คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3051/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้โจทก์จำเลยท้ากันให้ศาลชี้ข้อกฎหมายประเด็นเดียวว่าหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดจะมีสิทธิร่วมประชุมถอดถอนหุ้นส่วนผู้จัดการหรือไม่เท่ากับโจทก์จำเลยยอมสละประเด็นข้ออื่นในคดีแล้ว โจทก์จะยกประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1032 ขึ้นตั้งเป็นประเด็นใหม่อีกหาได้ไม่ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าข้อโต้แย้งของโจทก์ข้อนี้อยู่นอกคำท้า ไม่รับวินิจฉัยให้นั้น ชอบแล้ว
ห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้น ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดกับผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด หาไดมีสิทธิและความรับผิดเท่าเทียมกันไม่การจัดการงานของห้างหุ้นส่วนอยู่ในมือของผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดฉะนั้น หากห้างหุ้นส่วนจำกัดมีผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดเพียงคนเดียวผู้นั้นก็เป็นผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนโดยลำพัง หากมีผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดหลายคน ต่างคนต่างก็มีสิทธิเข้าจัดการห้างหุ้นส่วนหรืออาจตกลงระหว่างกันเองให้ใครเป็นผู้จัดการก็ได้ และเมื่อจะถอดถอนผู้จัดการก็จะต้องให้ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดนั้นเองเป็นผู้ถอดถอน ทำนองเดียวกับกรณีของห้างหุ้นส่วนสามัญซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดนี้มีสิทธิและความรับผิดเช่นเดียวกับผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญนั่นเอง ส่วนผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดหาได้มีสิทธิและความรับผิดอย่างผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จะให้ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดซึ่งไม่มีสิทธิมีส่วนในการจัดการเข้ามาถอดถอนผู้จัดการ ซึ่งตั้งโดยผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดหาได้ไม่เว้นแต่จะได้มีการตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น การนำมาตรา 1036 ซึ่งเป็นบทบัญญัติว่าด้วยความเกี่ยวพันระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกันเองของห้างหุ้นส่วนสามัญใช้กับห้างหุ้นส่วนจำกัด จึงต้องใช้เฉพาะกับผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดเช่นเดียวกับผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญเท่านั้น และที่มาตรา 1088 วรรคสอง มิให้ถือว่าการที่ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดออกความเห็นแนะนำหรือออกเสียงลงคะแนนในการตั้งและถอดถอนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนเป็นการสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของหุ้นส่วนนั้น ก็เฉพาะแต่ในกรณีที่กำหนดไว้ในสัญญาหุ้นส่วนเท่านั้น ซึ่งเป็นข้อยกเว้นหาใช่กรณีทั่วไปไม่.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องว่า เดิมโจทก์เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดพณิชยการเจ้าพระยา ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงผู้เป็นหุ้นส่วนโดยโจทก์และจำเลยที่ ๑ เป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ เป็นหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิด ครั้งวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๒๕ จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๕ ประชุมกันลับหลังโจทก์ ลงมติถอดถอนโจทก์จากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ กับแก้ไขสัญญาหุ้นส่วนในเรื่องหุ้นส่วนผู้จัดการใหม่ แล้วนำมตินั้นไปจดทะเบียนกับจำเลยที่ ๖ การประชุมดังกล่าวไม่ชอบ จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ ไม่มีอำนาจและสิทธิออกเสียงลงมติถอดถอนหุ้นส่วนผู้จัดการ ขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมดังกล่าวให้จำเลยทั้งหกร่วมกันหรือแทนกันทำการจดทะเบียนให้โจทก์เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการตามเดิม หากจำเลยขัดขืนหรือเพิกเฉยให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งหก ให้โจทก์นำคำพิพากษาไปจดทะเบียนได้โดยลำพัง
จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๕ ให้การว่า การประชุมผู้เป็นหุ้นส่วนเมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๒๕ ชอบด้วยกฎหมายและกรมองค์ประชุม การลงมติถอดถอนโจทก์จากตำแหน่งผู้จัดการชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๐๓๖ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
