แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยต่อสู้คดีว่าสัญญาขายฝากเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญาจำนองเป็นการกล่าวอ้างว่าสัญญาขายฝากเกิดจากเจตนาลวงของคู่กรณีโดยคู่กรณีมีเจตนาที่แท้จริงจะทำสัญญาจำนองกัน หากเป็นจริงดังที่กล่าวอ้างสัญญาขายฝากย่อมใช้บังคับไม่ได้จำเลยจึงมีสิทธินำสืบพยานได้ ไม่ถือว่าเป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสาร
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยขายฝากที่ดินและบ้านให้โจทก์ในราคา2,000,000 บาท มีกำหนด 1 ปี ครบกำหนดแล้วจำเลยไม่ไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝาก โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยขนย้ายออกไป จำเลยเพิกเฉย ทำให้โจทก์เสียหายเดือนละ 5,000 บาท ขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารกับให้ใช้ค่าเสียหาย จำเลยให้การว่า สัญญาขายฝากตามฟ้องทำขึ้นเพื่ออำพรางสัญญาจำนอง โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยไม่ได้ ที่ดินและบ้านอาจให้เช่าได้ไม่เกินเดือนละ 1,500 บาท วันนัดสืบพยานจำเลยซึ่งมีหน้าที่นำสืบก่อน จำเลยแถลงว่า การจำนองที่ดินและบ้านพิพาทกับโจทก์ไม่ได้ทำหลักฐานและจดทะเบียนต่อหน้าพนักงานเจ้าหน้าที่ ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานจำเลย โจทก์แถลงยอมรับค่าเสียหายตามที่จำเลยรับในคำให้การเดือนละ 1,500 บาท และได้บอกกล่าวให้จำเลยออกไปจากที่ดินและบ้านพิพาทและไม่ติดใจสืบพยาน ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินและบ้านพิพาท และให้ชำระค่าเสียหายจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “จำเลยให้การต่อสู้คดีว่าโจทก์กับจำเลยตกลงทำนิติกรรมขายฝากที่ดินและบ้านพิพาทเพื่ออำพรางนิติกรรมจำนอง และจำเลยแถลงรับว่านิติกรรมจำนองที่จำเลยอ้างว่าเป็นนิติกรรมแท้จริงที่ถูกอำพรางนั้นมิได้ทำหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยมีว่า จำเลยมีสิทธินำสืบพยานเพื่อพิสูจน์ข้อต่อสู้ตามที่จำเลยกล่าวอ้างหรือไม่เห็นว่าในกรณีที่จำเลยต่อสู้คดีว่าสัญญาขายฝากเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญาจำนองนั้น ย่อมเป็นการกล่าวอ้างว่าสัญญาขายฝากเกิดจากเจตนาลวงของคู่กรณี โดยคู่กรณีมีเจตนาที่แท้จริงจะทำสัญญาจำนองกันหากเป็นจริงดังจำเลยกล่าวอ้างสัญญาขายฝากย่อมใช้บังคับไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 118 จำเลยย่อมมีสิทธินำสืบพยานได้ หาใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารไม่ การที่ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานทั้งสองฝ่ายจึงไม่ชอบ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานต่อไปแล้วพิพากษาใหม่นั้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน