แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ห้างหุ้นส่วนสามัญไม่ได้จดทะเบียน แต่ได้จดทะเบียนการค้าประเภทขายอสังหาริมทรัพย์ไว้แล้ว มีสถานการค้าที่แน่นอน เป็นหลักฐานประกอบกันแสดงให้เห็นว่าเป็นผู้ประกอบการค้าจึงต้องเสียภาษีการค้าตามประมวลรัษฎากร
เมื่อห้างหุ้นส่วนสามัญดังกล่าวมีหน้าที่ต้องเสียภาษีการค้า จำเลยก็มีอำนาจใช้สิทธิประเมินเรียกเก็บตามประมวลรัษฎากรได้ โจทก์จะอ้างว่าเรียกคืนในฐานลาภมิควรได้ไม่ได้ เพราะการเรียกเก็บของจำเลยมีมูลที่จะอ้างได้ตามกฎหมาย เมื่อโจทก์เห็นว่าไม่มีหน้าที่ต้องเสีย หรือการประเมินเรียกไม่ถูกต้องอย่างไร ก็ชอบที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมินเรียกเก็บนั้นตามบทบัญญัติในประมวลรัษฎากรเสียก่อน แต่โจทก์มิได้อุทธรณ์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
(อ้างฎีกาที่ 1895/2493, 519/2505)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินร่วมกับคนอื่นในที่ดินสวนหมากตามบัญชีโฉนดท้ายฟ้อง (๙๔ โฉนด) โจทก์และผู้เป็นเจ้าของร่วมไม่มีอาชีพทางการค้าที่ดินหากำไร โดยครั้งแรกนครพานิชหุ้นส่วนจำกัด (หุ้นส่วนในครอบครัวขุนนครเขตต์จีนนิทัศน์) กับนายประชา รัตนสาร เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันซื้อไว้เพื่อแบ่งที่ดินและประโยชน์ในที่ดินให้แก่ลูกหลาน ไม่ต้องการให้มีกรณีพิพาทเรื่องที่ดินที่ต้องแบ่งแยก จึงทำเป็นสัญญา “ห้างหุ้นส่วนสามัญบริษัทสวนหมาก” ขึ้นเมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๔๙๗ สมมติราคาที่ดินเป็นราคาเงินหุ้นจะแบ่งให้ใครเท่าใด ก็คิดเป็นหุ้นให้ไปแต่มิได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เพราะต้องการเพียงให้เป็นข้อปฏิบัติระหว่างกันเพื่อจัดแบ่งผลประโยชน์ได้สะดวกและเป็นธรรมเท่านั้น โดยเจ้าของร่วมมอบให้โจทก์เป็นผู้จัดการดำเนินการ
ต่อมาผู้เป็นหุ้นส่วนในสัญญาต่างถึงแก่กรรมและทายาทเข้ามารับสิทธิแทนต่างก็ปฏิบัติไปตามสัญญา โดยมีที่ดินตกทอดมาประมาณ ๒๔ ไร่ ไม่สามารถหาผู้มีเงินซื้อตามราคาตลาดได้ทั้งหมดในคราวเดียวกัน ผู้เป็นเจ้าของร่วมมอบให้โจทก์จัดสรรแบ่งที่ดินออกเป็นแปลง ๆ ให้พอกำลังเงินที่ผู้ซื้อจะหาเงินมาซื้อได้ เมื่อขายได้ก็รวมเงินฝากธนาคารไว้แบ่งกันเป็นคราว ๆ จนกว่าที่ดินที่ตกทอดมาจะหมดไป โจทก์ได้ดำเนินการตามที่ได้รับมอบ จนเดือนธันวาคม ๒๕๐๓ นายโชติ มินทะขิน ซึ่งเวลานั้นดำรงตำแหน่งสรรพากรจังหวัดสงขลา เรียกโจทก์ไปแจ้งว่า การที่โจทก์จัดสรรที่ดินแบ่งขายเป็นแปลง ๆ โดยไม่จดทะเบียนการค้านั้น เป็นการผิดกฎหมาย อาจต้องรับโทษ ให้โจทก์ไปจัดการเสียให้ถูกต้อง โจทก์เชื่อและกลัวความผิด จึงไปจดทะเบียนการค้าในวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๐๓
เมื่อโจทก์จดทะเบียนการค้าแล้ว สรรพากรจังหวัดสงขลาจำเลยที่ ๒ ก็ประเมินเรียกเก็บภาษีการค้าจากโจทก์ตามคำสั่งของจำเลยที่ ๑ สำหรับ พ.ศ. ๒๔๙๖, ๒๔๙๗ ซึ่งเป็นเวลาก่อนดำเนินการแบ่งแยกที่ดินขายตามสัญญา “ห้างหุ้นส่วนสามัญบริษัทสวนหมาก” เป็นเงิน ๑๖,๓๘๐ บาท และ ๒,๕๒๐ บาทตามลำดับ และหลังจากนั้นยังได้เก็บค่าภาษีไปจากโจทก์สำหรับ พ.ศ. ๒๔๙๘ จนถึง พ.ศ. ๒๕๐๕ อีก ๒๘,๕๔๙ บาท รวมเป็นเงินทั้งหมด ๔๗,๔๔๙.๕๐ บาท
ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๐๕ โจทก์ทราบว่าการที่เอาที่ดินมรดกตกทอดไปจัดสรรแบ่งขายเป็นแปลง ๆ ไม่เป็นการค้าอันจะต้องเสียภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาลตามประมวลรัษฎากร จึงรู้ว่าการที่จำเลยเรียกเก็บภาษีการค้าไปจากโจทก์นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นลาภมิควรได้ ซึ่งโจทก์มีสิทธิจะเรียกคืน จึงได้ยื่นคำร้องขอถอนการจดทะเบียนการค้าเสีย และมีหนังสือถึงจำเลยขอเงินคืน จำเลยทั้งสองไม่ยอมคืน จึงขอให้บังคับจำเลยคืนเงิน ๔๗,๔๔๙.๕๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
ต่อมาโจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ ๒ ศาลอนุญาต
จำเลยให้การว่า
(๑) ห้างหุ้นส่วนสามัญบริษัทสวนหมากตั้งขึ้นโดยมีสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วน มีวัตถุประสงค์ประกอบการค้าเกี่ยวกับที่ดิน และได้จดทะเบียนการค้า จึงต้องเสียภาษีการค้า
(๒) เจ้าพนักงานเรียกเก็บภาษีเพียง ๔๗,๐๖๕ บาท ไม่ใช่ ๔๗,๔๔๙.๕๐ บาท
(๓) โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าภาษีเป็นส่วนตัว
(๔) โจทก์ไม่อุทธรณ์ตามเกณฑ์และวิธีการที่ประมวลรัษฎากรบัญญัติไว้ไม่มีสิทธิที่จะนำคดีมาฟ้อง
ในวันชี้สองสถาน คู่ความรับกันว่า
๑. ห้างหุ้นส่วนสามัญบริษัทสวนหมากเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญที่ไม่ได้จดทะเบียน มีผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดตามสัญญา ๑๔ คน นายจินดา อุดมอักษร โจทก์ในคดีนี้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งในจำนวน ๑๔ คนนั้น
๒. จำนวนภาษีที่ฝ่ายโจทก์เสียให้แก่จำเลยไปแล้ว จำนวน ๔๓,๐๖๕ ไม่ใช่ ๔๗,๔๔๙.๕๐ บาท
๓. โจทก์จดทะเบียนการค้า จำเลยรับว่าโจทก์ได้แจ้งเลิกการจดทะเบียนการค้า เมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๐๕
๔. โจทก์รับว่าภาษีที่โจทก์เสียไปนั้นเป็นภาษีที่ประเมินเรียกเก็บ โจทก์ชำระไปแล้วโดยมิได้ยื่นอุทธรณ์การประเมินตามประมวลรัษฎากร
ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้ว ให้งดสืบพยานโจทก์จำเลย วินิจฉัยว่าโจทก์มิได้ยื่นอุทธรณ์การประเมินตามประมวลรัษฎากร ไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาว่า การเก็บภาษีต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ภาษีที่จำเลยเรียกเก็บไปจากโจทก์ ๆ ไม่มีหน้าที่ต้องเสีย จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะอ้างได้ตามกฎหมาย โจทก์จึงเรียกคืนได้ในฐานลาภมิควรได้ การเรียกเก็บเงินไปจากโจทก์ไม่ใช่เรื่องเก็บผิดประเภทหรือผิดพิกัดอัตราซึ่งจะต้องร้องเรียนตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๓๐ จำเลย เรียกเก็บโดยฝ่าฝืนประมวลรัษฎากร ข้อโต้เถียงที่จะต้องปฏิบัติตามมาตรา ๓๐ ก็ไม่เกิด จะยกมาตรา ๓๐ มาปิดปากไม่ให้ฟ้องโดยอ้างว่าโจทก์ละเลยไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๓๐ เสียก่อน เป็นการมิชอบ ทั้งกรณีพิพาทนี้เป็นคนละอย่างกับที่จะต้องใช้สิทธิตามมาตรา ๓๐ ด้วย
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงตามที่โจทก์รับว่า ห้างหุ้นส่วนสามัญบริษัทสวนหมากที่เสียภาษีการค้าไปนั้น เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ แม้จะไม่ได้จดทะเบียน แต่ก็ได้จดทะเบียนการค้าในประเภทขายอสังหาริมทรัพย์ไว้แล้ว มีสถานการค้าที่แน่นอน เป็นหลักฐานประกอบกันแสดงให้เห็นว่า ห้างหุ้นส่วนสามัญบริษัทสวนหมากเป็นผู้ประกอบการค้า ไม่เหมือนโจทก์ในคดีคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๘๐๐/๒๕๐๖ ซึ่งเป็นเพียงเจ้าของที่ดินมอบให้นาวาโทศุภรไปจัดการขาย ซึ่งนาวาโทศุภรก็ได้จดทะเบียนการค้าในนามของตนเองเพื่อขายที่ดินของคนอื่นและได้เสียภาษีการค้าประเภทนายหน้าตัวแทนไปแล้ว โจทก์ในคดีนั้นจึงไม่ใช่ผู้ประกอบการค้า และตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๗๘ บัญญัติว่า ผู้ประกอบการค้ามีหน้าที่ต้องเสียภาษีการค้า เช่นนี้ โจทก์จะเถียงว่าห้างหุ้นส่วนสามัญบริษัทสวนหมากไม่ได้เป็นผู้ประกอบการค้า ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีการค้าให้ ฝ่าฝืนหลักฐานและประมวลรัษฎากรไปย่อมไม่ได้
เมื่อห้างหุ้นส่วนสามัญบริษัทสวนหมากมีหน้าที่ต้องเสียภาษีการค้า จำเลยก็มีอำนาจใช้สิทธิประเมินเรียกเก็บตามประมวลรัษฎากรได้ โจทก์จะอ้างว่าเรียกคืนในฐานลาภมิควรได้ไม่ได้ เพราะการเรียกเก็บของจำเลยมีมูลที่จะอ้างได้ตามกฎหมาย เมื่อโจทก์เห็นว่าไม่มีหน้าที่ต้องเสียหรือการประเมินเรียกเก็บนั้นไม่ถูกต้องอย่างไร ก็ชอบที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมินเรียกเก็บนั้นตามบทบัญญัติในประมวลรัษฎากรเสียก่อน แต่โจทก์ก็มิได้อุทธรณ์ โจทก์จึงยังไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ เพราะเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติในประมวลรัษฎากรที่บัญญัติไว้ (อ้างฎีกาที่ ๑๘๙๕/๒๔๙๓ และ ๕๑๙/๒๕๐๕)
พิพากษายืน