คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4424/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยได้รับอนุญาตจากกระทรวงคมนาคมให้ประกอบกิจการค้าการเดินอากาศ และได้ทำสัญญากับโจทก์มีข้อตกลงกันให้จำเลยใช้ทรัพย์สิน บริการ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ รวมถึงบริการที่เก็บอากาศยาน ณ ท่าอากาศยานกรุงเทพ และท่าอากาศยานเชียงใหม่ของโจทก์ และจำเลยตกลงชำระค่าธรรมเนียมตามอัตราที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือนตามกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศ และค่าภาระต่าง ๆ ที่เกิดจากการใช้ทรัพย์สิน บริการ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ของโจทก์ตามอัตราที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของโจทก์ว่าด้วยอัตราภาระการใช้ ท่าอากาศยาน ทรัพย์สิน บริการ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ในกิจการของโจทก์ ซึ่งใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน หรือที่จะใช้ใหม่ในอนาคตแล้วแต่กรณี ข้อตกลงดังกล่าวมิได้เป็นกรณีที่โจทก์มีหน้าที่ต้องรับทำการงานต่าง ๆ ให้แก่จำเลย แล้วเรียกเอาสินจ้างอันจะพึงได้รับในการนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (7) ซึ่งจะต้องใช้สิทธิเรียกร้องภายในกำหนดอายุความ 2 ปี แต่เป็นเรื่องที่โจทก์มีหน้าที่เพียงให้บริการการใช้ทรัพย์สิน บริการ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ แก่จำเลยเท่านั้น อันมีลักษณะเป็นสัญญาการให้บริการตามข้อตกลงซึ่งเป็นเรื่องที่มิได้มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
ประกาศกระทรวงคมนาคมที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามกฎกระทรวงฉบับที่ 30 (พ.ศ.2528) เป็นกฎหมายลำดับรองหรือเป็นส่วนของรายละเอียดของกฎหมายซึ่งเป็นกฎหมายที่มีลำดับสูงหรือกฎหมายแม่บทของประกาศกระทรวงนั้น เมื่อกฎกระทรวงดังกล่าวถูกยกเลิก ประกาศกระทรวงนั้นย่อมต้องถูกยกเลิกตามไปด้วย เว้นแต่จะมีบทเฉพาะกาลกำหนดให้ประกาศหรือกฎหมายลำดับรองให้ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 26,043,453.75 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ของต้นเงิน 19,643,716.43 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้องโจทก์และฟ้องแย้งบังคับให้โจทก์ชำระเงินพร้อมดอกเบี้ย 1,302,920.05 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,151,025.35 บาท นับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ 19,643,716.35 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 19,254,560.08 บาท นับแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน 2556 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ของต้นเงิน 63,148.75 บาท และของต้นเงิน 326,007.60 บาท นับแต่วันที่ 24 มกราคม 2556 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ดอกเบี้ยคิดคำนวณรวมกันถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 30 เมษายน 2557) ต้องไม่เกิน 6,399,737.32 บาท กับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี ให้ยกฟ้องแย้งจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยในส่วนฟ้องแย้งให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ 4,848,581.95 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 4,840,787 บาท นับแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน 2556 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 7,794.95 บาท นับแต่วันที่ 24 มกราคม 2556 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องโจทก์ทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่จำเลยต้องรับผิดในชั้นอุทธรณ์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความไม่ฎีกาโต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการท่าอากาศยาน รวมทั้งดำเนินการกิจการอื่นที่เกี่ยวข้อง จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการโรงเรียนเอกชนเพื่อรับสอนการขับเครื่องบิน เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2447 โจทก์กับจำเลยทำข้อตกลงการใช้ทรัพย์สิน บริการ และสิ่งอำนวยความสะดวก ขอใช้ทรัพย์สิน บริการ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ของโจทก์ ณ ท่าอากาศยานกรุงเทพ รวมทั้งดำเนินการอื่น ๆ เพื่อให้การทำการบินของจำเลยเป็นไปโดยเรียบร้อย ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของทางวิ่ง ทางขับ และลานจอดอากาศยานรวมถึงที่เก็บอากาศยานด้วย จำเลยตกลงชำระเงินค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวกับการบินตามอัตราที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือนตามกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศ และค่าภาระต่าง ๆ ที่เกิดจากการใช้ทรัพย์สิน บริการ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ของโจทก์ตามอัตราที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของโจทก์ว่าด้วยอัตราค่าภาระการใช้ท่าอากาศยานทรัพย์สิน บริการ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ในกิจการของโจทก์ ซึ่งใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน หรือที่จะแก้ไขใหม่ในอนาคตแล้วแต่กรณี โดยให้โจทก์ส่งใบแจ้งหนี้เรียกเก็บเงินดังกล่าวไปที่จำเลย และจำเลยต้องชำระเงินให้แก่โจทก์ภายในเวลาที่กำหนดในใบแจ้งหนี้ ส่วนที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่ โจทก์กับจำเลยไม่ได้ทำข้อตกลงการใช้ทรัพย์สิน บริการ และสิ่งอำนวยความสะดวกกันไว้ แต่ถือปฏิบัติกันว่า หากจำเลยใช้ทรัพย์สิน บริการ และสิ่งอำนวยความสะดวกของโจทก์ที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่ โจทก์จะเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวกับการบิน และค่าภาระต่าง ๆ ตามอัตราที่กำหนดไว้เช่นเดียวกันจากจำเลย และจำเลยต้องชำระเป็นเงินสดให้แก่โจทก์ในทันที ในการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการขึ้นลงสนามบินและค่าธรรมเนียมที่เก็บเครื่องบินเป็นไปตามข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือนซึ่งไม่เกินอัตราที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง หลังจากทำข้อตกลงจำเลยนำเครื่องบินที่ใช้เพื่อการฝึกบินในกิจการของจำเลยมาทำการบินขึ้นลงที่สนามบินของโจทก์ที่ท่าอากาศยานกรุงเทพและท่าอากาศยานเชียงใหม่ กับใช้สนามบินของโจทก์ที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่เป็นที่เก็บเครื่องบินของจำเลย จำเลยชำระค่าธรรมเนียมในการใช้บริการแก่โจทก์เรื่อยมา วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2548 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมอาศัยอำนาจตามความในข้อ 6 (5) แห่งกฎกระทรวงฉบับที่ 30 (พ.ศ.2528) ออกประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง ยกเว้นค่าธรรมเนียมในการขึ้นลงของอากาศยานให้กับอากาศยานขนาดเล็กของบริษัทเอกชนในเที่ยวบินที่ใช้เพื่อการฝึกบินภายในประเทศ ทำให้ระหว่างที่ประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับ จำเลย สถาบันการบินพลเรือน และบริษัทเอกชนอื่น ๆ ที่ใช้สนามบินของโจทก์เพื่อการฝึกบินภายในประเทศได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมในการขึ้นลงของเครื่องบิน ต่อมากระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมตามกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศ พ.ศ.2549 หรือกฎกระทรวง พ.ศ.2549 โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ.2497 ยกเลิกกฎกระทรวงฉบับที่ 30 (พ.ศ.2528) โดยมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 30 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา (วันที่ 23 พฤษภาคม 2549) เป็นต้นไป ภายหลังจากที่กฎกระทรวงฉบับดังกล่าวมีผลใช้บังคับ จำเลยยังคงใช้สนามบินท่าอากาศยานกรุงเทพและท่าอากาศยานเชียงใหม่ในการขึ้นลงของเครื่องบินจำเลยและใช้เป็นที่เก็บเครื่องบินของจำเลยเพื่อใช้ในการฝึกบินเรื่อยมา แต่จำเลยไม่ชำระค่าธรรมเนียมในการขึ้นลงของเครื่องบินที่ใช้ในการฝึกบินและค่าธรรมเนียมที่จอดเครื่องบินให้แก่โจทก์ ปี 2555 โจทก์เริ่มออกใบแจ้งหนี้ให้จำเลยชำระค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่ยังค้างอยู่ตั้งแต่ปี 2549 เรื่อยมาถึงปี 2556 แต่จำเลยไม่ชำระ
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า ตามข้อตกลงการใช้ทรัพย์สิน บริการ และสิ่งอำนวยความสะดวก ระหว่างโจทก์กับจำเลย ซึ่งโจทก์จำเลยทำข้อตกลงว่าโดยที่จำเลยได้รับอนุญาตจากกระทรวงคมนาคมให้ประกอบกิจการค้าขายในการเดินอากาศจึงมีความประสงค์ขอใช้ทรัพย์สิน บริการ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ของโจทก์ ณ ท่าอากาศยานกรุงเทพรวมทั้งดำเนินการอื่น ๆ เพื่อให้การทำการบินของจำเลยเป็นไปโดยเรียบร้อย โดยตกลงให้จำเลยใช้ทรัพย์สิน บริการ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ณ ท่าอากาศยานกรุงเทพ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของทางวิ่ง ทางขับ และลานจอดอากาศยาน และอื่น ๆ ให้แก่จำเลย ซึ่งรวมถึงให้บริการที่เก็บอากาศยานแก่จำเลยด้วย โดยจำเลยตกลงชำระเงินค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวกับการบินตามอัตราที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือนตามกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศ และค่าภาระต่าง ๆ ที่เกิดจากการใช้ทรัพย์สิน บริการ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ของโจทก์ตามอัตราที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของโจทก์ว่าด้วยอัตราค่าภาระการใช้ ท่าอากาศยาน ทรัพย์สิน บริการ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ในกิจการของโจทก์ ซึ่งใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน หรือที่จะแก้ไขใหม่ในอนาคตแล้วแต่กรณี ส่วนที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่ แม้ว่าโจทก์และจำเลยจะไม่ได้ทำข้อตกลงการใช้ทรัพย์สิน บริการ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ก็ตาม แต่หากจำเลยได้มีการใช้ทรัพย์สิน บริการ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ การใช้ทรัพย์สิน บริการ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่ รวมทั้งการดำเนินการอื่น ๆ เพื่อให้การทำการบินของจำเลยเป็นไปโดยเรียบร้อย โจทก์ก็จะทำการเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวกับการบินตามอัตราที่กำหนดไว้ และค่าภาระต่าง ๆ ที่เกิดจากการใช้ทรัพย์สิน บริการ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ของโจทก์ตามอัตราที่กำหนดไว้โดยโจทก์จะเรียกเก็บเงินดังกล่าวจากจำเลยทันที และจำเลยก็จะชำระเป็นเงินสดให้แก่โจทก์ในทันที ข้อตกลงดังกล่าวมิได้เป็นกรณีที่โจทก์รับทำการงานต่าง ๆ เรียกเอาสินจ้างอันจะพึงได้รับในการนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (7) ซึ่งโจทก์จะต้องใช้สิทธิเรียกร้องภายใน 2 ปี เนื่องจากโจทก์มิได้มีหน้าที่ต้องรับทำการงานสิ่งใดให้แก่จำเลย แต่เป็นเรื่องที่โจทก์ต้องให้บริการการใช้ทรัพย์สิน บริการ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ จึงมีลักษณะเป็นสัญญาการให้บริการตามข้อตกลงซึ่งเป็นเรื่องที่มิได้มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 โจทก์ฟ้องเรียกหนี้อันเกิดจากสัญญาดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2549 โดยยื่นฟ้องวันที่ 30 เมษายน 2557 ฟ้องโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าสิทธิเรียกร้องค่าธรรมเนียมบางส่วนของโจทก์ขาดอายุความนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยต้องรับผิดชำระเงินค่าธรรมเนียมพร้อมด้วยดอกเบี้ยผิดนัดต่อโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ เพียงใด ในข้อนี้โจทก์มีพยานโจทก์เบิกความประกอบเอกสารว่า โจทก์ จำเลยทำข้อตกลงว่าจำเลยมีความประสงค์ขอใช้ทรัพย์สิน บริการ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ของโจทก์ ณ ท่าอากาศยานกรุงเทพและท่าอากาศยานเชียงใหม่ โดยจำเลยตกลงชำระเงินค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวกับการบินตามอัตราที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือนตามกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศซึ่งไม่เกินอัตราที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง หลังจากทำข้อตกลงจำเลยนำเครื่องบินขนาดเล็กที่ใช้เพื่อการฝึกบินในกิจการของจำเลยมาทำการบินขึ้นลงที่สนามบินของโจทก์ที่ท่าอากาศยานกรุงเทพและท่าอากาศยานเชียงใหม่ กับใช้สนามบินของโจทก์ที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่เป็นที่เก็บเครื่องบินขนาดเล็กของจำเลยตลอดมา ซึ่งจำเลยได้ชำระค่าธรรมเนียมในการใช้บริการแก่โจทก์เรื่อยมา ต่อมาวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2548 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมอาศัยอำนาจตามความในข้อ 6 (5) แห่งกฎกระทรวงฉบับที่ 30 (พ.ศ.2528) ออกประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่องยกเว้นค่าธรรมเนียมในการขึ้นลงของอากาศยานให้กับอากาศยานขนาดเล็กของบริษัทเอกชนในเที่ยวบินที่ใช้เพื่อการฝึกบินภายในประเทศทำให้ในระหว่างที่ประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับ จำเลยที่ใช้สนามบินของโจทก์เพื่อการฝึกบินภายในประเทศได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมในการขึ้นลงของเครื่องบิน ต่อมากระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมตามกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศ พ.ศ.2549 หรือกฎกระทรวง พ.ศ.2549 โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ.2497 ยกเลิกกฎกระทรวงฉบับที่ 30 (พ.ศ.2528) โดยมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 30 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา (วันที่ 23 พฤษภาคม 2549) เป็นต้นไป จึงย่อมมีผลทำให้ค่าธรรมเนียมในการขึ้นลงของอากาศยานขนาดเล็กของเอกชนซึ่งรวมถึงจำเลยไม่ได้รับการยกเว้นอีกต่อไป และต้องชำระค่าธรรมเนียมดังกล่าวแก่โจทก์ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2549 เป็นต้นไป ซึ่งภายหลังจากที่กฎกระทรวง พ.ศ.2549 มีผลใช้บังคับแล้ว จำเลยยังคงใช้สนามบินท่าอากาศยานกรุงเทพ และท่าอากาศยานเชียงใหม่ซึ่งอยู่ในความดูแลของโจทก์ในการขึ้นลงของเครื่องบินจำเลยและใช้เป็นที่เก็บเครื่องบินของจำเลยเพื่อใช้ในการฝึกบินเรื่อยมาโดยไม่ได้รับการยกเว้นในเรื่องการชำระค่าธรรมเนียมแต่อย่างใด แต่จำเลยกลับไม่ชำระค่าธรรมเนียมในการขึ้นลงของเครื่องบินจำเลยที่ใช้ในการฝึกบินและค่าธรรมเนียมในการให้บริการที่เก็บเครื่องบินให้แก่โจทก์ โดยจำเลยฎีกาอ้างว่า ประกาศกระทรวงคมนาคมเรื่องยกเว้นค่าธรรมเนียมในการขึ้นลงของอากาศยานขนาดเล็กของบริษัทเอกชนนั้นยังมีผลใช้บังคับอยู่ ซึ่งจำเลยยกข้ออ้างในฎีกาว่าแม้กฎกระทรวง พ.ศ.2549 จะมีผลยกเลิกกฎกระทรวงฉบับที่ 30 (พ.ศ.2528) แต่ไม่มีผลเป็นการยกเลิกประกาศที่ได้ออกตามกฎกระทรวงฉบับที่ 30 นั้นด้วย ในข้อนี้พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อประกาศกระทรวงคมนาคมถูกออกโดยอาศัยอำนาจของกฎกระทรวง ฉบับที่ 30 การที่กฎกระทรวงฉบับที่ 30 ถูกยกเลิก ประกาศที่ออกโดยกฎกระทรวงดังกล่าวก็ย่อมถูกยกเลิกไปด้วย เนื่องจากประกาศดังกล่าวเป็นกฎหมายลำดับรองหรือเป็นส่วนของรายละเอียด เมื่อกฎหมายลำดับสูงหรือกฎหมายแม่บทถูกยกเลิก ส่วนของรายละเอียดย่อมต้องถูกยกเลิกตามไปด้วย เว้นแต่จะมีบทเฉพาะกาลกำหนดให้ประกาศหรือกฎหมายลำดับรองให้ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไป เมื่อพิจารณากฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมตามกฎกระทรวง พ.