แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ข้อบังคับและระเบียบสหกรณ์จำเลยว่าด้วยการรับเงินฝากออมทรัพย์และเงินฝากประจำ พ.ศ.2536 หมวด 3 ข้อ 11 ที่ว่ากรณีถอนเงินฝากประจำในระยะเวลาไม่ถึง 3 เดือน จำเลยจะไม่จ่ายดอกเบี้ยให้ หมายถึงการฝากและถอนเงินในภาวะปกติ แต่กรณีของโจทก์เป็นเรื่องเงินฝากสูญหายไปจากบัญชีโดยมิใช่ความผิดของโจทก์ ทั้งเป็นเรื่องการทุจริตภายในองค์ของจำเลย โดยความประมาทเลินเล่อไม่ใช้ความระมัดระวังเท่าที่ควรของจำเลยเอง เมื่อกรณีเป็นการฝากเงินที่ไม่ได้ตกลงกำหนดระยะเวลาคืนเงินกัน โจทก์ย่อมถอนเงินคืนเมื่อใดก็ได้ การที่จำเลยไม่คืนเงินฝากแก่โจทก์ย่อมเป็นการผิดสัญญาฝากทรัพย์ เมื่อโจทก์เรียกร้องให้จำเลยคืนเงินตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2544 จนถึงวันที่ 9 เมษายน 2544 จำเลยก็ยังไม่คืน ถือว่าโจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้โดยให้ระยะเวลาพอสมควรแล้ว โจทก์จึงเลิกสัญญาได้ การที่โจทก์มีหนังสือแจ้งความประสงค์ขอถอนเงินฝากทั้งหมดเพื่อปิดบัญชี เพราะทราบว่าเงินฝากสูญหายไปจากบัญชีเงินฝาก ถือได้ว่าเป็นการบอกเลิกสัญญากับจำเลย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 แล้ว มีผลทำให้คู่สัญญาแต่ละฝ่ายกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม และหากมีเงินอันจะต้องใช้คืนให้บวกดอกเบี้ยนับตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้ตามมาตรา 391 นอกจากจำเลยต้องคืนเงินฝากให้แก่โจทก์ จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 5.25 ต่อปีนับตั้งแต่เวลาที่รับไว้
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2544 จำเลยรับฝากเงินจากโจทก์ทั้งสองจำนวน 6,650,000 บาท ตกลงอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5.25 ต่อปี จำเลยรับเงินครบถ้วนและลงรายการในบัญชีเงินฝากพร้อมออกสมุดคู่ฝากให้โจทก์ทั้งสองยึดถือไว้ โดยจำเลยบันทึกรายการจำนวนเงินฝากที่ได้รับในสมุดคู่ฝากตรงกับจำนวนเงินที่จำเลยรับฝาก ต่อมาวันที่ 20 มีนาคม 2544 โจทก์ทั้งสองนำสมุดคู่ฝากตรวจสอบรายการทางบัญชี จึงทราบว่ายอดเงินในบัญชีเงินฝากไม่มีเงินเหลืออยู่โดยมีจำนวนคงเหลือเป็นศูนย์ โจทก์ทั้งสองไม่ได้ถอนเงิน ในฐานะจำเลยเป็นผู้มีวิชาชีพเฉพาะเกี่ยวกับการเงิน ซึ่งต้องควบคุมดูแล ตรวจสอบการรับจ่ายและเก็บรักษาเงินในบัญชีเงินฝากของโจทก์ทั้งสอง แต่ด้วยความประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้เงินฝากดังกล่าวถูกโยกย้ายถ่ายเทถอนออกไปไม่มีเงินเหลือโดยการกระทำทุจริตของพนักงานของจำเลย ทำให้โจทก์ทั้งสองขาดผลประโยชน์ตอบแทนที่ควรจะได้รับ จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายนับแต่วันที่รับฝากเงินไว้ จำเลยไม่มีสิทธินำระเบียบของจำเลยเกี่ยวกับการชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 2 ต่อปี หรือไม่ชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทั้งสอง จำเลยคืนเงินแก่โจทก์ทั้งสอง จำนวน 6,650,000 บาท แต่ไม่ชดใช้ค่าขาดประโยชน์และค่าเสียหายอื่นได้แก่ ค่าขาดประโยชน์ดอกเบี้ยเงินฝากจำนวน 44,711.11 บาท ค่าว่าจ้างทนายความ จำนวน 66,500 บาท โจทก์ทั้งสองต้องเสียเวลาไปพบจำเลยเรื่องรายการทางบัญชีเป็นเหตุให้ขาดรายได้จากการประกอบการค้าปกติของโจทก์ที่ 1 จำนวน 6,000 บาท โจทก์ทั้งสองทวงถามแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 117,211.11 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทสหกรณ์จำกัด โจทก์ทั้งสองฝากเงินไว้กับจำเลยประเภทฝากประจำ 6 เดือน โจทก์ทั้งสองทราบดีแล้วว่าผู้ฝากต้องนำเงินฝากกับจำเลยครบกำหนดตามสัญญา จึงจะมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยตามเงื่อนไข ค่าว่าจ้างทนายความติดตามเงินเป็นเรื่องไกลกว่าเหตุและไม่มีกฎหมายให้สิทธิเรียกร้อง การที่โจทก์ทั้งสองเสียเวลาไปพอจำเลยเรื่องรายการทางบัญชีเป็นเรื่องปกติธรรมดาในการติดต่อและเป็นความสมัครใจของโจทก์ทั้งสอง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 44,711.11 บาท และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ทั้งสองโดยกำหนดค่าทนายความรวมเป็นเงิน 3,000 บาท สำหรับค่าขึ้นศาลทั้งสองศาลให้จำเลยชำระเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ทั้งสองชนะคดี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟ้งได้ว่า เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2544 โจทก์ทั้งสองฝากเงินจำนวน 6,650,000 บาทไว้กับจำเลยประเภทบัญชีเงินฝากประจำ 6 เดือน บัญชีเลขที่ 01 – 0 – 000252 – 0 อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5.25 ต่อปี เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2544 โจทก์ทั้งสองทราบว่าเงินฝากจำนวนดังกล่าวสูญหายไปจากบัญชีเงินฝากทั้งหมด จึงแจ้งให้จำเลยชดใช้เงิน แต่จำเลยไม่ยอมชดใช้ โจทก์ทั้งสองทราบว่าเงินฝากจำนวนดังกล่าวสูญหายไปจากบัญชีเงินฝากทั้งหมด จึงแจ้งให้จำเลยชดใช้เงิน แต่จำเลยไม่ยอมชดใช้ โจทก์ทั้งสองจึงมอบหมายให้ทนายความมีหนังสือแจ้งให้จำเลยรับผิดชดใช้เงินฝากคืนทั้งหมด เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2544 ตามสำเนาหนังสือเอกสารหมาย จ.10 ต่อมาเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2544 จำเลยทำบันทึกยอมรับผิดชดใช้เงินฝากคืนให้โจทก์ทั้งสองทั้งหมดตามสำเนาบันทึกเอกสารหมาย จ.16 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยจะต้องรับผิดชดใช้ดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทั้งสองตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 หรือไม่ ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ทั้งสองขอถอนเงินฝากคืนก่อนครบกำหนด 3 เดือน ตามสัญญา จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 5.25 ต่อปี ตามสัญญาให้แก่โจทก์ทั้งสองนั้น เห็นว่า แม้ตามข้อบังคับและระเบียบของจำเลยว่าด้วยการรับเงินฝากออมทรัพย์และเงินฝากประจำ พ.ศ.2536 หมวด 3 ข้อ 11 ตามเอกสารหมาย จ.5 จะมีข้อความว่า กรณีถอนเงินฝากประจำในระยะเวลาไม่ถึง 3 เดือน สหกรณ์ (จำเลย) จะไม่จ่ายดอกเบี้ยให้นั้น หมายถึงการฝากและถอนเงินในภาวะปกติ แต่กรณีของโจทก์ทั้งสองเป็นเรื่องเงินฝากสูญหายไปจากบัญชีโดยมิใช่ความผิดของโจทก์ทั้งสอง ทั้งเป็นเรื่องการทุจริตภายในองค์กรของจำเลย โดยความประมาทเลินเล่อไม่ใช้ความระมัดระวังเท่าที่ควรของจำเลยเอง เมื่อกรณีเป็นการฝากเงินที่ไม่ได้ตกลงกำหนดระยะเวลาคืนเงินกัน โจทก์ทั้งสองย่อมถอนเงินคืนเมื่อใดก็ได้ การที่จำเลยไม่คืนเงินฝากแก่โจทก์ทั้งสอง ย่อมเป็นการผิดสัญญาฝากทรัพย์ โจทก์ทั้งสองเรียกร้องให้จำเลยคืนเงินตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2544 จนถึงวันที่ 9 เมษายน 2544 จำเลยก็ยังไม่คืนเงินแก่โจทก์ทั้งสอง ถือว่าโจทก์ทั้งสองได้บอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้โดยให้ระยะเวลาพอสมควรแล้ว เมื่อจำเลยไม่ชำระโจทก์ทั้งสองจึงเลิกสัญญาได้ โจทก์ทั้งสองมอบให้ทนายความมีหนังสือแจ้งความประสงค์ขอถอนเงินฝากทั้งหมดเพื่อปิดบัญชีตามสำเนาหนังสือเอกสารหมาย จ.10 เพราะทราบว่าเงินฝากสูญหายไปจากบัญชีเงินฝากทั้งหมดดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการบอกเลิกสัญญาฝากทรัพย์กับจำเลย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 แล้ว มีผลทำให้คู่สัญญาแต่ละฝ่ายกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม และหากมีเงินอันจะต้องใช้คืนให้บวกดอกเบี้ยนับตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้ตามมาตรา 391 จำเลยจะอ้างว่าสัญญาฝากเงินยังไม่เลิกแล้วต่อกันหาได้ไม่ ดังนี้ นอกจากจำเลยต้องคืนเงินฝากให้แก่โจทก์ทั้งสอง จำเลยยังต้องรับผิดชดใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 5.25 ต่อปี นับตั้งแต่เวลาที่รับไว้ คือ วันที่ 14 มีนาคม 2544 คำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยอ้าง ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้จำเลยรับผิดชดใช้ดอกเบี้ยคืนให้แก่โจทก์ทั้งสองมานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาแทนโจทก์ทั้งสอง 1,300 บาท.