลยโอนขายที่ดินเนื้อที่10 ไร่ราคา 8,100 บาทให้โจทก์ที่ 1 และโอนขายที่ดินเนื้อที่4 ไร่ราคา 32,400 บาทให้โจทก์ที่ 2 โดยอ้างว่าโจทก์ทั้งสองเช่าที่ดินดังกล่าวจากเจ้าของเดิมปลูกองุ่นและได้รับความคุ้มครองจากพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ.2524จำเลยรับโอนที่ดินจากเจ้าของเดิมโจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิซื้อที่ดินจากจำเลย
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การว่าโจทก์ทั้งสองบุกรุกที่ดินพิพาทโดยเจ้าของที่ดินคนเดิมไม่ทราบโจทก์ทั้งสองปลูกชมพู่ซึ่งเป็นไม้ยืนต้นจึงไม่ได้รับความคุ้มครองจากพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ.2524 และโจทก์ทั้งสองมิได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายดังกล่าวในการขอซื้อที่ดินคืนจึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยโอนขายที่ดินในส่วนที่โจทก์ทั้งสองครอบครองทำประโยชน์อยู่ให้โจทก์ทั้งสองหากจำเลยไม่ไปทำการโอนให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าพยานหลักฐานโจทก์ไม่พอฟังว่าองุ่นที่โจทก์ปลูกเป็นพืชไร่ตามความหมายในพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ.2524 โจทก์จึงไม่ได้รับความคุ้มครองจากพระราชบัญญัติดังกล่าวพิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ทั้งสองสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงในคดีฟังได้ว่าองุ่นพันธุ์มะตะแขกที่โจทก์ทั้งสองปลูกในที่ดินพิพาทเป็นพืชที่ต้องการน้ำมากใช้เวลาปลูก 8-10 เดือนจะเก็บผลได้และมีอายุถึง3 ปีก็ตายดังนั้นแม้องุ่นพันธุ์ดังกล่าวจะเป็นพืชที่มีอายุสั้นและสามารถเก็บเกี่ยวครั้งแรกได้ภายใน 12 เดือนก็ไม่เป็นพืชไร่ที่ดินพิพาทจึงไม่เป็นนาตามความหมายของพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมพ.ศ.2524 โจทก์ทั้งสองย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองจากพระราชบัญญัติดังกล่าว
พิพากษายืน.

Share