คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2436/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เจ้าหนี้รายที่2ที่3และที่4ได้รับชำระหนี้และยกคำขอของเจ้าหนี้รายที่1การที่เจ้าหนี้รายที่2ที่3และที่4ยื่นคำร้องขอถอนคำขอรับชำระหนี้ก็เป็นสิทธิของเจ้าหนี้รายที่2ที่3และที่4ที่จะสละสิทธิในการที่จะได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ไม่จำต้องได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นให้ถอนคำขอรับชำระหนี้กรณีจึงไม่มีเหตุที่ศาลชั้นต้นจะต้องอนุญาตอีกการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตจึงไม่ถูกต้องและเมื่อไม่มีกรณีที่ศาลชั้นต้นจะต้องอนุญาตเสียแล้วกรณีก็ไม่จำต้องสอบถามจำเลยหรือจะต้องไต่สวนคำร้องคัดค้านของจำเลยก่อน ศาลฎีกาได้พิพากษาให้จัดการทรัพย์มรดกของจำเลยตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483มาตรา84และ87มีเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้4รายสำหรับคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายที่1ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งยกคำขอส่วนคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายที่2ที่3และที่4ได้มีการขอถอนคำขอรับชำระหนี้แล้วจึงไม่มีเจ้าหนี้ที่จะขอรับชำระหนี้ต่อไปดังนั้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมมีอำนาจร้องขอให้ศาลสั่งยกเลิกการล้มละลายได้ตามมาตรา135(2)แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลายระหว่างพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์ จำเลยถึงแก่ความตาย จึงให้เรียกนางสาวพรนิภา พงษ์วิทยภานุ ทายาทและผู้จัดการมรดกจำเลยเข้าแทนที่จำเลยผู้ตาย ต่อมาศาลฎีกามีคำพิพากษาให้จัดการทรัพย์มรดกของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 84, 87หลังจากนั้นมีเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ 4 ราย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เจ้าหนี้รายที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 รับชำระหนี้ได้ ส่วนเจ้าหนี้รายที่ 1 ให้ยกคำขอ วันที่ 27 ธันวาคม 2537เจ้าหนี้รายที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอถอนคำขอรับชำระหนี้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ถอนคำขอรับชำระหนี้ได้เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2538 ต่อมาวันที่13 มกราคม 2538 จำเลยยื่นคำร้องคัดค้านการถอนคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ทั้งสามรายดังกล่าวโดยอ้างว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ร้องขอต่อศาลให้เพิกถอนการโอนที่ดินและขอให้เพิกถอนการโอนหุ้นระหว่างจำเลยกับเจ้าหนี้รายที่ 2 และ ที่ 3 คดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น แต่เจ้าหนี้รายที่ 2 และที่ 3 สมคบกับโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายที่ 4 ขอถอนคำขอรับชำระหนี้ ทำให้เกิดความเสียหายแก่กองทรัพย์สินของจำเลย เนื่องจากหากดำเนินคดีต่อไปและศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนการโอนตามคำขอของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แล้ว ทรัพย์สินดังกล่าวก็จะกลับมาเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย จึงขอให้ชะลอการถอนคำขอรับชำระหนี้และชะลอการยกเลิกการล้มละลายไว้เพื่อให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รวบรวมทรัพย์สินของจำเลยให้เสร็จสิ้นเสียก่อน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าศาลมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้รายที่ 2 ที่ 3 และ ที่ 4 ถอนคำขอรับชำระหนี้แล้ว ให้ยกคำร้องจำเลยอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานต่อศาลชั้นต้นว่าศาลมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้รายที่ 2 ที่ 3 และ ที่ 4 ถอนคำขอรับชำระหนี้ได้คดีจึงไม่มีเจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้แต่อย่างใด อันเป็นเหตุให้ลูกหนี้ไม่สมควรถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลายตามมาตรา 135(2) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ขอให้มีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายของจำเลย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกเลิกการล้มละลายตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่าก่อนศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งอนุญาตให้ถอนคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายที่ 2 ที่ 3 และ ที่ 4 ศาลมิได้สอบถามจำเลยว่าจะคัดค้านหรือไม่และศาลชั้นต้นที่จะมีคำสั่งไต่สวนคำร้องคัดค้านของจำเลยเสียก่อนนั้นเห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เจ้าหนี้รายที่ 2 ที่ 3 และที่ 4ได้รับชำระหนี้ และยกคำขอของเจ้าหนี้รายที่ 1 การที่เจ้าหนี้รายที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ยื่นคำร้องขอถอนคำขอรับชำระหนี้ ก็เป็นสิทธิของเจ้าหนี้รายที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ที่จะสละสิทธิในการที่จะได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ หาจำต้องได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นให้ถอนคำขอรับชำระหนี้แต่อย่างใดไม่ กรณีจึงไม่มีเหตุที่ศาลชั้นต้นจะต้องอนุญาต การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตจึงไม่ถูกต้อง และเมื่อไม่มีกรณีที่ศาลชั้นต้นจะต้องอนุญาตเสียแล้ว กรณีก็ไม่จำต้องสอบถามจำเลยหรือจะต้องไต่สวนคำร้องคัดค้านของจำเลยก่อนแต่อย่างใด ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นเพียงแต่ให้จัดการทรัพย์มรดกของจำเลยตามมาตรา 84 และ 87 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มิได้พิพากษาให้จำเลยล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่มีอำนาจร้องขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายนั้น เห็นว่า คดีนี้ศาลฎีกาได้พิพากษาให้จัดการทรัพย์มรดกของจำเลยตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 84 และ 87 มีเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ 4 ราย สำหรับคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายที่ 1 ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งยกคำขอส่วนคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายที่ 2 ที่ 3 และที่ 4ได้มีการขอถอนคำขอรับชำระหนี้แล้ว จึงไม่มีเจ้าหนี้ที่จะขอรับชำระหนี้ต่อไป ดังนั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ย่อมมีอำนาจร้องขอให้ศาลสั่งยกเลิกการล้มละลายได้ตามมาตรา 135 (2)แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483
พิพากษายืน

Share