คำวินิจฉัยที่ 21/2563

แหล่งที่มา : สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย โจทก์ ยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ซึ่งเป็นเอกชน ขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ ร่วมกับจำเลยที่ ๒ ชำระค่าเสียหายและค่าปรับรายวัน กับให้จำเลยที่ ๑ และบริวารออกจากพื้นที่เช่าพร้อมทั้งขนย้ายทรัพย์สินออกจากพื้นที่เช่า เนื่องจากจำเลยที่ ๑ ไม่จ่ายค่าเช่าพื้นที่ตามอัตราค่าเช่าที่ดินใหม่ที่โจทก์ประกาศ โจทก์จึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าพื้นที่และให้ จำเลยที่ ๑ ขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารออกไปจากพื้นที่เช่าและส่งมอบพื้นที่เช่าคืน แต่จำเลยที่ ๑ เพิกเฉย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ต่อมาศาลอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ ๒ เนื่องจากได้รับชำระค่าเสียหายแล้ว เห็นว่า แม้โจทก์จะเป็นหน่วยงานทางปกครอง และมีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งเพื่อจัดดำเนินการและนำมาซึ่งความเจริญของกิจการท่าเรือเพื่อประโยชน์แห่งรัฐและประชาชน อันเป็นการจัดทำบริการสาธารณะซึ่งเป็นภารกิจหลักของโจทก์ แต่สัญญาเช่าพื้นที่ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ มีสาระสำคัญเป็นการให้จำเลยที่ ๑ ได้ประโยชน์จากการใช้ที่ดินที่เช่าเป็นที่จอดรถบรรทุกสินค้าของจำเลยที่ ๑ เพื่อประโยชน์ในกิจการของจำเลยที่ ๑ โดยตรง โดยโจทก์ได้ค่าเช่าเป็นผลประโยชน์ตอบแทนเท่านั้น มิได้มีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค หรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และมิใช่สัญญาที่โจทก์มอบให้จำเลยที่ ๑ เข้าดำเนินการบริการสาธารณะโดยตรงหรือเข้าร่วมดำเนินการจัดทำบริการสาธารณะกับโจทก์ อันจะถือว่าเป็นสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และแม้จะมีข้อสัญญาที่กำหนดให้โจทก์บอกเลิกสัญญาได้ก่อนครบกำหนดโดยไม่ต้องรับผิด หรือกำหนดให้จำเลยที่ ๑ ต้องปฏิบัติตามระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง และประกาศของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเช่าพื้นที่ ก็พบได้ทั่ว ๆ ไปในสัญญาทางแพ่งที่หน่วยงานของรัฐทำกับเอกชน สัญญาเช่าพื้นที่พิพาทจึงไม่ใช่สัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เป็นสัญญาทางแพ่งที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

Share