ศ.2549 ไม่ปรากฏมีข้อกำหนดใดที่เป็นบทเฉพาะกาลให้ประกาศกระทรวงคมนาคมฉบับที่ยกเว้นค่าธรรมเนียมดังกล่าวยังคงมีผลใช้บังคับต่อไป จึงต้องถือว่าการยกเว้นค่าธรรมเนียมดังกล่าวสิ้นผลลงตั้งแต่กฎกระทรวง พ.ศ.2549 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2549 เป็นต้นมา จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมในการขึ้นลงของเครื่องบินขนาดเล็กของจำเลยในเที่ยวบินที่ใช้เพื่อการฝึกบินให้แก่โจทก์ ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการใช้สนามบินที่จำเลยใช้สนามบินของโจทก์ตั้งแต่วันที่การยกเว้นค่าธรรมเนียมได้สิ้นผลไป แต่จำเลยกลับไม่ชำระหนี้ดังกล่าวให้แก่โจทก์ จึงถือว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาตามฟ้อง โดยมีหนี้ค่าธรรมเนียมในการขึ้นลงของเครื่องบินจำเลยที่ท่าอากาศยานกรุงเทพระหว่างวันที่ 23 มิถุนายน 2549 ถึงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2556 จำนวน 19,254,560.08 บาท หนี้ค่าธรรมเนียมในการขึ้นลงของเครื่องบินที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน 2549 ถึงวันที่ 24 มกราคม 2556 จำนวน 63,148.75 บาท หนี้ค่าธรรมเนียมที่เก็บเครื่องบินของจำเลยที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน 2549 ถึงวันที่ 24 มกราคม 2556 จำนวน 326,007.06 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 19,643,715.89 บาท และเมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้ตามที่โจทก์ได้มีใบแจ้งหนี้ให้จำเลยชำระ ย่อมถือว่าจำเลยตกเป็นผู้ผิดนัด แต่โจทก์เรียกดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราที่ระบุไว้ในสัญญาคือร้อยละ 18 ต่อปี โดยอาศัยประกาศของโจทก์นั้นเห็นว่าเป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วนเห็นควรลดลงตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดคือให้อัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี โดยคำนวณตั้งแต่วันที่หนี้แต่ละจำนวนผิดนัดเป็นต้นไป โดยหนี้ค่าธรรมเนียมในการขึ้นลงของเครื่องบินจำเลยที่ท่าอากาศยานกรุงเทพ จำนวน 19,254,460.08 บาท คิดคำนวณนับแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน 2556 ส่วนหนี้ค่าธรรมเนียมในการขึ้นลงของเครื่องบินจำเลยที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่จำนวน 63,148.75 บาท คิดคำนวณตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม 2556 เป็นต้นไป และหนี้ค่าธรรมเนียมที่เก็บเครื่องบินของจำเลยที่ท่าอากาศเชียงใหม่ จำนวน 326,007.06 บาท คิดคำนวณตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม 2556 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 19,643,715.89 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี โดยในส่วนของต้นเงินจำนวน 19,254,560.08 บาท ให้คิดตั้งแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน 2556 เป็นต้นไป ในส่วนของต้นเงินจำนวน 63,148.75 บาท ให้คิดตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม 2556 เป็นต้นไป และในส่วนของต้นเงินจำนวน 326,007.06 บาท ให้คิดตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม 2556 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องโจทก์ทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 300,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นฎีกา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share