คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6719/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลแรงงานภาค 4 พิพากษาให้จำเลยที่ 2 รับโจทก์เข้าทำงานในตำแหน่งและอัตราจ้างไม่ต่ำกว่าเดิมเนื่องจากจำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม แม้มิได้กำหนดให้นับอายุงานต่อเนื่องไว้แต่ตามผลรูปคดีย่อมแสดงว่าเป็นการสั่งให้รับลูกจ้างกลับเข้าทำงานต่อไปในฐานะเดิมก่อนการเลิกจ้าง เมื่ออายุงานเป็นองค์ประกอบที่จะทำให้ลูกจ้างได้รับสิทธิตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานบางประการ การไม่นับอายุงานต่อเนื่องเป็นการทำให้ลูกจ้างเสียสิทธิที่จะพึงมีพึงได้อันเนื่องมาจากอายุงานเป็นการไม่คุ้มครองลูกจ้าง ไม่ต้องด้วยเจตนารมณ์ของมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522
การนับอายุงานต่อเนื่องเป็นเพียงการรักษาสิทธิของลูกจ้างที่มีอยู่แล้วไม่ให้เสียไปเพราะการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จึงต้องนับอายุงานต่อเนื่องจากอายุงานเดิมมิใช่เริ่มนับอายุงานใหม่หลังจากที่จำเลยที่ 2 รับโจทก์กลับเข้าทำงาน แต่จะนับระยะเวลาตั้งแต่วันเลิกจ้างถึงวันที่จำเลยที่ 2 รับโจทก์กลับเข้าทำงานรวมเข้าเป็นอายุงานด้วยไม่ได้เพราะระหว่างนั้นโจทก์ไม่ได้ทำงานให้จำเลยที่ 2 คงนับอายุงานใหม่ต่อกับอายุงานเดิมที่คำนวณถึงวันก่อนวันเลิกจ้างได้เท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยต่อไปและจ่ายค่าจ้าง 60,000 บาท ค่าล่วงเวลา 10,000 บาท ค่าทำงานในวันหยุด 3,000 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 2,000 บาท กับให้เพิกถอนคำสั่งสำนักงานไปรษณีย์เขต 4 ที่ 066/2548 เรื่อง ไล่ลูกจ้างออกจากงาน
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 4 พิพากษาให้จำเลยที่ 2 รับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งและอัตราค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเดิม คำขออื่นให้ยก ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1
โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค 4 ฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า โจทก์เคยเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่นำจ่ายไปรษณีย์ภัณฑ์ พัสดุ ไปรษณีย์ และงานอื่นตามที่ได้รับมอบหมาย ในที่ทำการไปรษณีย์ขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น มีจำเลยที่ 1 ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้จัดการสำนักงานการสื่อสารไปรษณีย์เขต 4 จังหวัดขอนแก่น เป็นผู้บังคับบัญชา จำเลยที่ 2 ได้รับการร้องเรียนจากนายทองดีว่า เงินสดจำนวน 2,200 ฟรังก์สวิส คิดเป็นเงินไทย 71,324 บาท หายไปจากจดหมายลงทะเบียนที่บุตรสาวได้ส่งมาจากต้นทางประเทศสวิสเซอร์แลนด์ จำเลยที่ 2 สอบสวนข้อเท็จจริงพบว่านายธีรวัฒน์ ลูกจ้างรายวันของจำเลยที่ 2 ประจำที่ทำการไปรษณีย์เดียวกับโจทก์ได้นำธนบัตรฟรังก์สวิสไปแลกเปลี่ยนที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด จำเลยที่ 2 จึงมีคำสั่งไล่นายธีรวัฒน์ออกจากงาน ต่อมานายธีรวัฒน์ชี้แจงข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นผู้นำธนบัตรฟรังก์สวิสมาให้ตนนำไปแลกเปลี่ยนและนำมาแบ่งกัน จำเลยที่ 2 จึงไล่โจทก์ออกจากงาน ในวันที่ 8 เมษายน 2548 ตามคำสั่งสำนักงานไปรษณีย์เขต 4 ที่ 066/2548 แล้ววินิจฉัยว่า คำให้การของนายธีรวัฒน์กลับไปกลับมาไม่ควรแก่การเชื่อถือ นายธีรวัฒน์มาทำงานในวันที่ 23 สิงหาคม 2547 เวลา 00.10 นาฬิกา ถึง 08.10 นาฬิกา โดยปกตินายธีรวัฒน์จะเข้ามาในห้องไปรษณีย์ขาเข้าลงทะเบียนเพื่อตรวจสอบว่าการคัดแยกถูกต้องหรือไม่ นายธีรวัฒน์จึงมีโอกาสที่จะหยิบฉวยจดหมายลงทะเบียนต่างประเทศฉบับดังกล่าวได้ โจทก์ได้รับจดหมายในวันที่ 23 สิงหาคม 2547 เวลาประมาณ 8 นาฬิกา แต่มิได้นำไปส่งให้แก่นายทองดีในวันดังกล่าวด้วยเหตุหลงลืม พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองจึงไม่มีน้ำหนักที่จะฟังว่า