คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 104/2534

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การฟ้องให้จำเลยร่วมกันรับผิดใช้ค่าเสียหายในมูลละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 432 ไม่จำต้องบรรยายว่าจำเลยแต่ละคนจะต้องรับผิดต่อโจทก์คนละเท่าใดเพราะจำเลยต้องร่วมกันรับผิดเต็มตามฟ้องอยู่แล้ว ดังนั้น ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม แม้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมการค้าต่างประเทศจะพูดกับจำเลยที่ 1 ผู้มาขอให้โจทก์ช่วยตรวจสอบเรื่องของจำเลยที่ 1ว่า “ผมไม่ชอบให้พ่อค้าเร่งข้าราชการ ผมรู้หน้าที่ของผมดี ผมไม่ชอบ”ก็ไม่ใช่ถ้อยคำที่ไม่สุภาพ เชื่อว่าเกิดจากความไม่พอใจที่จำเลยที่ 1 มาเร่งรัด ประกอบกับโจทก์ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามปกติโดยไม่ชักช้า โจทก์จึงไม่มีอคติในการทำงาน การที่จำเลยที่ 1 ร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาของโจทก์ว่าโจทก์ไม่ยอมทำงานเอาแต่นั่งอ่านหนังสือพิมพ์ มีอคติในการทำงาน และกระทำการหน่วงเหนี่ยวเป็นกำแพงป้องกันการส่งสินค้าออก จึงเป็นการร้องเรียนกล่าวหาที่ฝ่าฝืนต่อความจริง เป็นการละเมิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นข้าราชการระดับ 5 ทำหน้าที่ผู้ช่วยหัวหน้างานตรวจสอบผ้าไหม ฝ่ายตรวจสอบมาตรฐานสินค้าสำนักงานมาตรฐานสินค้า กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างและตัวแทนของจำเลยที่ 2 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการส่งสินค้า (ผ้าไหม) ออกนอกราชอาณาจักร จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์สยามรัฐ เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2528 จำเลยที่ 1 ขณะปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างและกระทำการแทนจำเลยที่ 2ได้ทำหนังสือร้องเรียนโจทก์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าวหาว่าโจทก์เป็นข้าราชการมีอคติในการทำงาน ใช้วาจาไม่สุภาพพยายามหน่วงเหนี่ยวการส่งออก และกระทำตนเป็นกำแพงป้องกันการส่งออกขัดต่อนโยบายของรัฐบาล โดยจำเลยที่ 1 ได้นำผ้าไหมและปลอกหมอนไปให้ตรวจสอบรับรองมาตรฐานเพื่อส่งออก และเมื่อเจ้าหน้าที่เสนอเรื่องให้โจทก์ตรวจเอกสาร โจทก์กลับนั่งอ่านหนังสือพิมพ์ไม่ยอมตรวจเอกสารที่เสนอ จำเลยที่ 1 ขอให้โจทก์ช่วยตรวจสอบ โจทก์กลับตวาดจำเลยที่ 1 และอ่านหนังสือพิมพ์ต่อไป ซึ่งคำกล่าวหาดังกล่าวล้วนเป็นความเท็จ ทั้งนี้โดยจำเลยที่ 1 มีเจตนาให้โจทก์ถูกสอบสวนและถูกลงโทษทางวินัย ความจริงโจทก์ปฏิบัติราชการถูกต้องตามระเบียบแบบแผน ไม่เคยบกพร่องต่อหน้าที่ ไม่เคยใช้วาจาไม่สุภาพ หรือพยายามหน่วงเหนี่ยวการส่งออก และไม่เคยกระทำตนเป็นกำแพงป้องกันการส่งออก และเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2528 จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 3 ลงพิมพ์โฆษณาบทความในหนังสือพิมพ์สยามรัฐฉบับประจำวันดังกล่าว ถึงการร้องเรียนของจำเลยที่ 1 ดังได้กล่าวมาแล้วนั้น ซึ่งเป็นการร่วมกันไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความเท็จการกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการจงใจกระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงเกียรติคุณ ถูกดูหมิ่นเกลียดชังจากผู้บังคับบัญชา ผู้ใต้บังคับบัญชา และประชาชนโดยทั่วไป ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ 100,000บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จสิ้น และให้ร่วมกันโฆษณาคำพิพากษาของศาลในหนังสือพิมพ์สยามรัฐและหนังสือพิมพ์ไทยรัฐเป็นเวลา 7 วันจำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การว่า การร้องเรียนดังกล่าวเป็นการเสนอข้อความจริงที่เกิดขึ้น