จำเลยที่ ๖ ศาลอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง
ระหว่างสืบพยานโจทก์ คู่ความท้ากันให้ศาลวินิจฉัยข้อกฎหมายเพียงข้อเดียวโดยไม่สืบพยานว่า ห้างหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดจะมีสิทธิร่วมประชุมลงมติถอดถอนหุ้นส่วนผู้จัดการได้หรือไม่ ถ้าได้โจทก์ยอมแพ้คดี ถ้าไม่ได้จำเลยแพ้คดี
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า หุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดมีสิทธิร่วมประชุมลงมติถอดถอนหุ้นส่วนผู้จัดการได้ตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๐๓๖ ประกอบด้วยมาตรา ๑๐๘๐ และมาตรา ๑๐๘๘ โจทก์จึงเป็นฝ่ายแพ้คดีตามคำท้า พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์จำเลยท้ากันให้ศาลชี้ข้อกฎหมายประเด็นเดียวว่า หุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดจะมีสิทธิร่วมประชุมถอดถอนหุ้นส่วนผู้จัดการหรือไม่ เท่ากับโจทก์จำเลยยอมสละประเด็นข้ออื่นในคดีแล้ว โจทก์จะยกประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๐๓๒ ขึ้นตั้งประเด็นใหม่อีกหาได้ไม่ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าข้อโต้แย้งของโจทก์ข้อนี้อยู่นอกคำท้า ไม่รับวินิจฉัยให้นั้นชอบแล้ว
ที่โจทก์ฎีกาว่า จะนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๐๓๖ ซึ่งมาเป็นบทบัญญัติในเรื่องห้างหุ้นส่วนสามัญมาใช้ห้างหุ้นส่วนจำกัดไม่ได้นั้นศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในหมวดว่าด้วยห้างหุ้นส่วนจำกัด หาได้บัญญัติถึงการถอดถอนหุ้นส่วนผู้จัดการไม่ จึงต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยห้างหุ้นส่วนสามัญมาใช้บังคับกับกรณีนี้ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๐๘๐ มีปัญหาว่าจะนำมาตรา ๑๐๓๖ ซึ่งเป็นบทบัญญัติในเรื่องห้างหุ้นส่วนสามัญมาใช้กับกรณีนี้ได้หรือไม่ มาตรา ๑๐๓๖ บัญญัติว่า “อันหุ้นส่วนผู้จัดการนั้น จะเอาออกจากตำแหน่งได้ต่อเมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลายอื่นยินยอมพร้อมกัน เว้นแต่จะได้ลกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น” ที่มาตรา ๑๐๓๖ บัญญัติให้หุ้นส่วนอื่นทั้งหลายเอาหุ้นส่วนผู้จัดการออกจากตำแหน่งได้นั้น ก็เพราะกรณีของห้างหุ้นส่วนสามัญนั้น ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนมีฐานะ มีสิทธิและความรับผิดเท่าเทียมกัน การดำเนินกิจการของห้างหุ้นส่วนนั้นผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนจะต้องพร้อมใจกัน เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ถ้าจะเปลี่ยนแปลงข้อสัญญาเดิมแห่งห้างหุ้นส่วนหรือเปลี่ยนแปลงประเภทแห่งกิจการมาตรา ๑๐๓๖ กำหนดว่า จะทำมิได้นอกจากผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนยินยอม ถ้าไม่ได้ตกลงกันไว้ว่าให้ใครเป็นผู้จัดการ มาตรา ๑๐๓๓ ก็ให้ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนเข้าจัดการได้ โดยให้ถือว่าทุกคนเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ถ้าตกลงกันให้จัดการงานของห้างหุ้นส่วนโดยเสียงข้างมาก มาตรา ๑๐๓๔ ก็บัญญัติให้ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนมีคะแนนคนละหนึ่งคะแนน โดยไม่คำนึงถึงจำนวนที่ลงหุ้นว่ามากหรือน้อยกว่ากัน ด้วยเหตุนี้เองถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลายพร้อมใจกันตั้งผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดเป็นผู้จัดการแล้ว จะเอาออกจากตำแหน่ง มาตรา ๑๐๓๖ จึงกำหนดว่าต้องให้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลายอื่นยินยอมพร้อมใจกัน เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้อย่างอื่น จะเห็นได้ว่าผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญมีสิทธิเท่ากัน มีเสียงเท่ากันและมีความรับผิดเท่ากัน ทุกคนต้องรับผิดร่วมกันในหนี้ทั้งปวงของห้างหุ้นส่วนโดยไม่มีจำกัด แต่กรณีห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้น ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดกับผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด หาได้มีสิทธิและความรับผิดเท่าเทียมกันไม่ ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดไม่มีสิทธิจัดการห้างหุ้นส่วนและความรับผิดก็มีจำกัดเพียงไม่เกินจำนวนเงินที่ตนรับจะลงหุ้นเท่านั้น ส่วนผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดนั้น มาตรา ๑๐๘๗ บัญญัติให้เป็นผู้มีสิทธิเป็นผู้จัดการของห้างหุ้นส่วน แต่ขณะเดียวกันก็ต้องรับผิดในหนี้สินของห้างโดยไม่จำกัดจำนวน