คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 555/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 บอกโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 ไม่ต้องการสมรสกับโจทก์ เป็นการบอกเลิกสัญญาหมั้นของจำเลยที่ 2 แต่เพียงฝ่ายเดียวไม่มีผลผูกพันโจทก์
โจทก์กับจำเลยที่ 2 สมัครใจเลิกสัญญาหมั้นกัน ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยที่ 2 มีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นได้นั้น จำเลยทั้งสองมิได้ให้การต่อสู้คดีในปัญหาดังกล่าวไว้ แม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวจะหยิบยกปัญหาเรื่องการบอกเลิกสัญญาของจำเลยที่ 2 ขึ้นวินิจฉัยก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 6

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2544 จำเลยทั้งสองทำการหมั้นโจทก์ โดยตกลงว่าจำเลยที่ 2 จะสมรสกับโจทก์เมื่อสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี หลังจากหมั้นแล้วโจทก์กับจำเลยที่ 2 ได้อยู่กินด้วยกัน ต่อมาโจทก์สำเร็จการศึกษาแล้วจึงขอให้จำเลยที่ 2 สมรสกับโจทก์ แต่จำเลยทั้งสองปฏิเสธ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายแก่กายที่ต้องตกเป็นภริยาของจำเลยที่ 2 และได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียงเกียรติยศและวงศ์ตระกูล ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์เป็นเงิน 150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองหมั้นโจทก์จริง แต่จำเลยที่ 2 ไม่เคยร่วมประเวณีและอยู่กินกับโจทก์ ในระหว่างหมั้นโจทก์ประพฤติตัวไม่เหมาะสม เที่ยวเตร่คบเพื่อนชายหลายคน ทำให้จำเลยที่ 2 ได้รับความอับอายและเสียชื่อเสียง จึงตกลงกับโจทก์เลิกสัญญาหมั้น โจทก์และบิดามารดาโจทก์ไม่เคยขอให้จำเลยทั้งสองจัดพิธีสมรส จำเลยทั้งสองไม่ได้ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์เป็นเงิน 120,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 11 เมษายน 2546) เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาในศาลอุทธรณ์ภาค 3 รับรองว่ามีเหตุผลสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครับวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2544 จำเลยทั้งสองทำการหมั้นโจทก์ ตามสำเนาบันทึกหมั้น เอกสารหมาย จ.1 มีข้อตกลงว่าโจทก์กับจำเลยที่ 2 จะสมรสกันเมื่อโจทก์สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี หลังจากหมั้นแล้วโจทก์กับจำเลยที่ 2 ได้อยู่กินร่วมกินฉันสามีภริยาระยะหนึ่งจนถึงวันที่ 1 กันยายน 2545 โจทก์กับจำเลยที่ 2 ทะเลาะกันจึงไม่ได้อยู่กินร่วมกันต่อไปและไม่ได้ติดต่อกันเลย ภายหลังจำเลยที่ 2 บอกโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 ไม่ต้องการสมรสกับโจทก์แล้ว ต่อมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2546 โจทก์สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ทางฝ่ายโจทก์ได้ติดต่อจำเลยทั้งสองให้จำเลยที่ 2 สมรสกับโจทก์ โจทก์จึงแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า โจทก์ยังประสงค์ที่จะสมรสกับจำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 2 ปฏิเสธไม่ยอมสมรสด้วย โจทก์จึงฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่าโจทก์กับจำเลยที่ 2 สมัครใจเลิกสัญญาหมั้นกันแล้วหรือไม่ ปัญหาดังกล่าวจำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์กับจำเลยที่ 2 สมัครใจเลิกสัญญาหมั้นเนื่องจากโจทก์ชอบเที่ยวกลางคืน มีเพื่อนมากทั้งผู้ชายและผู้หญิง เมื่อครั้งที่ทะเลาะกัน โจทก์ก็ใช้รองเท้าซึ่งเป็นของต่ำตบหน้าจำเลยที่ 2 ถือว่าเป็นการหมิ่นเกียรติ ลบหลู่ศักดิ์ศรี ไม่ให้ความนับถือชายผู้เป็นคู่หมั้น เป็นเหตุสำคัญที่ทำให้จำเลยที่ 2 มีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นได้ และหลังจากทะเลาะกันแล้ว ต่างฝ่ายต่างไม่เคยติดต่อกันอีกเลย จึงย่อมถือว่าสัญญาหมั้นเลิกกัน โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องคดีนี้ โดยจำเลยทั้งสองมีคำเบิกความของตนเองเป็นพยาน เห็นว่า ในช่วงที่จำเลยที่ 2 บอกโจทก์ว่าจำเลยที่ 2 ไม่ต้องการสมรสกับโจทก์นั้น โจทก์ยังศึกษาอยู่ซึ่งได้ความจากโจทก์ว่าฝ่ายโจทก์ได้ปรึกษาเรื่องนี้กันแล้วมีความเห็นว่า สมควรรอให้โจทก์สำเร็จการศึกษาก่อนจึงจะเจรจากับฝ่ายจำเลยทั้งสอง ดังนั้น เมื่อพิจารณาประกอบข้อเท็จจริงที่ได้ความว่า หลังจากโจทก์สำเร็จการศึกษาแล้ว ฝ่ายโจทก์ติดต่อจำเลยทั้งสองให้จำเลยที่ 2 สมรสกับกับโจทก์จึงแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า โจทก์ยังประสงค์ที่จะสมรสกับจำเลยที่ 2 ตามสัญญาหมั้นต่อไป ที่จำเลยที่ 2 บอกโจทก์ว่าจำเลยที่ 2 ไม่ต้องการสมรสกับโจทก์ดังกล่าวมาข้างต้นจึงเป็นการบอกเลิกสัญญาหมั้นของจำเลยที่ 2 แต่เพียงฝ่ายเดียว ไม่มีผลผูกพันโจทก์ คำเบิกความของจำเลยทั้งสองที่อ้างว่า โจทก์สมัครใจเลิกสัญญาหมั้นก็ไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาสนับสนุนจึงเลื่อนลอยไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง แม้หลังจากโจทก์กับจำเลยที่ 2 ทะเลาะกันแล้วต่างฝ่ายต่างไม่เคยติดต่อกันอีกก็มีเหตุผลให้เชื่อว่า คงเป็นเพราะโจทก์ต้องการศึกษาเล่าเรียนให้สำเร็จเสียก่อนจึงไม่มีพฤติการณ์ใดที่พอจะถือได้ว่าโจทก์สมัครใจเลิกสัญญาหมั้นเช่นเดียวกัน พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองไม่มีน้ำหนักให้รับฟังว่า โจทก์กับจำเลยที่ 2 สมัครใจเลิกสัญญาหมั้นกันแล้ว ส่วนเรื่องที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยที่ 2 มีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นได้นั้น จำเลยทั้งสองมิได้ให้การต่อสู้คดีในปัญหาดังกล่าวไว้ แม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวจะหยิบยกปัญหาเรื่องการบอกเลิกสัญญาของจำเลยที่ 2 ขึ้นวินิจฉัยก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบัทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 6 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวเห็นฟ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share