หาได้นำความเท็จมากล่าวเพื่อให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังไม่ ฟ้องของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนเคลือบคลุม เนื่องจากไม่แสดงโดยแจ้งชัดว่า จำเลยแต่ละคนต้องรับผิดคนละเท่าใด ถ้าโจทก์เสียหายจริงก็ไม่เกิน1,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ไม่ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ร้องเรียนโจทก์ จำเลยที่ 3 เป็นเพียงเจ้าของหนังสือพิมพ์สยามรัฐมิได้รู้เห็นด้วย ขอให้ยกฟ้องศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันชำระค่าเสียหาย20,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้อง 18 กันยายน 2528 จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันจัดให้มีการโฆษณาคำพิพากษาของศาลให้ประชาชนทราบในหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน และหนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับละ 7 วัน โดยจำเลยที่ 1 ที่ 2 เสียค่าใช้จ่าย หากจำเลยที่ 1ที่ 2 ไม่ปฏิบัติตาม ให้โจทก์จัดการโฆษณาเองโดยคิดค่าใช้จ่ายจากจำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้ยกฟ้องโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 3 โจทก์ และจำเลยที่ 1 ที่ 2 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 1 ที่ 2ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความรับกันและไม่โต้เถียงกันฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ได้มีหนังสือร้องเรียนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของโจทก์ กล่าวหาว่าโจทก์ใช้วาจาไม่สุภาพ มีอคติในการทำงานพยายามหน่วงเหนี่ยวและกระทำการเป็นกำแพงป้องกันการส่งสินค้าออก มีรายละเอียดตามหนังสือร้องเรียนเอกสารหมาย จ.48 คดีมีข้อวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 1และที่ 2 ว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ ที่จำเลยที่ 1 มีหนังสือร้องเรียนดังกล่าวเป็นการละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ และโจทก์เสียหายเพียงใด
สำหรับปัญหาข้อแรกที่ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม จำเลยที่ 1และที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์บรรยายฟ้องให้จำเลยร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์โดยไม่ได้แยกให้แต่ละคนรับผิดคนละเท่าใด ฟ้องโจทก์จึงเคลือบคลุม เห็นว่า โจทก์ฟ้องให้จำเลยร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายในมูลละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 432 จึงไม่จำต้องบรรยายว่าจำเลยแต่ละคนจะต้องรับผิดต่อโจทก์คนละเท่าไร เพราะจำเลยต้องร่วมกันรับผิดเต็มตามฟ้องอยู่แล้ว ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม
สำหรับปัญหาข้อที่ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่า ที่จำเลยที่ 1 ร้องเรียนกล่าวหาโจทก์ตามหนังสือเอกสารหมาย จ.48 ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์เห็นว่าคู่ความนำสืบรับกันและไม่โต้เถียงกันฟังได้ว่า เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบคุณภาพสินค้าของจำเลยที่ 2 ตามคำร้องของจำเลยที่ 1เสร็จเวลา 11.35 นาฬิกา หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จึงนำเรื่องตามคำร้องของจำเลยที่ 1 ไปเสนอโจทก์ นางสาวสุวิมล ติจิณานนท์และนายปฐม พานิชยานุสนธิ์ เพื่อตรวจสอบตามลำดับ โจทก์และบุคคลทั้งสองตรวจสอบเสร็จจนกระทั่งส่งเรื่องคืนให้แก่ฝ่ายควบคุมมาตรฐานสินค้าเวลา 11.50 นาฬิกา จึงฟังได้ว่า โจทก์ นางสาวสุวิมล และนายปฐมใช้เวลาตรวจสอบเรื่องตามคำร้องของจำเลยที่ 1 รวมกันไม่เกิน 15 นาที เฉลี่ยแล้วคนหนึ่งใช้เวลาไม่เกิน 5 นาที สอดคล้องกับคำเบิกความของโจทก์ที่ว่า โจทก์ใช้เวลาตรวจสอบประมาณ 5 นาที ที่จำเลยที่ 1 เบิกความว่า เจ้าหน้าที่นำเรื่องตามคำร้องของจำเลยที่ 1ไปเสนอขณะโจทก์กำลังนั่งอ่านหนังสือพิมพ์ และโจทก์ยังคงอ่านหนังสือพิมพ์ต่อไปอีกนานประมาณ 10 นาที จำเลยที่ 1 จึงเข้าไปขอร้องให้โจทก์ช่วยตรวจสอบเรื่องตามคำร้องของจำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่าในเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเจ้าหน้าที่นำเรื่องตามคำร้องของจำเลยที่ 1 เสนอโจทก์เวลา 11.35 นาฬิกา โจทก์ตรวจสอบเสร็จแล้วเสนอผ่านไปยังนางสาวสุวิมลและนายปฐมตรวจสอบอีกตามลำดับ ใช้เวลารวมกันประมาณ 15 นาที ดังนี้ หากเสนอเรื่องตามคำร้องของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ และจำเลยที่ 1 ต้องรอให้โจทก์อ่านหนังสือพิมพ์ต่อไปนานประมาณ10 นาทีดังที่จำเลยที่ 1 เบิกความแล้ว จะส่งเรื่องตามคำร้องของจำเลยที่ 1 คืนให้แก่ฝ่ายควบคุมมาตรฐานสินค้าในเวลา 11.50 นาฬิกาได้อย่างไร คำเบิกความของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงขัดต่อเหตุผลไม่น่าเชื่อแต่น่าเชื่อว่า โจทก์ใช้เวลาตรวจสอบเรื่องตามคำร้องของจำเลยที่ 1 เพียงประมาณ 5 นาที ดังที่โจทก์เบิกความ ซึ่งนอกจะฟังได้ว่าโจทก์ปฏิบัติงานในหน้าที่ตามปกติแล้ว ยังฟังได้ว่าปฏิบัติงานหน้าที่ด้วยความรวดเร็วด้วย ที่จำเลยที่ 1 เบิกความว่าพอเข้าไปขอร้องให้โจทก์ช่วยตรวจสอบเรื่องตามคำร้องแล้ว โจทก์พูดว่า “ผมไม่ชอบให้พ่อค้ามาเร่งข้าราชการ ผมรู้หน้าที่ของผมดี ผมไม่ชอบ” นั้นเห็นว่า แม้โจทก์จะใช้วาจาดังกล่าวก็เชื่อว่าเกิดจากความไม่พอใจที่จำเลยที่ 1 มาเร่งรัด และถ้อยคำดังกล่าวก็มิใช่ถ้อยคำที่ไม่สุภาพ ประกอบกับโจทก์ได้ปฏิบัติหน้าที่ไปตามปกติโดยมิชักช้าดังได้วินิจฉัยแล้วข้างต้น จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ใช้วาจาไม่สุภาพและมีอคติในการทำงาน ดังนั้นที่จำเลยที่ 1 ร้องเรียนกล่าวหาว่าโจทก์ไม่ยอมทำงานเอาแต่นั่งอ่านหนังสือพิมพ์ มีอคติในการทำงานและกระทำการหน่วงเหนี่ยวเป็นกำแพงป้องกันการส่งสินค้าออก จึงเป็นการร้องเรียนกล่าวหาที่ฝ่าฝืนต่อความจริง เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ต้องเสียหาย จำเลยที่ 2 ในฐานะเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อโจทก์ด้วย ฎีกาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนปัญหาข้อที่ว่า ค่าเสียหายมีเพียงใด มีข้อวินิจฉัยเฉพาะเรื่องที่โจทก์ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 โฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์เท่านั้น จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่า เพียงโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์สยามรัฐซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีนี้ หรือในหนังสือพิมพ์สายกลางฉบับใดฉบับหนึ่งเพียง 3 วัน ก็เป็นการเพียงพอที่สาธารณชนทั่วไปรับรู้ข้อนี้เห็นว่า งานในหน้าที่ของโจทก์เป็นงานบริการประชาชนผู้มาติดต่อ จึงย่อมมีประชาชนผู้มาติดต่อทั้งพอใจและไม่พอใจในการปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์บ้างเป็นธรรมดา ดังนั้นจำเลยที่ 1 ซึ่งมาติดต่อแล้วบังเกิดความไม่พอใจในการปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์จึงได้ร้องเรียนกล่าวหา แม้จะบิดเบือนข้อเท็จจริงไปบ้าง จะฟังว่าเป็นพฤติการณ์ที่ร้ายแรงยังไม่ถนัด ประกอบกับโจทก์ได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายไปแล้วส่วนหนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 โฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ และไทยรัฐ ฉบับละ 7 วัน ยังไม่เหมาะแก่รูปคดี ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 โฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวันเพียงฉบับเดียวมีกำหนด 3 วัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share