แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การเคหะแห่งชาติมีคำสั่งกำหนดบุคคลผู้ไขกุญแจตู้โทรศัพท์สาธารณะที่ติดตั้งในบริเวณเคหะชุมชนต่าง ๆ โดยในคำสั่งนั้นระบุตำแหน่งของกรรมการไว้โดยเฉพาะ และมีหัวหน้าสำนักงานดูแลเคหะชุมชนเป็นประธานกรรมการ ในกรณีที่บุคคลบางตำแหน่งไม่มี คำสั่งดังกล่าวก็ได้กำหนดให้หัวหน้าสำนักงานดูแลเคหะชุมชนแต่ตั้งบุคคลที่ดำรงตำแหน่งอื่นเป็นกรรมการแทน แต่บุคคลนั้นต้องดำรงตำแหน่งเป็นพนักงานจัดการทรัพย์สินหรือพนักงานธุรการประจำสำนักงานเคหะชุมชนนั้น จำเลยดำรงตำแหน่งทางสายงานเป็นพนักงานบริการและดำรงตำแหน่งทางการบริหารเป็นหัวหน้างานสำนักงาน ดูแลเคหะชุมชน จึงไม่มีคุณสมบัติที่จะได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการไขกุญแจเก็บเงินจากตู้โทรศัพท์ได้ การที่หัวหน้าสำนักงานดูแลเคหะชุมชนได้มอบหมายให้จำเลยมีหน้าที่ไขตู้โทรศัพท์เก็บเงินส่งเจ้าหน้าที่ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นคำสั่งตั้งกรรมการที่ชอบด้วยกฎหมาย และถือไม่ได้ว่าเป็นการมอบหมายในฐานะผู้บังคับบัญชา หากแต่เป็นเรื่องมอบหมายงานให้จำเลยปฏิบัติแทนหัวหน้าสำนักงานดูแลเคหะชุมชนในฐานะประธานกรรมการ เป็นการภายในเท่านั้น จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายในอันที่จะจัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ในฐานะเป็นพนักงานองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ การที่จำเลยเบียดบังเงินที่เก็บได้จากตู้โทรศัพท์บางส่วน จึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2512 มาตรา 4 คงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 แต่เมื่อการเคหะแห่งชาติมิได้ร้องทุกข์ภายใน 3 เดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด คดีจึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.๒๕๐๒ มาตรา ๓,๔ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๗
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติฯ มาตรา ๔ รวม ๒๕ กระทง จำคุก ๕๐ ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑(๓)
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยเป็นพนักงานของการเคหะแห่งชาติดำรงตำแหน่งทางสายงานเป็นพนักงานบริการ ๑(๒) และดำรงตำแหน่งทางการบริหารเป็นหัวหน้าคนงาน สำนักงานดูแลเคหะชุมชนดินแดง ๑ นายศักดา แม้นสุวรรณ ดำรงตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานดูแลเคหะชุมชนดินแดง ๑ เป็นผู้บังคับบัญชาจำเลยปี พ.ศ.๒๕๒๓ นายศักดามีคำสั่งให้จำเลยไปประจำหน้าที่หัวหน้าคนงานอาคารชุดโครงการดินแดง ๓ อาคาร ๘ ชั้น ซึ่งอยู่ในความดูแลของสำนักงานเคหะชุมชนดินแดง ๑ และในปลายปี พ.ศ.๒๕๒๓ นายศักดามอบหมายด้วยวาจาให้จำเลยปฏิบัติหน้าที่ไขกุญแจตู้โทรศัพท์สาธารณะในชุมชนอาคาร ๘ ขั้นดังกล่าวโดยปฏิบัติงานร่วมกับพนักงานอื่นอีก ๑ หรือ ๒ คนทุกครั้ง แล้วนำเงินจากตู้โทรศัพท์ส่งให้แก่นางสาวกัญจนา เพียรแสงทอง เพื่อฝากธนาคารต่อไป การปฏิบัติงานของจำเลย จำเลยมีอำนาจและหน้าที่ตามคำสั่งที่ ๔/๒๕๒๔ ของหัวหน้าสำนักงานดูแลเคหะชุมชนดินแดง ๑ ตามเอกสารหมาย จ.๑ ข้อ ๕ และตามคำสั่งที่ จ.๕/๒๕๒๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งที่ จ.๒๗/๒๕๒๔ ของการเคหะแห่งชาติ ตามเอกสารหมาย ล.๒, ล.๑ ตามลำดับซึ่งระบุว่า ….”………..
