คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1109/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 เป็นข้าราชการตำแหน่งทรัพยากรธรณีจังหวัด รับเรื่องราวขอเปลี่ยนแปลงแผนผังโครงการทำเหมืองจากโจทก์แล้วมิได้นำเสนออธิบดีกรมทรัพยากรธรณีเพื่อพิจารณาอนุญาตโดยตรง หากแต่เสนอเรื่องราวดังกล่าวไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อขอความเห็นก่อน ตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งมีหน้าที่ควบคุมดูแลหน่วยงานนี้สั่งการไว้ โดยคำสั่งดังกล่าวปฏิบัติตามแผนพัฒนาการท่องเที่ยวจังหวัดและคำสั่งของสำนักนายกรัฐมนตรีซึ่งมอบหมายให้ปฏิบัติราชการตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 218 ข้อ (1) (2) อีกทั้งไม่มีระเบียบทางราชการกำหนดวิธีการปฏิบัติเป็นอย่างอื่น จึงเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่ชอบด้วยระเบียบแบบแผนของทางราชการ
พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 57 มิได้บังคับว่าอธิบดีของจำเลยที่ 1 ต้องอนุญาตให้ผู้ถือประทานบัตรเปลี่ยนแปลงวิธีการทำเหมืองเสมอไป หากแต่ให้อยู่ในดุลพินิจที่จะพิจารณาอนุญาตหรือไม่ก็ได้ ดังนั้นการที่จำเลยที่ 1 สั่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแจ้งต่อทรัพยากรธรณีจังหวัด ให้แจ้งต่อโจทก์ว่าการทำเหมืองแร่ให้ปฏิบัติตามมติของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเป็นการปฏิบัติตามมติของคณะรัฐมนตรีที่ให้นโยบายไว้ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติและไม่ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 57 หรือเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นการปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ ไม่เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ รับราชการตำแหน่งทรัพยากรธรณีจังหวัดภูเก็ต ติดต่อกันตามลำดับ โจทก์ที่ ๑ ที่ ๒ เป็นผู้ถือประทานบัตรซึ่งอนุญาตให้ทำเหมืองแร่ดีบุกและมีพื้นที่ตามประทานบัตรติดต่อกัน ในเดือนธันวาคม ๒๕๒๒ โจทก์ทั้งสองตกลงใจเปิดเหมืองทำการขุดแร่ร่วมกัน ได้ขอเปลี่ยนแผนผังโครงการทำเหมือง และ เสนอแผนผังร่วมระหว่างโจทก์ทั้งสองถึงจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นทรัพยากรธรณีจังหวัดภูเก็ต เพื่อส่งเรื่องไปยังจำเลยที่ ๑ พิจารณาอนุมัติต่อมาวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๒๓ โจทก์ทั้งสองสอบถามขอทราบผล จำเลยที่ ๓ ซึ่งดำรงตำแหน่งทรัพยากรธรณีจังหวัดคนต่อมาแจ้งให้โจทก์ทั้งสองทราบว่าไม่สามารถส่งเรื่องให้จำเลยที่ ๑ พิจารณาอนุญาตเพราะพื้นที่บริเวณประทานบัตรของโจทก์ทั้งสองอยู่ใกล้ริมหาดอ่าวป่าตอง ซึ่งเป็นบริเวณที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติ ได้เสนอเรื่องไปยังจังหวัดภูเก็ต และจังหวัดได้ส่งเรื่องไปยังสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติร่วมพิจารณาและได้เก็บเรื่องรอเสนอจำเลยที่ ๑ ไว้ก่อน ต่อมาโจทก์ที่ ๒ ได้รับหนังสือจากทรัพยากรธรณีจังหวัดภูเก็ต โดยจำเลยที่ ๔ ลงนามแจ้งให้ทราบว่านายกรัฐมนตรีประกาศข้อตกลงใจไว้ และคณะรัฐมนตรีได้ลงมติตามข้อตกลงใจของนายกรัฐมนตรีซึ่งตกลงใจไม่ให้ขุดแร่ในอ่าวป่าตอง ต่อมาจำเลยที่ ๑ สั่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตแจ้งต่อทรัพยากรธรณีจังหวัดภูเก็ตแล้วทรัพยากรธรณีจังหวัดภูเก็ตโดยจำเลยที่ ๔ แจ้งต่อโจทก์ทั้งสองว่าหากจะเปิดการทำเหมืองขุดแร่ตามประทานบัตรของโจทก์ทั้งสอง ต้องปฏิบัติตามมติของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติข้อ ๑ ซึ่งห้ามขุดแร่ในอ่าวป่าตองและที่ห่างชายฝั่งเป็นระยะ ๘ กิโลเมตร การกระทำของจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ที่ยับยั้งไม่ส่งเรื่องราวของโจทก์ทั้งสองไปให้จำเลยที่ ๑ พิจารณาอนุญาตภายในเวลาสมควรก็ดี และการที่จำเลยที่ ๑ สั่งผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ให้แจ้งต่อทรัพยากรธรณีจังหวัดภูเก็ตแจ้งให้โจทก์ทั้งสองปฏิบัติตามมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติข้อ ๑ อันมีความหมายว่าไม่อนุญาตให้โจทก์ทั้งสองเปิดการทำเหมืองก็ดี ไม่มีเหตุที่จะอ้างและทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อต่อโจทก์ทั้งสอง เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองต้องเสียหาย ขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า โจทก์ทั้งสองไม่เคยเตรียมจัดหาเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นเพื่อทำการขุดแร่ ไม่เคยขอเปิดการทำเหมืองในประทานบัตร กลับขออนุญาตหยุดการทำเหมืองมาทุกปี แม้ระหว่างขอเปลี่ยนแปลงแผนผังโครงการทำเหมือง โจทก์ทั้งสองก็มีสิทธิเปิดการทำเหมืองตามแผนผังโครงการที่ได้รับอนุญาตแล้วท้ายประทานบัตรได้ เนื่องจากประชาชนคัดค้านการทำเหมืองแร่รอบเกาะภูเก็ต