แหล่งที่มา : สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยทั้งสาม ซึ่งจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เป็นเอกชน ส่วนจำเลยที่ ๓ เป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อ้างว่า ร้อยตำรวจตรี ล. บิดาโจทก์ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินที่พิพาทตามพระราชบัญญัติจัดสรรที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. ๒๕๑๑ นาง จ. มารดาโจทก์ได้รับอนุญาตให้รับโอนสิทธิในที่ดินต่อจากร้อยตำรวจตรี ล. ต่อมานาง จ. เสียชีวิต โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนาง จ. ที่ดินพิพาทเป็นมรดกตกทอดมาถึงโจทก์ โจทก์ไม่สามารถเข้าครอบครองที่ดินพิพาทได้เนื่องจากจำเลยที่ ๑ และบริวารครอบครองที่ดินอยู่โดยอ้างว่าได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ ๓ ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอนการที่จำเลยที่ ๓ อนุญาตให้จำเลยที่ ๑ เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแปลงเดียวกับโจทก์ คดีจึงมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า โจทก์หรือจำเลยที่ ๑ เป็นผู้มีคุณสมบัติที่จะได้รับสิทธิในการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินแปลงพิพาทดีกว่ากัน อันเป็นปัญหาเกี่ยวกับคุณสมบัติของบุคคลที่จะได้รับการคัดเลือกให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐ คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง