แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 87 วรรคสาม กำหนดให้ผู้อุทธรณ์ที่ไม่พอใจคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ให้มีสิทธินำคดีไปสู่ศาลแรงงานภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยนั้น กำหนดเวลาสามสิบวันดังกล่าวเป็นเพียงระยะเวลาที่กำหนดให้ฟ้องคดีต่อศาลแรงงานเพื่อโต้แย้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ซึ่งเป็นระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 26 ที่ศาลแรงงานมีอำนาจย่นหรือขยายได้ตามความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม เมื่อปรากฏว่าโจทก์ไม่พอใจคำวินิจฉัยอุทธรณ์จึงนำคดีไปสู่ศาลแรงงานภาค 3 โดยฟ้องสำนักงานประกันสังคมจังหวัดซึ่งเป็นราชการบริหารส่วนภูมิภาคของจำเลยตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน พ.ศ.2545 เป็นจำเลยภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัย จึงเป็นการใช้สิทธิในการโต้แย้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์และได้ดำเนินการนำคดีไปสู่ศาลภายในสามสิบวันตามกฎหมายแล้ว ต่อมาโจทก์ทราบว่าจำเลยมิได้มีฐานะเป็นนิติบุคคล โจทก์จึงแถลงต่อศาลแรงงานภาค 3 ขอถอนฟ้องเพื่อจะได้ฟ้องจำเลยคดีนี้ให้ถูกต้องต่อไป และศาลแรงงานภาค 3อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องคดีเพื่อฟ้องเป็นคดีนี้ใหม่ และโจทก์ก็ได้นำคดีกลับมาฟ้องจำเลยใหม่ภายในสิบวันนับแต่วันที่ถอนฟ้องคดีเดิมโดยศาลแรงงานภาค 3 ได้รับคดีนี้ไว้พิจารณาพิพากษาต่อมา จึงเป็นกรณีที่โจทก์ได้นำคดีไปสู่ศาลแรงงานภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 87 วรรคสาม หาใช่เป็นกรณีที่โจทก์ถอนฟ้องแล้วโจทก์จะต้องฟ้องจำเลยคดีนี้ภายในอายุความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 176 ไม่
ตามบทบัญญัติของพ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 79 และข้อกำหนดในกฎกระทรวงที่ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนการว่างงานเพราะเหตุลาออกจากงานในอัตราร้อยละสามสิบของค่าจ้างรายวันให้ได้รับครั้งละไม่เกินกว่าเก้าสิบวัน โดยลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนนั้น หากได้ขึ้นทะเบียนไว้ที่สำนักจัดหางานของรัฐภายในสามสิบวันนับแต่วันว่างงานจะได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตั้งแต่วันที่แปดนับแต่วันว่างงานจากการทำงานกับนายจ้างรายสุดท้าย แต่หากลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนไม่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ที่สำนักจัดหางานของรัฐภายในสามสิบวันนับแต่วันว่างงานจะได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานนับแต่วันที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ที่สำนักงานจัดหางานของรัฐเท่านั้น เมื่อโจทก์ขึ้นทะเบียนที่สำนักจัดหางานจังหวัดในวันที่ 14 ตุลาคม 2547 โจทก์จึงมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเป็นเงินทดแทนในกรณีว่างงานในอัตราร้อยละสามสิบของค่าจ้างรายวันไม่เกินเก้าสิบวันนับแต่วันขึ้นทะเบียนตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน พ.ศ.2547 ข้อ 1 (2) และข้อ 2
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 238/2548 ลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2548 และให้จ่ายเงินประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเป็นเงิน 13,477.50 บาท
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 238/2548 ลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2548 และให้จำเลยจ่ายเงินประโยชน์ทดแทนจำนวน 13,473 บาท แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกว่า เมื่อคณะกรรมการอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์แล้วโจทก์ได้นำคดีไปสู่ศาลแรงงานกลางภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 87 วรรคสาม ที่กำหนดให้ผู้อุทธรณ์ที่ไม่พอใจคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ให้มีสิทธินำคดีไปสู่ศาลแรงงานภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยนั้น กำหนดเวลาสามสิบวันดังกล่าวเป็นเพียงระยะเวลาที่กำหนดให้ฟัองคดีต่อศาลแรงงานเพื่อโต้แย้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ซึ่งเป็นระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ที่ศาลแรงงานมีอำนาจย่นหรือขยายได้ตามความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม มาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว เมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์แล้วไม่พอใจคำวินิจฉัยจึงนำคดีไปสู่ศาลแรงงานภาค 3 โดยฟ้องสำนักงานประกันสังคมจังหวัดนครราชสีมาซึ่งเป็นราชการบริหารส่วนภูมิภาคของจำเลยตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน พ.ศ.2545 เป็นจำเลยภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัย จึงเป็นการใช้สิทธิในการโต้แย้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์และได้ดำเนินการนำคดีไปสู่ศาลภายในสามสิบวันตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 87 วรรคสาม แล้ว ดังนี้ในวันพิจารณาคดีดังกล่าวเมื่อโจทก์ทราบว่าจำเลยมิได้มีฐานะเป็นนิติบุคคล โจทก์จึงแถลงต่อศาลแรงงานภาค 3 ขอถอนฟ้องเพื่อจะได้ฟ้องจำเลยคดีนี้ให้ถูกต้องต่อไป และศาลแรงงานภาค 3 อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องคดีเพื่อฟ้องเป็นคดีนี้ใหม่นั้น ถือได้ว่าศาลแรงงานภาค 3 อนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลาฟ้องจำเลยคดีนี้ได้ตามความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมตามบทบัญญัติดังกล่าวแล้วข้างต้นและโจทก์ก็ได้นำคดีกลับมาฟ้องจำเลยใหม่ภายในสิบวันนับแต่วันที่ถอนฟ้องคดีเดิมโดยศาลแรงงานภาค 3 ได้รับคดีนี้ไว้พิจารณาพิพากษาต่อมา จึงเป็นกรณีที่โจทก์ได้นำคดีไปศู่ศาลแรงงานภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 87 วรรคสามแล้ว หาใช่เป็นกรณีที่โจทก์ถอนฟ้องแล้วโจทก์จะต้องฟ้องจำเลยคดีนี้ภายในอายุความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 176 อุทธรณ์ของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยประการสุดท้ายว่าโจทก์มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานจำนวนเก้าสิบวันหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 79 บัญญัติว่า “ให้ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนการว่างงานตั้งแต่วันที่แปดนับแต่วันว่างงานจากการทำงานกับนายจ้างรายสุดท้าย ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง” ซึ่งตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน พ.ศ.2547 ข้อ 1 วรรคหนึ่ง กำหนดว่า “ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีที่ว่างงานตามมาตรา 78 มีสิทธิได้รับเงินทดแทนในกรณีว่างงาน…” ข้อ 2 กำหนดว่า “ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามมาตรา 78 ได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามข้อ 1 ตั้งแต่วันที่แปดนับแต่วันว่างงานจากการทำงานกับนายจ้างรายสุดท้าย เว้นแต่ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนผู้ใดไม่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ที่สำนักงานจัดหางานของรัฐภายในสามสิบวันนับแต่วันว่างงานให้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานนับแต่วันที่ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนผู้นั้นได้ขึ้นทะเบียนไว้ที่สำนักจัดหางานของรัฐ” ตามบทบัญญัติของกฎหมายและข้อกำหนดในกฎกระทรวงดังกล่าวเพียงแต่ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนได้รับเงินทดแทนในกรณีว่างงานเพราะเหตุออกจากงานในอัตราร้อยละสามสิบของค่าจ้างรายวันให้ได้รับครั้งละไม่เกินเก้าสิบวัน โดยลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนนั้นหากได้ขึ้นทะเบียนไว้ที่สำนักจัดหางานของรัฐภายในสามสิบวันนับแต่วันว่างงานจะได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตั้งแต่วันที่แปดนับแต่วันว่างงานจากการทำงานกับนายจ้างรายสุดท้าย แต่หากลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนไม่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ที่สำนักจัดหางานของรัฐภายในสามสิบวันนับแต่วันว่างงานจะได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานนับแต่วันที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ที่สำนักงานจัดหางานของรัฐเท่านั้น ส่วนการงดจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานก็เป็นไปตามกฎกระทรวงดังกล่าว ข้อ 3 ซึ่งให้จำเลยงดการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเพียง 3 กรณี คือกรณีเมื่อผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกลับเข้าทำงานเป็นผู้ประกันตนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 33 หรือเป็นกรณีที่ผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนได้ปฏิเสธการทำงานหรือปฏิเสธการฝึกงานที่เหมาะสมตามที่จัดหาให้โดยไม่มีเหตุอันสมควร หรือเป็นกรณีผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนไม่ไปรายงานตัวที่สำนักจัดหางานของรัฐโดยไม่มีเหตุอันสมควร ซึ่งสองกรณีหลังนี้เป็นเรื่องที่ผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 78 (1) ดังนั้นทั้งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 และกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน พ.ศ.2547 จึงมิได้เป็นบทบัญญัติตัดสิทธิหรือกำหนดให้งดการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานแก่ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ที่สำนักจัดหางานของรัฐภายในสามสิบวันนับแต่วันว่างงานให้ไม่ได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานสำหรับวันที่แปดนับแต่วันว่างงานไปจนถึงวันก่อนวันขึ้นทะเบียนแล้วให้ได้รับประโยชน์ทดแทนเฉพาะเพียงส่วนที่เหนือนับแต่วันที่ขึ้นทะเบียนถึงวันที่เก้าสิบนับแต่วันที่แปดที่ว่างงานแต่อย่างใด เมื่อโจทก์ขึ้นทะเบียนที่สำนักจัดหางานจังหวัดนครราชสีมาในวันที่ 14 ตุลาคม 2547 โจทก์จึงมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเป็นเงินทดแทนในกรณีว่างงานในอัตราร้อยละสามสิบของค่าจ้างรายวันไม่เกินเก้าสิบวันนับแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2547 ตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน พ.ศ.2547 ข้อ 1 (2) และข้อ 2 ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ 238/2548 ลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2548 และให้จำเลยจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเป็นเงินทดแทนในกรณีว่างงานในอัตราร้อยละสามสิบของค่าจ้างรายวันจำนวนเก้าสิบวัน เป็นเงิน 13,473 บาท แก่โจทก์จึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน