คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 649/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยที่ 1 มีรูปช้างสามเศียรหรือช้างเอราวัณ และอาจเรียกขานว่าเครื่องหมายการค้าตราช้างสามเศียรหรือตราช้างเอราวัณได้เช่นกัน แต่ส่วนที่เป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าของโจทก์มิได้มีเฉพาะรูปช้างเท่านั้น หากยังมีวงกลมสองวง และมีอักษรภาษาไทยว่า บริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด หรือปูนซีเมนต์ตราเอราวัณ มั่นใจได้ กับอักษรโรมันว่า THE SIAM CEMENT CO., LTD. อยู่ภายในวงกลมสองวงซ้อนกันและมีอักษรโรมันขนาดเล็กว่า RAPID-HARDENING PORTLAND CEMENT อยู่ในวงกลมชั้นในด้วย ขณะที่ของจำเลยที่ 1 ไม่มีจึงแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด สินค้าที่โจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นปูนซีเมนต์และวัสดุก่อสร้าง แต่สินค้าของจำเลยที่ 1 เป็นข้าวสาร ย่อมไม่มีโอกาสที่สาธารณชนจะสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าว่าสินค้าข้าวสารของจำเลยที่ 1 เป็นของโจทก์หรือโจทก์มีส่วนเกี่ยวข้อง แม้บริษัทโจทก์จะตั้งขึ้นก่อนและใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์มาก่อนและไม่ว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์จะมีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปหรือไม่ ก็ชอบที่จะรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด ประกอบธุรกิจผลิต จำหน่าย ปูนซีเมนต์ และวัสดุที่ใช้หรือเกี่ยวเนื่องกับการก่อสร้างหลายชนิด จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการค้าข้าว และพืชผลการเกษตรทุกชนิด จำเลยที่ 2 เป็นส่วนราชการเป็นกรม มีฐานะเป็นนิติบุคคลสังกัดกระทรวงพาณิชย์ จำเลยที่ 3 เป็นนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า จำเลยที่ 4 ถึงที่ 11 เป็นคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าโจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้ารูปช้างเอราวัณหรือช้างสามเศียรและรูปช้างในลักษณะต่างๆ โดยได้รับการจดทะเบียนหลายรายการในสินค้าจำพวก 17 (เก่า) และ 19 (ใหม่) รายการสินค้าปูนซีเมนต์ เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2539 จำเลยที่ 1 ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูปช้างสามเศียรประดิษฐ์ต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเพื่อใช้กับสินค้าจำพวก 30 รายการสินค้าข้าวสาร ตามคำขอเลขที่ 316872 โจทก์ได้ยื่นคำคัดค้านการขอจดทะเบียนดังกล่าวว่า เครื่องหมายการค้าที่จำเลยที่ 1 ขอจดทะเบียนนั้นเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ วันที่ 18 พฤษภาคม 2541 จำเลยที่ 3 ในฐานะนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ยกคำคัดค้านของโจทก์โดยให้เหตุผลว่า เครื่องหมายการค้าที่จำเลยที่ 1 ขอจดทะเบียนนั้นไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ โจทก์อุทธรณ์คำวินิจฉัยดังกล่าวต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าอันประกอบด้วยจำเลยที่ 4 ถึงที่ 11 เพื่อให้พิจารณายกคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและมีคำสั่งระงับหรือเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2544 คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีมติให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์และให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิจารณาดำเนินการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของจำเลยที่ 1 ต่อไป การกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียงทางการค้าเพราะประชาชนขาดความเชื่อถือในคุณภาพของสินค้าที่จำเลยที่ 1 ผลิตและใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ ซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป ทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดว่าสินค้าที่จำเลยที่ 1 ผลิตเป็นสินค้าของโจทก์ ขอให้พิพากษาเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจำเลยที่ 4 ถึงที่ 11 ที่ 748/2544 และคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจำเลยที่ 3 ที่ 61/2541 โดยให้เพิกถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 316872 ของจำเลยที่ 1 หากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 ไม่ปฏิบัติตาม ขอให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 และให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 10,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 1 จะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการค้าข้าว ส่งออก ขายส่ง ขายปลีกวัตถุดิบเกษตร ผลิตและจำหน่ายสินค้าเพื่อสุขภาพและเพื่อการอุปโภคบริโภค จำเลยที่ 1 ไม่เคยประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายปูนซีเมนต์ วัสดุก่อสร้าง หรือธุรกิจอื่นๆ ดังเช่นที่โจทก์ประกอบ โจทก์ไม่ได้ใช้เครื่องหมายการค้าทุกเครื่องหมายที่โจทก์จดทะเบียนไว้ โจทก์ไม่เคยใช้เครื่องหมายการค้ารูปช้างสามเศียร คงใช้แต่เฉพาะรูปช้างในกรอบหกเหลี่ยมมีเส้นไขว้ ตราสำคัญของโจทก์ไม่ใช่รูปช้างสามเศียร ดังนั้น โจทก์จึงมิได้มีเจตนาที่จะใช้เครื่องหมายการค้าตราช้างสามเศียรหรือตราช้างเอราวัณเพื่อให้สาธารณชนทั่วไปเข้าใจว่าเป็นเครื่องหมายแทนบริษัทโจทก์ และรูปเครื่องหมายการค้าช้างสามเศียรประดิษฐ์ที่จำเลยที่ 1 ขอจดทะเบียนก็ไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้ารูปช้างสามเศียรของโจทก์ที่จดทะเบียนแล้ว อีกทั้งโจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าจำพวก 19 รายการสินค้าปูนซีเมนต์ ส่วนจำเลยที่ 1 ขอจดทะเบียนเพื่อใช้กับสินค้าจำพวก 30 รายการ สินค้าข้าวสาร ซึ่งเป็นคนละจำพวกกัน จึงไม่อาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า นายทะเบียนจึงเห็นว่าเครื่องหมายการค้ารูปช้างสามเศียรที่จำเลยที่ 1 ขอจดทะเบียนมีลักษณะบ่งเฉพาะ ไม่ต้องห้ามตามกฎหมาย และไม่เป็นเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิด และรับจดทะเบียนให้ โจทก์ไม่อาจเรียกค่าเสียหายได้เนื่องจากจำเลยที่ 1 เพียงแต่ยื่นคำขอจดทะเบียนและนายทะเบียนก็ยังไม่ได้จดทะเบียนให้ โดยที่จำเลยที่ 1 ยังไม่เคยใช้เครื่องหมายที่ขอจดทะเบียนกับสินค้าของจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ในฐานะนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า และจำเลยที่ 4 ถึงที่ 11 ในฐานะคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้มีคำวินิจฉัยโดยอาศัยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายโดยถูกต้องและสุจริตตามแนวทางคำวินิจฉัยที่ได้เคยปฏิบัติมา โดยมิได้เลือกปฏิบัติ จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายและละเมิดต่อโจทก์ กล่าวคือ นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเห็นว่า รูปลักษณ์ของเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยที่ 1 แตกต่างกัน และใช้กับสินค้าต่างจำพวกกัน มีรายการสินค้าไม่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน แม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์จะจดทะเบียนใช้กับสินค้าปูนซีเมนต์จนเป็นที่แพร่หลายพอสมควรแล้วก็ตาม แต่เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ใช้กับสินค้าข้าวสาร จึงไม่อาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 ถึงที่ 11 จึงชอบที่จะรับจดทะเบียนได้โดยไม่ขัดต่อมาตรา 13 และไม่ต้องห้ามตามมาตรา 8 (9) และ (10) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ข้อแรกว่า เครื่องหมายการค้ารูปช้างสามเศียรหรือช้างเอราวัณที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำขอจดทะเบียนเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้ารูปช้างสามเศียรหรือช้างเอราวัณในวงกลมสองวงซ้อนกันของโจทก์ที่จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่ เห็นว่า แม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์และเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 จะมีรูปช้างสามเศียรหรือช้างเอราวัณเช่นเดียวกัน และอาจเรียกขานว่าเครื่องหมายการค้าตราช้างสามเศียรหรือตราช้างเอราวัณได้เช่นกัน แต่ส่วนที่เป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าของโจทก์หาได้มีเฉพาะรูปช้างเท่านั้น หากยังมีวงกลมสองวงซ้อนกันเป็นสองชั้น และมีอักษรภาษาไทยว่า บริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด หรือปูนซีเมนต์ตราเอราวัณ มั่นใจได้ กับอักษรโรมันว่า THE SIAM CEMENT CO., LTD อยู่ภายในวงกลมสองวงซ้อนกันนั้น และมีอักษรโรมันขนาดเล็กว่า RAPID – HARDENING PORTLAND CEMENT อยู่ในวงกลมชั้นในประกอบอยู่ในส่วนสาระสำคัญด้วย ขณะที่เครื่องหมายรูปช้างสามเศียรของจำเลยที่ 1 ไม่มีวงกลมและอักษรอื่นใดประกอบ รูปลักษณะโดยรวมของเครื่องหมายการค้าของโจทก์และเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 จึงแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้เมื่อพิจารณาถึงสินค้าที่โจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวซึ่งเป็นสินค้าปูนซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างอันเป็นสินค้าอุปโภคแต่สินค้าของจำเลยที่ 1 ซึ่งใช้เครื่องหมายการค้านั้นเป็นสินค้าข้าวสารอันเป็นสินค้าบริโภค แต่สินค้าของจำเลยที่ 1 ซึ่งใช้เครื่องหมายการค้านั้นเป็นสินค้าข้าวสารอันเป็นสินค้าบริโภคในชีวิตประจำวัน เป็นสินค้าต่างจำพวก และไม่มีลักษณะอย่างเดียวกันย่อมไม่มีโอกาสที่สาธารณชนจะสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าว่าสินค้าข้าวสารของจำเลยที่ 1 และไม่ว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์มาก่อนจำเลยที่ 1 และไม่ว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์จะมีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปหรือไม่ก็ตาม คำวินิจฉัยของจำเลยที่ 3 ในฐานะนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า และของจำเลยที่ 4 ถึงที่ 11 ในฐานะคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ให้ยกคำคัดค้านของโจทก์และให้ดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ต่อไปจึงชอบแล้ว ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกฟังไม่ขึ้น คดีไม่จำต้องวินิจฉัยในประเด็นอื่นอีกต่อไป เพราะไม่อาจทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ.

Share