คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3759/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พฤติการณ์ในการดำเนินการเพื่อให้ได้รับเงินกู้จากกองทุนของผู้ร้องคัดค้านที่ดำเนินการในนามบริษัท บ. ซึ่งมี ส. เป็นผู้มีอำนาจจัดการที่แท้จริง และเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากเงินที่กู้ยืมมาจากกองทุนทั้งสามครั้ง รวม 3,000,000,000 บาท เชื่อได้ว่าเป็นการกระทำโดยมีการกำหนดขั้นตอนไว้เพียงเพื่อให้ได้เงินมาจากกองทุนในเวลาอันรวดเร็ว และการยกเลิกอาวัลที่ทำให้หลักประกันของกองทุนหมดสิ้นไปถือได้ว่าเป็นการไม่สุจริต พฤติการณ์เป็นการหลอกลวงเพื่อให้ได้เงินจากกองทุนในการกู้ยืม จากนั้นก็ถอนหรือโอนเงินไปเพื่อการต่าง ๆ ของกลุ่มบริษัทในเครือของตนเองและพวกพ้อง โดยไม่ได้ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ที่เสนอโครงการกับกองทุน ทั้งการที่กู้เงินจากกองทุนโดยยอมเสียดอกเบี้ยร้อยละ 7 ต่อปี เพื่อนำไปให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 4.5 ต่อปี และปล่อยกู้เพียง 72,000,000 บาท คิดดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 4 ต่อปี ย่อมเห็นได้ว่าเป็นการประกอบธุรกิจที่ไม่น่าจะได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าพอที่จะใช้เงินคืนได้ นอกจากนั้นการที่อ้างว่าปล่อยเงินกู้ให้แก่คณะกรรมการกองทุนโดยไม่ได้ทำสัญญากู้ ย่อมเป็นพฤติการณ์ที่น่าเชื่อว่าเป็นการกระทำที่ไม่สุจริต ทั้งการชำระดอกเบี้ยเงินกู้ก้อนแรกก็เป็นการนำเงินที่กู้มานั้นจ่ายเป็นดอกเบี้ย พฤติการณ์น่าเชื่อว่าการกู้เงินจากกองทุนทั้งสามครั้งมีเจตนาไม่สุจริตแต่แรกต่อเนื่องกัน อันเป็นการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น และความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงหรือยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ อันเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (5) และ (18) แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542
ส. รับโอนเงินกู้ยืมที่ได้รับมาเข้าบัญชีตนเองกว่า 100,000,000 บาท จากนั้นไม่กี่วันก็ซื้อที่ดิน ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องร้องขอให้ยึดในคดีนี้ในช่วงเวลาที่มีการกระทำความผิดมูลฐาน โดย ส. หรือผู้อื่นไม่ยื่นคำคัดค้าน จึงเชื่อได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐาน ซึ่งเมื่อผู้ร้องคัดค้านหน่วยงานต้นสังกัดของกองทุนเป็นผู้เสียหายร้องขอให้คืนทรัพย์สินหรือชดใช้คืน ประกอบกับผู้ร้องไม่คัดค้านและได้แก้ไขคำร้องตามที่ผู้ร้องคัดค้านยื่นคำร้องเข้ามา จึงสมควรให้คืนหรือนำทรัพย์สินไปชดใช้คืนแก่ผู้ร้องคัดค้านตามมาตรา 49 วรรคหก แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องขอให้ไต่สวนและมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดของนายเกษมกับพวกในคดีนี้รวม 3 รายการ เป็นเงิน 3,432,550 บาท พร้อมดอกผลไปคืนหรือชดใช้คืนให้แก่สำนักงานคณะกรรมการ สกสค. หรือให้ตกเป็นของแผ่นดิน ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 49, 51 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2558 มาตรา 43
ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนและประกาศตามกฎหมายแล้ว
ระหว่างพิจารณา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษายื่นคำร้องคัดค้านว่า ผู้ร้องคัดค้านเป็นผู้เสียหายในความผิดมูลฐานขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดของนายเกษมกับพวกรวม 3 รายการ เป็นเงิน 3,432,550 บาท พร้อมดอกผลคืนหรือชดใช้คืนให้แก่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งเป็นผู้เสียหายแทนการให้ตกเป็นของแผ่นดิน ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 49 วรรคหก
นายเกษม กับพวก รวมทั้งนายสัมฤทธิ์ ซึ่งมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ทรัพย์ตามคำร้องนี้ไม่ยื่นคำคัดค้านและไม่มาศาลในการสืบพยาน