โจทก์มีส่วนร่วมในการแกะจดหมายลงทะเบียนและลักสิ่งบรรจุภายในซึ่งเป็นเงินฟรังก์สวิสไป โจทก์จึงไม่มีความผิดวินัยร้ายแรงในฐานทุจริตต่อหน้าที่ จำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม เห็นควรให้จำเลยที่ 2 รับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งและอัตราค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเดิมและเนื่องจากโจทก์ได้รับประโยชน์จากการกลับเข้าทำงานแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายหรือค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีอีก จำเลยที่ 1 กระทำไปตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 2 ถือว่าเป็นผู้มีอำนาจทำการแทนนิติบุคคล จึงไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว
ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า การที่โจทก์ขอให้จำเลยที่ 2 จ่ายค่าเสียหายจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานโดยคิดจากค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีนั้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจการกำหนดค่าเสียหายของศาลแรงงานภาค 4 ว่า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายจากจำเลยที่ 2 เพื่อให้ศาลฎีกากำหนดค่าเสียหายเพิ่มเติมให้แก่โจทก์ จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่า ตามคำให้การโจทก์และพยานจำเลยว่า โจทก์ไม่นำจ่ายจดหมายและทำหลักฐานให้ถูกต้องตามขั้นตอนตามระเบียบ น่าเชื่อว่าโจทก์มีส่วนร่วมในการกระทำผิดด้วย การเลิกจ้างของจำเลยที่ 2 ต่อโจทก์จึงมีเหตุผลอันสมควรนั้น เป็นการโต้แย้งข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานภาค 4 ฟังเป็นยุติว่า พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองไม่มีน้ำหนักที่จะฟังว่า โจทก์มีส่วนร่วมในการลักเงินจากซองจดหมาย จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเช่นกัน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 ต้องนับอายุงานต่อเนื่องให้แก่โจทก์หรือไม่ เมื่อศาลแรงงานภาค 4 มีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 2 รับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งและอัตราค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเดิม เนื่องจากจำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 คำพิพากษาศาลแรงงานภาค 4 ดังกล่าวแม้มิได้กำหนดให้นับอายุงานต่อเนื่องไว้แต่ตามผลรูปคดีที่ศาลแรงงานภาค 4 พิพากษาให้จำเลยที่ 2 รับโจทก์กลับเข้าทำงานย่อมแสดงว่าเป็นการสั่งให้รับลูกจ้างกลับเข้าทำงานต่อไปในฐานะเดิมก่อนการเลิกจ้าง แม้บทบัญญัติดังกล่าวมิได้บัญญัติห้ามศาลแรงงานนับอายุงานต่อเนื่องไว้ แต่อายุงานเป็นองค์ประกอบที่จะทำให้ลูกจ้างได้รับสิทธิตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานบางประการ การไม่นับอายุงานต่อเนื่องเป็นการทำให้ลูกจ้างเสียสิทธิที่จะพึงมีพึงได้อันเนื่องมาจากอายุงานเป็นการไม่คุ้มครองลูกจ้าง ไม่ต้องด้วยเจตนารมณ์ของมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 การนับอายุงานต่อเนื่องเป็นเพียงการรักษาสิทธิของลูกจ้างที่มีอยู่แล้วไม่ให้เสียไปเพราะการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จึงต้องนับอายุงานต่อเนื่องจากอายุงานเดิมมิใช่เริ่มนับอายุงานใหม่หลังจากที่จำเลยที่ 2 รับโจทก์กลับเข้าทำงาน แต่จะนับระยะเวลาตั้งแต่วันเลิกจ้างถึงวันที่จำเลยที่ 2 รับโจทก์กลับเข้าทำงานรวมเข้าเป็นอายุงานด้วยไม่ได้เพราะระหว่างนั้นโจทก์ไม่ได้ทำงานให้จำเลยที่ 2 คงนับอายุงานใหม่ต่อกับอายุงานเดิมที่คำนวณถึงวันก่อนวันเลิกจ้างได้เท่านั้น อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้นับอายุงานใหม่ของโจทก์ติดต่อกับอายุงานที่คำนวณถึงวันที่ 8 เมษายน 2548 ซึ่งเป็นวันก่อนวันเลิกจ้างเป็นต้นไป นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานภาค 4

Share