ผู้ว่าราชการจังหวัดจึงสั่งการและกำหนดแนวทางวิธีปฏิบัติราชการภายในจังหวัดเกี่ยวกับแร่ให้นำเรื่องเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดก่อนคำสั่งและแนวทางปฏิบัติดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล สำนักนายกรัฐมนตรีการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและจังหวัดภูเก็ต ที่จะพัฒนาปรับปรุงสถานที่ตากอากาศและส่งเสริมการท่องเที่ยว เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ ไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ การที่จำเลยที่ ๒ นำเรื่องราวของโจทก์ทั้งสองเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อขอความเห็นประกอบการพิจารณา และจังหวัดภูเก็ตส่งเรื่องให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติขอทราบความเห็นหน่วยงานทั้งสองก็แจ้งความเห็นคัดค้านการทำเหมืองแร่ในประทานบัตรของโจทก์ทั้งสอง และการที่จำเลยที่ ๓ ซึ่งดำรงตำแหน่งทรัพยากรธรณีจังหวัดภูเก็ตส่งเรื่องราวการขอเปลี่ยนแปลงแผนผังโครงการทำเหมืองไปยังอธิบดีกรมทรัพยากรธรณีเพื่อพิจารณาดำเนินการก็เป็นการปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติของทางราชการอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ แล้ว จำเลยทั้งสี่มิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง คดีขาดอายุความ ค่าเสียหายไม่เท่าจำนวนที่ฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่าการกระทำของจำเลยทั้งสี่ตามฟ้องเป็นการละเมิดต่อโจทก์หรือไม่เห็นว่าทรัพยากรธรณีจังหวัดภูเก็ต เป็นหน่วยงานที่ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตมีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแล ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตจึงมีอำนาจที่จะสั่งการให้ทรัพยากรธรณีจังหวัดภูเก็ตที่รับเรื่องราวการทำเหมืองแร่ให้เสนอมาทางจังหวัดภูเก็ตก่อนซึ่งคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตเป็นการปฏิบัติราชการให้เป็นไปตามแผนพัฒนาการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ตามคำสั่งของสำนักงานนายกรัฐมนตรีเป็นการบริหารราชการตามที่กระทรวงทบวงกรมมอบหมายตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๑๘ ข้อ(๑) (๒) จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่ปรากฏว่าได้มีระเบียบทางราชการกำหนดวิธีการปฏิบัติเกี่ยวกับคำขอเปลี่ยนแปลงแผนผังโครงการทำเหมืองแร่ที่ต้องขออนุญาตต่ออธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ตามมาตรา ๕๗ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ แต่อย่างใด การที่จำเลยที่ ๒ รับเรื่องราวการขอเปลี่ยนแปลงแผนผังการทำเหมืองแร่ของโจทก์แล้วทำบันทึกขอความเห็นจากผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต โดยจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ยังไม่ส่งเรื่องราวไปยังจำเลยที่ ๑ จึงเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่ชอบด้วยระเบียบแบบแผนของทางราชการและการที่ผู้ถือประทานบัตรจะขอเปลี่ยนแปลงวิธีการทำเหมือง กฎหมายก็มิได้บังคับต่ออธิบดีกรมทรัพยากรธรณีต้องอนุญาตเสมอไป หากแต่ให้อยู่ในดุลพินิจที่จะพิจารณาอนุญาตหรือไม่ก็ได้การที่จำเลยที่ ๑ สั่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตแจ้งต่อทรัพยากรธรณีจังหวัดภูเก็ตเพื่อแจ้งต่อโจทก์ทั้งสองว่าหากจะเปิดทำการเหมืองแร่ต้องปฏิบัติตามมติของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาตินั้นเป็นการใช้ดุลพินิจสั่งการตามข้อตกลงใจของนายกรัฐมนตรีและมติของคณะรัฐมนตรีที่ให้นโยบายไว้โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติ จึงไม่ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ มาตรา ๕๗ หรือเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นการปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ มิใช่เป็นการกระทำโดยจงใจต่อโจทก์ทั้งสองโดยผิดกฎหมาย จึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ส่วนที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่าโจทก์ทั้งสองฟ้องคดีเดียวกัน ชอบที่จะเสียค่าขึ้นศาลเป็นคดีเดียวกัน การที่ศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลเพิ่มจึงไม่ชอบนั้น เห็นว่าคดีนี้โจทก์ที่ ๑ ที่ ๒ ฟ้องคดีละเมิดโดยบรรยายฟ้องถึงความเสียหายของโจทก์แต่ละคนที่ได้รับต่างหากจากกัน แม้จะเนื่องจากสาเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงแผนผังโครงการทำเหมืองร่วมกัน สิทธิเรียกร้องของโจทก์สามารถแยกจากกันได้ แม้จะฟ้องรวมมาเป็นคดีเดียวกัน โจทก์ที่ ๑ ที่ ๒ ก็ต้องเสียค่าขึ้นศาลตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์แต่ละคนเรียกร้อง
พิพากษายืน.

Share