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่าหลังจากที่เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน รับหนังสือร้องเรียน จากนายบุญส่ง อดีตผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) สมุทรสาคร และสมาชิกโครงการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) ความว่า นายเกษม อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการ สกสค. กับพวกมีพฤติการณ์ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่อนุมัติเงินกองทุนของสำนักงานคณะกรรมการ สกสค. 2,100,000,000 บาท ให้บริษัทบิลเลี่ยน อินโนเวเท็ด กรุ๊ป จำกัด กู้ยืมโดยไม่มีหลักประกันที่ชัดเจน และบริษัทบิลเลี่ยน อินโนเวเท็ด กรุ๊ป จำกัด ไม่สามารถคืนเงินกู้พร้อมดอกเบี้ยได้ จึงน่าเชื่อว่านายเกษมกับพวกมีเจตนาฉ้อโกงเงินของกองทุน สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) และคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ตรวจสอบแล้วพบว่า กองทุนนำเงินไปซื้อตั๋วสัญญาใช้เงินจากบริษัทบิลเลี่ยน อินโนเวเท็ด กรุ๊ป จำกัด โดยกำหนดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7 ต่อปี ทุกครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2556 จำนวน 500,000,000 บาท ครั้งที่สองเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2556 จำนวน 2,100,000,000 บาท ครั้งที่สามเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2557 จำนวน 400,000,000 บาท โดยในครั้งที่สองและครั้งที่สามนี้ไม่มีการอาวัลตั๋วจากธนาคาร โดยในการอนุมัติมีการกล่าวอ้างผลจากการที่ให้กู้ยืมเงิน 500,000,000 บาท ที่ได้รับดอกเบี้ยมา 35,000,000 บาท ซึ่งถือว่าได้รับผลตอบแทนสูงกว่าการนำฝากไว้กับสถาบันการเงิน เมื่อติดตามทวงถามเรื่องการอาวัล บริษัทบิลเลี่ยน อินโนเวเท็ด กรุ๊ป จำกัด จึงวางหลักประกันดังต่อไปนี้ คือ 1. โฉนดที่ดิน 33 แปลง และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ 16 แปลง รวม 49 แปลง พร้อมหนังสือมอบอำนาจ 2. เช็คธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) เลขที่ 048xxxx ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2557 จำนวน 2,100,000,000 บาท โดยขีดฆ่าคำว่า “หรือผู้ถือ” ออก และใส่ชื่อผู้รับในช่อง “จ่าย” ด้วยคำว่า “กองทุนเงินสนับสนุนพิเศษและส่งเสริมความมั่นคงตามโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค.” 3. ดราฟต์ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น จำกัด เลขที่ 3360xxxx ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2557 ครบกำหนดวันที่ 30 มิถุนายน 2558 ระบุจ่ายเงิน 100,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ แก่ office of the welfare promotion commission for teachers and educational personnel 4. หุ้นสโมสรฟุตบอลเรดดิ้ง 50 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นละ 1 ปอนด์ พร้อมหนังสือยินยอมให้โอนเป็นหลักประกัน 5. ธนบัตรเงินสกุลโครเอเชีย จำนวน 950,000,000 HRK และ 6. หนังสือค้ำประกันตนเต็มมูลค่าของนายสัมฤทธิ์ เมื่อตรวจสอบหลักประกันต่าง ๆ ดังกล่าวพบว่าที่ดินทุกแปลงไม่ได้จดทะเบียนจำนองเป็นประกันให้ถูกต้องตามกฎหมาย มีเพียงหนังสือมอบอำนาจให้ขายแต่ไม่ได้ระบุชื่อผู้รับมอบอำนาจ กรณีเช็คธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) เลขที่ 048xxxx ไม่สามารถขึ้นเงินเนื่องจากเงินในบัญชีไม่พอจ่าย ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) แจ้งว่าไม่มีรายการทางการเงินและรายการเดินบัญชีของบริษัทบิลเลี่ยน อินโนเวเท็ด กรุ๊ป จำกัด จากเช็คนี้แต่อย่างใด ส่วนดราฟต์ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น จำกัด เลขที่ 3360xxxx มูลค่า 100,000,000 ดอลลาร์สหรัฐนั้น ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น จำกัด แจ้งเป็นหนังสือ ว่าเป็นของปลอม กรณีหุ้นสโมสรฟุตบอลเรดดิ้ง เลขที่ RFC00168 จำนวน 50 ล้านหุ้น หุ้นละ 1 ปอนด์นั้น ผลการตรวจสอบแจ้งว่าไม่พบข้อมูลว่านายสัมฤทธิ์ เป็นผู้ถือหุ้นหรือเป็นกรรมการในสโมสรนี้แต่ประการใด ส่วนธนบัตรเงินสกุลโครเอเชียจำนวน 950,000,000 HRK พบว่าเป็นธนบัตรที่แท้จริงแต่ปัจจุบันธนบัตรเหล่านี้ถูกยกเลิกการใช้แล้ว คณะกรรมการธุรกรรมเห็นว่าพฤติการณ์ของนายเกษมกับพวกมีลักษณะเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (5) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 จึงส่งเรื่องให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ยึดทรัพย์สินของนายเกษมกับพวก ต่อมาพบว่าเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2556 นายสัมฤทธิ์กรรมการคนหนึ่งซึ่งมีอำนาจลงชื่อผูกพันบริษัทบิลเลี่ยน อินโนเวเท็ด กรุ๊ป จำกัด ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 3638 ,4817 และ 4862 รวม 3 แปลง โดยชำระราคาที่ดิน 6,000,000 บาท ด้วยแคชเชียร์เช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาถนนหลานหลวง ส่วนที่เหลือชำระด้วยเงินสด โดยการโอนเงินจากบัญชีที่รับโอนเงินจากกองทุนเข้าบัญชีนายสัมฤทธิ์โดยตรง จากการตรวจสอบของนางสาววิมลวรรณ นักวิชาการตรวจเงินแผ่นดินชำนาญการพิเศษ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) แต่งตั้งเป็นคณะอนุกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ด้านการเงิน การบัญชีและการเบิกจ่าย และพันเอกชัยพร ผู้ช่วยผู้อำนวยการกองตรวจสอบภายในที่ 1 สำนักงานตรวจสอบภายในทหารบก ได้วิเคราะห์ผลตอบแทนและความเสียหายที่กองทุนอาจได้รับจากการไม่ได้รับเงินคืนตามตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับ 2,100,000,000 บาท และฉบับ 400,000,000 บาท พบว่าการที่กองทุนซื้อตั๋วสัญญาใช้เงินจากบริษัทบิลเลี่ยน อินโนเวเท็ด กรุ๊ป จำกัด นั้น ไม่มีหลักฐานว่าบริษัทบิลเลี่ยน อินโนเวเท็ด กรุ๊ป จำกัด นำเงินไปใช้อย่างไรเพื่อให้ได้ผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยในอัตราสูงคืนแก่กองทุน ทั้งตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัทบิลเลี่ยน อินโนเวเท็ด กรุ๊ป จำกัด ไม่มีธนาคารอาวัลเป็นประกัน เงินธนบัตรสกุลโครเอเชียที่บริษัทบิลเลี่ยน อินโนเวเท็ด กรุ๊ป จำกัด นำมาค้ำประกันเป็นธนบัตรที่ยกเลิกการใช้แล้วและมีการนำไปเก็บรักษาในตู้นิรภัยภายในสำนักงานคณะกรรมการ สกสค. แทนการนำฝากธนาคารเพื่อให้ได้รับดอกเบี้ย และเช็คธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) จำนวนเงิน 2,100,000,000 บาท สั่งจ่ายโดยวิธีขีดฆ่าคำว่า หรือผู้ถือออก และระบุชื่อผู้รับเงินที่เขียนขึ้นต้นด้วยคำว่า “กองทุน” นั้น ทางกองทุนไม่มีการเปิดบัญชีโดยใช้ชื่อในลักษณะดังกล่าว เช็คจึงไม่สามารถขึ้นเงินได้ตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม 2557 และผู้บริหารกองทุนมิได้ดำเนินการใด ๆ เพื่อให้ได้รับเงิน ทั้งปรากฏตามเอกสารว่า “เงินในบัญชีไม่พอจ่าย”
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า นายเกษม กับพวก กระทำความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 หรือไม่ เห็นว่า พฤติการณ์ในการดำเนินการเพื่อให้ได้รับเงินกู้จากกองทุนที่ดำเนินการในนามบริษัทบิลเลี่ยน อินโนเวเท็ด กรุ๊ป จำกัด ซึ่งมีนายสัมฤทธิ์เป็นผู้มีอำนาจจัดการที่แท้จริงและเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากเงินที่กู้ยืมมาจากกองทุนทั้งสามครั้งรวม 3,000,000,000 บาท ตั้งแต่การติดต่อขอวงเงินจากธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) เพื่อให้อาวัลและใช้ในการอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินที่ขายให้แก่กองทุน 500,000,000 บาท แล้วยกเลิกการอาวัลหลังจากได้เงินไปจากกองทุนแล้ว