๓.๒ โทรศัพท์สาธารณะที่ติดตั้งในบริเวณเคหะชุมชนต่าง ๆ กำหนดให้บุคคลต่อไปนี้ เป็นผู้ไขกุญแจพร้อมทั้งนำเงินฝากธนาคาร
๓.๒.๑ หัวหน้าสำนักงานดูแลเคหะชุมชน ฝ่ายจัดการทรัพย์สินเป็นประธานกรรมการ
๓.๒.๒ พนักงานจัดการทรัพย์สินหรือพนักงานธุรการประจำสำนักงานดูแลเคหะชุมชนนั้น ๆ เป็นกรรมการ
๓.๒.๓ หัวหน้างานรับเงินเคหะชุมชน กองรายได้ ฝ่ายการคลังเป็นกรรมการ
หากเคหะชุมชนใดไม่มีหัวหน้างานรับเงินเคหะชุมชน ให้หัวหน้าสำนักงานดูแลเคหะชุมชนแต่งตั้งจากพนักงานจัดการทรัพย์สินหรือพนักงานธุรการประจำสำนักงานเคหะ ชุมชนนั้นเป็นกรรมการแทนหนึ่งคน
………………”
เมื่อระหว่างวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๒๕ ถึงวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๒๕ จำเลยได้เบียดบังเงินค่าโทรศัพท์สาธารณะบางส่วนไว้เป็นประโยชน์แก่ตนรวม ๒๕ ครั้ง มีปัญหาในชั้นฎีกาเฉพาะในความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐว่า จำเลยมีหน้าที่จัดการหรือรักษาทรัพย์เงินค่าโทรศัพท์สาธารณะดังกล่าวหรือไม่ เห็นว่า คำสั่งการเคหะแห่งชาติที่ จ.๒๗/๒๕๒๔ เรื่องแก้ไขคำสั่งการเคหะแห่งชาติตามเอกสารหมาย ล.๑ ข้อ ๓.๒ ได้ระบุตำแหน่งของกรรมการไขกุญแจโทรศัพท์สาธารณะไว้โดยเฉพาะแล้ว ในกรณีที่บุคคลบางตำแหน่งไม่มี คำสั่งดังกล่าวได้กำหนดให้หัวหน้าสำนักงานดูแลเคหะชุมชนแต่งตั้งบุคคลที่ดำรงตำแหน่งอื่นเป็นกรรมการแทนแต่บุคคลนั้นต้องดำรงตำแหน่งเป็นพนักงานจัดการทรัพย์สินหรือพนักงานธุรการประจำสำนักงานเคหะชุมชนนั้น จำเลยดำรงตำแหน่งทางสายงานเป็นพนักงานบริการ ๑(๒) และดำรงตำแหน่งทางการบริหารเป็นหัวหน้าคนงาน สำนักงานดูแลเคหะชุมชนดินแดง ๑ จึงไม่มีคุณสมบัติที่จะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการไขกุญแจเก็บเงินจากตู้โทรศัพท์ได้ การที่นายศักดาในฐานะที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานดูแลเคหะชุมชนดินแดง ๑ ได้มอบหมายให้จำเลยมีหน้าที่ไขกุญแจโทรศัพท์สาธารณะแล้วนำเงินส่งให้แก่นางสาวกัญจนา เฑียรแสงทอง เพื่อฝากธนาคารต่อไปนั้น ถือไม่ได้ว่าเป็นคำสั่งตั้งกรรมการที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายของเอกสารหมาย ล.๑ และถือไม่ได้ว่าเป็นการมอบหมายในฐานะผู้บังคับบัญชา เพราะบุคคลใดจะเป็นกรรมการได้คำสั่งการเคหะแห่งชาติดังกล่าวได้ระบุตำแหน่งไว้โดยเฉพาะแล้ว กรณีจึงเป็นเรื่องมอบหมายงานให้จำเลยปฏิบัติแทนนายศักดาในฐานะประธานกรรมการเป็นการภายในเท่านั้น จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายในอันที่จะจัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ในฐานะเป็นพนักงานองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ การที่จำเลยได้เบียดบังเงินที่เก็บได้จากตู้โทรศัพท์บางส่วน จึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.๒๕๐๒ มาตรา ๕ คงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๒ แต่ตามเอกสารหมาย จ.๘ เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนพนักงานที่ต้องหาว่ากระทำผิดวินัยและความรับผิดทางแพ่งฉบับลงวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๒๕ มีข้อความสำคัญว่า จำเลยรับสารภาพในการสอบสวนข้อเท็จจริงเบื้องต้นของสำนักงานดูแลเคหะชุมชนดินแดง ๑ ว่า ได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหาและยินยอมชดใช้เงิน ๒๑,๖๘๓ บาท ที่ยักยอกคืนให้แก่การเคหะแห่งชาติแล้วแสดงว่าการเคหะแห่งชาติได้รับเงินคืนจากจำเลยแล้วในขณะนั้น จึงถือได้ว่าการเคหะแห่งชาติรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิดแล้ว แต่การเคหะแห่งชาติได้ร้องทุกข์เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๒๖ จึงพ้นกำหนด ๓ เดือน คดีขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๖ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน