คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2483/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ทนายความ พ.ศ.2528 มาตรา 33 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ซึ่งไม่ได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาต หรือผู้ซึ่งขาดจากการเป็นทนายความหรือต้องห้ามทำการเป็นทนายความว่าความในศาล หรือแต่งฟ้อง คำให้การ ฟ้องอุทธรณ์ แก้อุทธรณ์ ฟ้องฎีกา แก้ฎีกา คำร้อง หรือคำแถลงอันเกี่ยวแก่การพิจารณาคดีในศาลให้แก่บุคคลอื่น ทั้งนี้ เว้นแต่จะได้กระทำในฐานะเป็นข้าราชการผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่หรือเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ องค์การของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่หรือมีอำนาจหน้าที่กระทำได้โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความหรือกฎหมายอื่น” ตามบทบัญญัติดังกล่าว นอกจากทนายความและข้าราชการผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่แล้ว ข้อความตอนท้ายที่ว่า “ผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่หรือมีอำนาจหน้าที่กระทำได้โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความหรือกฎหมายอื่น” หมายถึงเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ องค์การของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เท่านั้น ที่จะทำการเป็นทนายความรวมถึงแต่งฟ้อง คำให้การ ฟ้องอุทธรณ์ แก้อุทธรณ์ ฟ้องฎีกา แก้ฎีกา คำร้อง หรือคำแถลงอันเกี่ยวแก่การพิจารณาคดีในศาลให้แก่บุคคลอื่นได้ ดังนั้น แม้โจทก์จะทำหนังสือมอบอำนาจให้ ส. แต่งฟ้อง ฟ้องอุทธรณ์ ฟ้องฎีกา ได้ แต่ ส. มิใช่คู่ความตามความหมายที่ ป.วิ.อ. มาตรา 2 (15) บัญญัติไว้ และเมื่อไม่ปรากฏว่า ส. จดทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นทนายความ หรือเป็นข้าราชการผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่หรือเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ องค์การของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่หรือมีอำนาจหน้าที่กระทำได้โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความหรือกฎหมายอื่น ย่อมไม่อาจแต่งฟ้องฎีกาได้ การที่ ส. ลงชื่อเป็นผู้เรียงในฎีกาของโจทก์ ซึ่งมีความหมายว่าเป็นผู้แต่งฟ้องฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าวจึงไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 84, 288, 289 (4)
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 80, 83 จำคุกตลอดชีวิต ยกฟ้องจำเลยที่ 1
โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นควรวินิจฉัยในเบื้องต้นเสียก่อนว่า ฎีกาของโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โจทก์ยื่นฎีกาโดยนายสุขสันติ์ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ลงชื่อเป็นผู้ฎีกา ผู้เรียง ผู้เขียนหรือพิมพ์ ศาลชั้นต้นตรวจฎีกาแล้ว มีคำสั่งว่า “พิเคราะห์แล้ว ผู้ยื่นฎีกาและลงชื่อท้ายฎีกามิใช่คู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (15) ไม่มีสิทธิยื่นฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 จึงไม่รับฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 223” ผู้รับมอบอำนาจโจทก์อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งไม่รับฎีกา ศาลฎีกามีคำสั่งที่ ท.17/2559 ว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีนี้โจทก์มอบอำนาจให้นายสุขสันติ์ แต่งหรือเรียงคำฎีกาและมีอำนาจลงนามแทนโจทก์ โดยไม่ปรากฏว่านายสุขสันติ์เป็นผู้ซึ่งได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาตทนายความ ฎีกาของโจทก์จึงเป็นฎีกาที่ฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2528 มาตรา 33 การที่นายสุขสันติ์เรียงฎีกาและลงชื่อในฎีกาตามที่ได้รับมอบอำนาจดังกล่าว ถือว่าเป็นการกระทำที่บกพร่องในเรื่องความสามารถที่ศาลชอบจะสั่งให้แก้ไขเสียก่อน ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 56 วรรคสอง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ที่ศาลชั้นต้นตรวจสั่งฎีกาของโจทก์ไปโดยมิได้สั่งให้แก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถของโจทก์เสียก่อน ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา จึงให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับฎีกาของโจทก์ และให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้โจทก์ได้มีโอกาสแก้ไขข้อบกพร่องเรื่องความสามารถของโจทก์ แล้วจึงตรวจสั่งฎีกาของโจทก์ใหม่ตามรูปคดี กรณีไม่มีเหตุต้องวินิจฉัยคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกาของโจทก์อีกต่อไป ยกคำร้อง” ศาลชั้นต้น แจ้งวันนัดฟังคำสั่งศาลฎีกาให้โจทก์และผู้รับมอบอำนาจโจทก์ทราบโดยชอบแล้ว ถึงวันนัดผู้รับมอบอำนาจโจทก์มาฟังคำสั่ง ส่วนโจทก์ทราบนัดโดยชอบแล้วไม่มาศาล ต่อมาผู้รับมอบอำนาจโจทก์ยื่นฎีกาภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์ สำเนาให้จำเลยทั้งสองแก้ จำเลยทั้งสองยื่นคำแก้ฎีกา เห็นว่า พระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2528 มาตรา 33 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ซึ่งไม่ได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาต หรือผู้ซึ่งขาดจากการเป็นทนายความหรือต้องห้ามทำการเป็นทนายความว่าความในศาล หรือแต่งฟ้อง คำให้การ ฟ้องอุทธรณ์ แก้อุทธรณ์ ฟ้องฎีกา แก้ฎีกา คำร้อง หรือคำแถลงอันเกี่ยวแก่การพิจารณาคดีในศาลให้แก่บุคคลอื่น ทั้งนี้ เว้นแต่จะได้กระทำในฐานะเป็นข้าราชการผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่หรือเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ องค์การของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่หรือมีอำนาจหน้าที่กระทำได้โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความหรือกฎหมายอื่น” ตามบทบัญญัติดังกล่าว นอกจากทนายความและข้าราชการผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่แล้ว ข้อความตอนท้ายที่ว่า “ผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่หรือมีอำนาจหน้าที่กระทำได้โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความหรือกฎหมายอื่น” หมายถึงเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ องค์การของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เท่านั้น ที่จะทำการเป็นทนายความรวมถึงแต่งฟ้อง คำให้การ ฟ้องอุทธรณ์ แก้อุทธรณ์ ฟ้องฎีกา แก้ฎีกา คำร้อง หรือคำแถลงอันเกี่ยวแก่การพิจารณาคดีในศาลให้แก่บุคคลอื่นได้ ดังนั้น แม้โจทก์จะทำหนังสือมอบอำนาจให้นายสุขสันติ์ แต่งฟ้อง ฟ้องอุทธรณ์ ฟ้องฎีกา ได้ แต่นายสุขสันติ์มิใช่คู่ความตามความหมายที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (15) บัญญัติไว้ และเมื่อไม่ปรากฏว่านายสุขสันติ์ จดทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นทนายความ หรือเป็นข้าราชการผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่หรือเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ องค์การของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่หรือมีอำนาจหน้าที่กระทำได้โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความหรือกฎหมายอื่น ย่อมไม่อาจแต่งฟ้องฎีกาได้ การที่นายสุขสันติ์ ลงชื่อเป็นผู้เรียงในฎีกาของโจทก์ ซึ่งมีความหมายว่าเป็นผู้แต่งฟ้องฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าวจึงไม่ชอบ การที่โจทก์โดยผู้รับมอบอำนาจโจทก์ยื่นฎีกาฉบับใหม่ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2559 โดยผู้รับมอบอำนาจโจทก์ยังคงลงชื่อเป็นผู้ฎีกา ผู้เรียง ผู้เขียนหรือพิมพ์ เช่นเดียวกับฎีกาฉบับแรกโดยมิได้มีการแก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถของโจทก์ตามคำสั่งศาลฎีกาที่ ท.17/2559 ฎีกาของโจทก์จึงเป็นฎีกาที่มิชอบด้วยกฎหมาย ศาลชั้นต้นชอบที่จะสั่งไม่รับฎีกา ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์มานั้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกฎีกาของโจทก์

Share