ย่อมเป็นผลให้การซื้อตั๋วสัญญาใช้เงินไม่มีการอาวัลแล้วนับแต่วันดังกล่าว พฤติการณ์ที่กู้ยืมเงิน 500,000,000 บาท เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2556 เป็นพฤติการณ์ที่เชื่อได้ว่าเป็นการกระทำโดยมีการกำหนดขั้นตอนไว้เพียงเพื่อให้ได้เงินมาจากกองทุนในเวลาอันรวดเร็ว และการยกเลิกอาวัลทำให้หลักประกันของกองทุนหมดสิ้นไปถือได้ว่าเป็นการไม่สุจริต พฤติการณ์เป็นการหลอกลวงเพื่อให้ได้เงิน 500,000,000 บาท จากกองทุนในการกู้ยืมเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2556 จากนั้นก็ถอนหรือโอนเงินไปเพื่อการต่าง ๆ ของกลุ่มบริษัทในเครือของตนเองและพวกพ้อง โดยไม่ได้ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ที่เสนอโครงการกับกองทุน ทั้งการที่กู้เงินโดยยอมเสียดอกเบี้ยร้อยละ 7 ต่อปี เพื่อไปให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 4.5 ต่อปี ทั้งระยะเวลาที่ต้องใช้เงินคืนกองทุนกำหนดเวลาเพียง 1 ปี 1 วัน แต่ในการปล่อยกู้ซึ่งมีการปล่อยกู้เพียง 72,000,000 บาท โดยมีระยะเวลาใช้คืน 10 ปี และคิดดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 4 ต่อปี ย่อมเห็นได้ว่าเป็นการประกอบธุรกิจที่ไม่น่าจะได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าพอที่จะใช้เงินคืนได้ นอกจากนั้นยังมีพฤติการณ์ในการที่อ้างว่าปล่อยเงินกู้ให้แก่คณะกรรมการกองทุนโดยไม่ได้ทำสัญญากู้ ย่อมเป็นพฤติการณ์ที่น่าเชื่อว่าเป็นการกระทำที่ไม่สุจริตโดยมีผู้ขึ้นเงินตามแคชเชียร์เช็คที่อ้างว่าเป็นเงินที่ให้แก่คณะกรรมการนำร่องในการกู้คนละ 1,000,000 บาท ทั้งการชำระดอกเบี้ยเงินกู้ก้อนแรก 500,000,000 บาท ที่ต้องชำระดอกเบี้ย 35,000,000 บาท ก็เป็นการนำเงินที่กู้มานั้นจ่ายเป็นดอกเบี้ย พฤติการณ์น่าเชื่อว่าการกู้เงินจากกองทุนทั้งสามครั้งรวม 3,000,000,000 บาท เป็นพฤติการณ์ที่มีเจตนาไม่สุจริตแต่แรกต่อเนื่องกัน อันเป็นการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น และความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงหรือยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา อันมีลักษณะเป็นปกติธุระ อันเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (5) และ (18) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เมื่อนายสัมฤทธิ์ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจจัดการบริษัทที่ดำเนินการในการกู้เงินทั้งสามครั้งจากกองทุน รับโอนเงินที่ได้รับมาเข้าบัญชีตนเองมากกว่า 100,000,000 บาท หลังจากนั้นไม่กี่วันก็ซื้อที่ดินโดยที่บัญชีธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ของนายสัมฤทธิ์ที่รับโอนเงินดังกล่าว ตั้งแต่เดือนเมษายน 2556 มีเงินไม่เกิน 1,000,000 บาท การที่นายสัมฤทธิ์ซื้อที่ดิน ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ร้องขอให้ยึดในคดีนี้ในช่วงเวลาที่มีการกระทำความผิดมูลฐานโดยนายสัมฤทธิ์หรือผู้อื่นใดไม่ยื่นคำคัดค้านแสดงพยานหลักฐานว่าได้มาโดยชอบอย่างไร พยานหลักฐานที่ผู้ร้องนำสืบมาเชื่อได้ว่า ที่ดินทั้ง 3 แปลง ตามคำร้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐาน ตามมาตรา 3 (5) และ (18) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เมื่อสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดของกองทุนซึ่งเป็นผู้เสียหายร้องขอให้คืนทรัพย์สินหรือชดใช้คืน ประกอบกับผู้ร้องไม่คัดค้านและได้แก้ไขคำร้องตามที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ยื่นคำร้องเข้ามา จึงสมควรให้คืนหรือนำทรัพย์สินไปชดใช้คืนแก่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ตามมาตรา 49 วรรคหก แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น
พิพากษากลับเป็นว่า ให้นำที่ดินโฉนดเลขที่ 3638, 4817 และ 4862 ไปคืนหรือชดใช้คืนให้แก่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share