จะเห็นได้ว่าผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดนี้มีสิทธิและความรับผิดเช่นเดียวกับผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญนั่นเองส่วนผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดหาได้มีสิทธิและความรับผิดอย่างผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญไม่ หากแต่มีลักษณะใกล้เคียงไปทางผู้ลงทุนหรือให้เงินทุนแก่ห้างหุ้นส่วนโดยหวังผลประโยชน์ตอบแทนเป็นเงินปันผลหรือดอกเบี้ยเมื่อห้างหุ้นส่วนมีกำไร โดยปล่อยให้การจัดการงานของห้างหุ้นส่วนอยู่ในมือของผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด ฉะนั้น หากห้างหุ้นส่วนจำกัดมีผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดเพียงคนเดียวผู้ นั้นก็เป็นผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนโดยลำพัง หากมีผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดหลายคน ต่างคนต่างก็มีสิทธิเข้าจัดการห้างหุ้นส่วนหรืออาจตกลงระหว่างกันเองให้ใครเป็นผู้จัดการก็ได้ และเมื่อจะถอดถอนผู้จัดการก็ต้อบให้ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดนั้นเองเป็นผู้ถอดถอน ทำนองเดียวกับกรณีของห้างหุ้นส่วนสามัญ ซึ่งมีบัญญัติไว้ในมาตรา ๑๐๓๒ ถึงมาตรา ๑๐๓๖ ดังกล่าวแล้วนั่นเอง จะให้ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดซึ่งไม่มีสิทธิมีส่วนในการจัดการเข้ามาถอดถอนผู้จัดการซึ่งตั้งโดยผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดหาได้ไม่ เว้นแต่จะได้มีการตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น เพราะหากให้ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดเข้ามาเปลี่ยนแปลงถอดถอนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดได้ ก็เท่ากับให้ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดเข้าไปเกี่ยวข้องกับการจัดการงานของห้างหุ้นส่วนจำกัดซึ่งเป็นสิทธิของผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด ย่อมเป็นการขัดกับลักษณะของห้างหุ้นส่วนจำกัดซึ่งแยกสิทธิและความรับผิดของผู้เป็นหุ้นส่วน ๒ ประเภทออกจากกันการนำมาตรา ๑๐๓๖ ซึ่งเป็นบทบัญญัติว่าด้วยความเกี่ยวพันระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกันเองของห้างหุ้นส่วนสามัญมาใช้กับห้างหุ้นส่วนจำกัด จึงต้องใช้เฉพาะกับผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด ซึ่งมีสิทธิและความรับผิดเช่นเดียวกับผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญเท่านั้น ดังที่มาตรา ๑๐๘๐ วรรคสอง บัญญัติว่า ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดมีอยู่หลายคน ให้ใช้บทบัญญัติสำหรับห้างหุ้นส่วนสามัญเป็นวิธีบังคับในความเกี่ยวพันระหว่างคนเหล่านั้นเอง ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดจะตั้งหรือถอดถอนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนได้ก็โดยสัญญาห้างหุ้นส่วนเท่านั้น ดังที่มีบัญญัติไว้ในมาตรา ๑๐๘๘ วรรคสอง และเห็นว่า มาตรา ๑๐๓๖ เป็นบทบัญญัติในหมวดของห้างหุ้นส่วนสามัญ ห้างหุ้นส่วนสามัญมีผู้เป็นหุ้นส่วนประเภทเดียวคือผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนต้องรับผิดร่วมกันในหนี้ของหุ้นส่วนโดยไม่จำกัด จึงย่อมเป็นไปไม่ได้อยู่เองที่บทบัญญัติของมาตรานี้จะกล่าวถึงผู้เป็นหุ้นส่วนประเภทอื่นไว้ด้วย และที่มาตรา ๑๐๘๘ วรรคสอง มิไห้ถือว่าการที่ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดออกความเห็นแนะนำหรือออกเสียงลงคะแนนในการตั้งและถอดถอนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วน เป็นการสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วนนั้น ก็เฉพาะแต่ในกรณีที่กำหนดไว้ในสัญญาหุ้นส่วนเท่านั้น ซึ่งเป็นข้อยกเว้นหาใช่กรณีทั่วไปไม่ การที่มาตรา ๑๐๘๘ วรรคสอง บัญญัติเป็นข้อยกเว้นไว้เช่นนี้ ย่อมแสดงว่า หากไม่มีสัญญาห้างหุ้นส่วนให้สิทธิไว้ ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดไม่มีสิทธิเข้าไปออกความเห็น แนะนำหรือลงคะแนนตั้งหรือถอดถอนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วน เมื่อวินิจฉัยว่าผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดไม่มีสิทธิที่จะประชุมถอดถอนหุ้นส่วนผู้จัดการ จึงสมตามคำท้าของโจทก์ จำเลยต้องแพ้คดีตามคำท้า
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนมติที่ประชุมผู้เป็นหุ้นส่วนของห้างหุ้นส่วนจำกัดพณิชยการเจ้าพระยา เมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๒๕ ในส่วนที่ให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งหุ้นส่วนผู้จัดการ ให้โจทก์คงเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการตามเดิมและให้จำเลยที่ ๑ ถึง ๕ ทำการจำทะเบียนให้ถูกต้องต่อไป

Share