คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5593/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การโอนเงินผ่านทางธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีธนาคารเป็นตัวกลางในการส่งมอบเงินผ่านขั้นตอนของธนาคารที่ส่งถ่ายข้อมูลด้วยความเร็วแสงโดยใช้ตัวเลขเงินในบัญชีเป็นหลักฐานยืนยันในการรับโอนเงิน ทำให้ผู้รับโอนสามารถรับเงินได้แม้อยู่ในระยะไกล ซึ่งการโอนจะเสร็จสิ้นสมบูรณ์เมื่อผู้รับโอนได้รับเครดิตยอดเงินทางบัญชีครบถ้วนแล้ว
ป. โอนเงินให้จำเลยโดยใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่และตู้เบิกถอนเงินสดอัตโนมัติ ขณะอยู่ที่อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี และปรากฏมีเครดิตยอดเงินเข้าบัญชีของจำเลยที่กรุงเทพมหานคร การป้อนคำสั่งให้โอนเงินเกิดขึ้นที่อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี เงินอันเป็นต้นเหตุของการกระทำความผิดฐานยักยอกจึงหลุดพ้นจากความครอบครองของ ป. และเข้าไปอยู่ในความครอบครองของจำเลยตั้งแต่ขณะ ป. สั่งโอนเงิน จำเลยสามารถถอนเงินจากสถานที่ใดเวลาใดนับจากที่ได้รับโอนเงินทันที ดังนั้น อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี จึงถือเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความผิดฐานยักยอก พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจท่าม่วงจึงมีอำนาจสอบสวนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 วรรคสอง (ข)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 93, 352 เพิ่มโทษจำเลยกึ่งหนึ่งตามกฎหมาย และให้จำเลยคืนเงิน 80,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายปริยวิศว์ ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์ โดยอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีศาลสูงภาค 7 ซึ่งอัยการสูงสุดมอบหมาย รับรองให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาในปัญหาที่ยังมิได้วินิจฉัยแล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังยุติว่า โจทก์ร่วมเป็นเจ้าของรถแทรกเตอร์ตีนตะขาบ ยี่ห้อแคเตอร์พิลลาร์ 1 คัน ซึ่งจอดไว้ที่ร้านของนายจำลอง ที่ตำบลท่าล้อ อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ก่อนเกิดเหตุโจทก์ร่วมมอบหมายให้จำเลยขายรถแทรกเตอร์ตีนตะขาบดังกล่าว ต่อมาประมาณเดือนพฤศจิกายน 2557 นายปิยะ บุตรเขยของนายจำลอง อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 57/3 หมู่ที่ 2 ตำบลท่าล้อ อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ตกลงซื้อรถแทรกเตอร์ตีนตะขาบตามที่จำเลยลงประกาศในเว็บไซต์ในราคา 680,000 บาท โดยนายปิยะโอนเงินจากบัญชีธนาคารกสิกรไทย สาขาตลาดไท อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เลขที่บัญชี 484-2-11xxx-x จำนวน 30,000 บาท เข้าบัญชีของจำเลยเป็นค่ามัดจำ ส่วนที่เหลือชำระในวันที่ 15 ธันวาคม 2557 โดยโอนเงิน 500,000 บาท ผ่านระบบธนาคารออนไลน์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ และจำนวน 150,000 บาท ผ่านตู้เบิกถอนเงินอัตโนมัติ เข้าบัญชีธนาคารกสิกรไทย เลขที่ 054-2-74 xxx-x ของจำเลย ขณะโอนเงินให้แก่จำเลยทั้ง 3 ครั้ง นายปิยะอยู่ที่ตำบลท่าล้อ อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี หลังจากนั้นในวันเดียวกันจำเลยโอนเงินจากบัญชีของจำเลย จำนวน 500,000 บาท ผ่านระบบธนาคารออนไลน์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ และจำนวน 100,000 บาท ผ่านตู้เบิกถอนเงินอัตโนมัติซึ่งตั้งอยู่ในเขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร รวมเป็นเงิน 600,000 บาท ให้แก่โจทก์ร่วมด้วยการโอนเข้าบัญชีของนายชัยวุฒิ เป็นบัญชีธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาเซ็นทรัลพลาซา แกรนด์ พระราม 9 กรุงเทพมหานคร และแจ้งแก่โจทก์ร่วมว่าขายรถได้ในราคา 600,000 บาท ต่อมาเดือนพฤษภาคม 2558 โจทก์ร่วมทราบจากนายปิยะผู้ซื้อรถว่าซื้อรถแทรกเตอร์ตีนตะขาบดังกล่าวจากจำเลยในราคา 680,000 บาท โจทก์ร่วมจึงไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในข้อหายักยอกเงิน 80,000 บาท ที่ได้มาจากการขายรถแทรกเตอร์ตีนตะขาบของโจทก์ร่วม จำเลยให้การปฏิเสธและนำสืบต่อสู้ว่า โจทก์ร่วมมอบหมายให้จำเลยขายรถแทรกเตอร์ตีนตะขาบให้โดยตั้งราคาขายไว้ 600,000 บาท เงินส่วนต่าง 80,000 บาท เป็นเงินส่วนเกินที่จำเลยมีสิทธิได้รับตามข้อตกลง
คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ปัญหานี้ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่าอำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี มิใช่ท้องที่ที่ความผิดเกิด พนักงานสอบสวนอำเภอท่าม่วงทำการสอบสวนจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ส่วนศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรท่าม่วงสอบสวนคดีนี้โดยมีเหตุอันควรเชื่อว่ามูลคดีความผิดฐานยักยอกได้เกิดภายในเขตอำนาจของตน จึงมีอำนาจสอบสวนและโจทก์มีอำนาจฟ้อง เห็นว่า โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบในทำนองว่า โจทก์ร่วมมอบหมายให้จำเลยขายรถแทรกเตอร์ตีนตะขาบของโจทก์ร่วมมากกว่า 680,000 บาท แต่จำเลยอ้างว่าเจรจาตกลงขายรถแทรกเตอร์ตีนตะขาบให้นายปิยะในราคา 600,000 บาท และโอนเงินให้แก่โจทก์ร่วม 600,000 บาท ทั้งที่ความจริงขาย 680,000 บาท นั้น แสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาที่จะยักยอกเงินจำนวน 80,000 บาท ของโจทก์ร่วมมาก่อนที่จะได้รับเงินจากนายปิยะแล้ว การโอนเงินผ่านทางธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์นั้นแตกต่างจากการส่งมอบตัวเงินสดเพราะมีธนาคารเป็นตัวกลางในการส่งมอบเงินสดผ่านขั้นตอนของธนาคารที่ส่งถ่ายข้อมูลด้วยความเร็วแสงโดยใช้ตัวเลขเงินในบัญชีเป็นหลักฐานยืนยันในการรับโอนเงิน ทำให้ผู้รับโอนสามารถรับเงินได้แม้อยู่ในระยะไกลซึ่งการโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ย่อมเสร็จสิ้นสมบูรณ์เมื่อผู้รับโอนได้รับเครดิตยอดเงินทางบัญชีครบถ้วนแล้ว ดังนั้น เมื่อนายปิยะดำเนินการโอนเงินให้แก่จำเลยและปรากฏว่ามีเครดิตยอดเงินเข้าบัญชีของจำเลยเรียบร้อย ขณะอยู่ที่อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี โดยใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่และตู้เบิกถอนเงินสดอัตโนมัติเป็นเครื่องมือในการทำธุรกรรม แสดงว่าการป้อนคำสั่งให้โอนเงินจากบัญชีของนายปิยะในจังหวัดปทุมธานี ไปเข้าบัญชีของจำเลยที่กรุงเทพมหานคร เกิดขึ้นที่อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี เงินอันเป็นต้นเหตุของการกระทำความผิดฐานยักยอกจึงหลุดพ้นจากความครอบครองของนายปิยะและเข้าไปอยู่ในความครอบครองของจำเลยตั้งแต่นายปิยะสั่งโอนเงินผ่านทางธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ขณะอยู่ที่อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี จำเลยสามารถเบิกถอนเงินจำนวนดังกล่าวจากสถานที่ใดเวลาใดนับจากที่ได้รับโอนเงินได้ทันที ดังนั้น อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี จึงถือเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความผิดฐานยักยอกของจำเลยนอกเหนือจากจังหวัดปทุมธานีและกรุงเทพมหานครด้วย ถือเป็นกรณีความผิดส่วนหนึ่งกระทำในท้องที่หนึ่งแต่อีกส่วนหนึ่งกระทำในอีกท้องที่หนึ่ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 19 (2) เมื่อสถานีตำรวจภูธรท่าม่วงเป็นสถานที่ที่โจทก์ร่วมแจ้งความให้ดำเนินคดีแก่จำเลย พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรท่าม่วงจึงมีอำนาจสอบสวนและเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ตามมาตรา 19 วรรคสอง (ข) โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและมีคำสั่งให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ในปัญหาที่ยังไม่ได้วินิจฉัยจึงชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share