แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยไม่ได้ยืนยันว่าโจทก์ร่วมทุจริต เพียงแต่สงสัยในพฤติการณ์ของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้พิพากษาในคดีที่จำเลยถูกผู้อื่นฟ้องที่มีคำสั่งให้งดชี้สองสถานกับงดสืบพยานในคดีนั้น แม้ว่าเป็นอำนาจและดุลพินิจของโจทก์ร่วม แต่ก็เป็นการใช้ดุลพินิจและอำนาจที่คลาดเคลื่อน เพราะหลังจากนั้นศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้ยกคำพิพากษาของศาลชั้นต้นซึ่งโจทก์ร่วมเป็นองค์คณะ และย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นทำการสืบพยานโจทก์และจำเลย และที่โจทก์ร่วมสั่งไม่รับอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ก็มีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงไว้แล้ว นอกจากนี้จำเลยยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2554 เวลา 10.50 นาฬิกา แต่โจทก์ร่วมไม่ได้สั่งอุทธรณ์ในวันดังกล่าว ต่อมาโจทก์ร่วมสั่งรับอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยประทับตรายางวันเดือนปี คือ เมษายน 2554 แต่มีการลบวันที่ซึ่งน่าจะเป็นวันที่ 27 และเขียนด้วยลายมือโจทก์ร่วมเป็นวันที่ 30 การที่จำเลยไปพบ ส. ซึ่งรับราชการในตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาภาค 7 ที่โจทก์ร่วมรับราชการอยู่ในเขตอำนาจเพียงประสงค์จะให้ ส. ดูแลผู้พิพากษาในภาคให้มากกว่านี้ ไม่ได้ไปพบในลักษณะที่ว่าจะให้ตั้งกรรมการสอบสวนโจทก์ร่วม แม้ตามบันทึกเรื่องราวที่จำเลยมอบให้ ส. จะมีข้อความเกินเลยไปบ้าง แต่ก็มีลักษณะเป็นการปรับทุกข์และระบายความทุกข์กับ ส. ที่ดูแลผู้พิพากษาภายในภาค 7 การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่หรือเพราะได้กระทำการตามหน้าที่ และดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาหรือพิพากษาคดีตาม ป.อ. มาตรา 136 และ 198
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136, 198
ระหว่างพิจารณา นาย น. ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136, 198 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 198 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี และปรับ 2,000 บาท จำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน กระทำความผิดเนื่องจากเป็นคู่ความซึ่งมีส่วนได้เสียในผลแห่งคดีอยู่ด้วย จึงเห็นสมควรให้โอกาสแก่จำเลยสักครั้ง โดยให้รอการลงโทษไว้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 มีกำหนด 1 ปี จำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
โจทก์ร่วมและจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
โจทก์ร่วมและจำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติในชั้นนี้โดยคู่ความไม่โต้แย้งคัดค้านว่า ก่อนเกิดเหตุและขณะเกิดเหตุคดีนี้ โจทก์ร่วมเป็นข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลจังหวัดสุพรรณบุรีระหว่างปี 2542 ถึง 2545 นาย ท. ได้ฟ้องจำเลยต่อศาลจังหวัดสุพรรณบุรี เรื่องที่ดิน สิทธิครอบครอง เพิกถอนคำคัดค้านการรังวัดออกโฉนดเป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1246/2543 จำเลยให้การต่อสู้คดีและฟ้องแย้ง นาย ท.ให้การแก้ฟ้องแย้งตามภาพถ่ายคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 252/2544 ของศาลจังหวัดสุพรรณบุรี โจทก์ร่วมได้รับมอบหมายเป็นเจ้าของสำนวนพิจารณาและพิพากษาคดีนี้โดยมีนาย ศ. ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดสุพรรณบุรีเป็นองค์คณะ ในวันชี้สองสถาน คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงบางประการ และเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ จึงงดชี้สองสถานและงดสืบพยานโจทก์จำเลย นัดฟังคำพิพากษา จำเลยแถลงด้วยวาจาว่าไม่ควรงดชี้สองสถานและงดสืบพยานโจทก์จำเลย ขอให้บันทึกคำคัดค้านไว้ แต่โจทก์ร่วมสั่งให้แถลงเข้ามาเป็นลายลักษณ์อักษร เมื่อถึงวันนัด โจทก์ร่วมและนาย ศ.ร่วมกันพิพากษาให้จำเลยแพ้ จำเลยอุทธรณ์ทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย โจทก์ร่วมสั่งรับเฉพาะอุทธรณ์ข้อกฎหมายบางข้อ ส่วนข้อเท็จจริงไม่รับ จำเลยโทรศัพท์ไปหานาย ศ. เพื่อขอให้โจทก์ร่วมแก้ไขคำสั่งเป็นรับอุทธรณ์โจทก์ทุกข้อ โจทก์ร่วมไม่ยอมแก้ไขคำสั่ง นอกจากนี้ นาย ส. สามีของจำเลย ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองประธานศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้ติดต่อทางโทรศัพท์ถึงนาย ศ. และโจทก์ร่วมขอให้แก้ไขคำสั่งด้วย โจทก์ร่วมไม่ยินยอม จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงด้วย ต่อมาโจทก์ร่วมอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ให้คู่ความฟัง โดยศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ (นาย ท.) และให้จำเลยชนะคดีตามฟ้องแย้ง โจทก์ (นาย ท.) ฎีกา ศาลฎีกาพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 ให้ศาลชั้นต้นทำการสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี โดยศาลจังหวัดสุพรรณบุรีอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้คู่ความฟัง อนึ่ง ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีนี้ได้ความว่า จำเลยไปพบนาย ส. ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาภาค 7 ที่สำนักงานศาลยุติธรรมประจำภาค 7 จังหวัดนครปฐม แล้วแจ้งถึงพฤติการณ์ของโจทก์ในการพิจารณาคดีข้างต้น พร้อมกับมอบบันทึกเรื่องจำเลยได้รับความเดือดร้อนจากการพิจารณาคดีของโจทก์ร่วมโดยบันทึกดังกล่าวจำเลยไม่ได้ลงลายมือชื่อ นาย ส. มีหนังสือถึงนาย ศ. ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและรายงานให้ทราบ นาย ศ. มีหนังสือชี้แจงพร้อมกับแนบบันทึกการสอบข้อเท็จจริงด้วย ต่อมาโจทก์ร่วมนำเอกสารตามบันทึกการชี้แจงไปร้องทุกข์ต่อร้อยตำรวจเอก ว. พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครปฐม กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดคดีนี้ หลังจากนั้นจำเลยไปพบร้อยตำรวจเอก ว. และให้การปฏิเสธ
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาทำนองว่า จำเลยไม่มีเจตนากระทำความผิด โจทก์และโจทก์ร่วมมีนาย ส. เบิกความยืนยันว่า ขณะพยานรับราชการในตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาภาค 7 และปฏิบัติหน้าที่ก็อยู่ที่สำนักงานศาลยุติธรรมประจำภาค 7 ซึ่งศาลจังหวัดสุพรรณบุรี ที่โจทก์ร่วมรับราชการก็อยู่ในเขตอำนาจของสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 7 ด้วย ได้มีจำเลยซึ่งพยานรู้จักมาพบ บอกว่ามีเรื่องไม่สบายใจอยากจะปรับทุกข์ จากนั้นจำเลยเล่าให้ฟังว่ามีคดีพิพาทกันทางแพ่งอยู่ที่ศาลจังหวัดสุพรรณบุรี โดยจำเลยตกเป็นจำเลยในคดีดังกล่าว ศาลงดสืบพยานและพิพากษาให้จำเลยแพ้คดี จำเลยยื่นอุทธรณ์ ศาลไม่รับอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง พยานถามว่ามีเอกสารประกอบหรือไม่ จำเลยจึงมอบบันทึกให้ พยานสอบถามว่าผู้พิพากษาท่านใดเป็นเจ้าของสำนวน จำเลยแจ้งว่านาย น. จำนามสกุลไม่ได้ โดยจำเลยไม่ยอมลงลายมือชื่อในเอกสารดังกล่าว ศาลฎีกาตรวจดูบันทึกแล้ว มีข้อความว่า “เนื่องจากดิฉันได้รับความเดือดร้อนจากการกระทำของผู้พิพากษา น. ดังจะกราบเรียนดังต่อไปนี้ เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2544 ดิฉันไปศาลจังหวัดสุพรรณบุรี ตามหมายนัดของศาลว่านัดชี้สองสถานและไกล่เกลี่ย ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1246/2543 หมายเลขแดงที่ 252/2544 ในข้อหาหรือฐานความผิดเกี่ยวกับที่ดิน สิทธิครอบครอง ในวันนั้นนาย น. ได้ถามทนายความของโจทก์ว่า โจทก์ทำไมไม่มา แล้วถามดิฉัน (ในวันนั้นดิฉันยังไม่ได้แต่งทนายเพราะคิดว่าศาลประสงค์จะไกล่เกลี่ย) ว่าตอนซื้อที่ดินแปลงพิพาทผู้ขายชี้แนวตรงคันนาใช่ไหม ดิฉันตอบว่าใช่ เพียงประโยคเดียวเท่านี้ผู้พิพากษาก็บอกว่าตัดพยานนัดฟังคำพิพากษา ดิฉันทักท้วง ศาลบอกว่าให้ทำคำแถลงเพื่อใช้ในการอุทธรณ์ เหมือนจะบอกใบ้ทนายความฝ่ายโจทก์ทราบ ศาลตัดสินให้โจทก์ชนะอย่างง่ายดายไม่ต้องเสียเวลานำพยานมาสืบ การกระทำของศาลคล้ายจะหลอกดิฉันให้เดินทางเพื่อสอบถามเพียงประโยคเดียวเท่านั้น เพราะถ้ามีเจตนาจะไกล่เกลี่ยจริงก็น่าที่จะเลื่อนไปนัดหน้า ผลของคำพิพากษาศาลตัดสินให้ดิฉันแพ้ดังที่ ท่าน น. บอกใบ้ การเขียนคำพิพากษาก็ล้วนแต่คิดเอาเองทั้งนั้น โดยไม่ได้นำพยานหลักฐานที่แนบท้ายคำให้การจำเลยและฟ้องแย้งมาประกอบการวินิจฉัย ดิฉันยื่นอุทธรณ์ แต่ผู้พิพากษา น. ไม่อยู่ วันที่ 8 พฤษภาคม 2544 ดิฉันโทรไปสอบถาม จึงทราบคำสั่งของศาล .ดิฉันพยายามติดต่อท่าน น. เพื่อขอให้ท่านสั่งให้ถูกต้อง แต่ติดต่อไม่ได้ ดิฉันจึงได้ติดต่อหัวหน้าศาลจังหวัดสุพรรณบุรีขอให้ท่านช่วยแก้ไขคำสั่งให้ถูกต้อง แต่ท่าน น. กลับพูดว่าถ้าสั่งผิดก็อุทธรณ์คำสั่ง ถ้าแก้คำสั่งให้เองเดี๋ยวจะมีคนเข้าใจผิดว่ามีการวิ่งเต้นคดี พฤติการณ์ของท่าน น. น่าสงสัยว่าฝ่ายโจทก์คงจะมาวิ่งเต้นคดีเพราะท่านเปิดโอกาสให้คู่ความติดต่อถึงตัวได้ทุกคน คู่ความสามารถวิ่งเต้นคดีได้ง่ายไม่มีใครรู้ ถ้าศาลสั่งแก้ไขแล้ว บุคคลภายนอกรู้ได้อย่างไร หรือว่าได้รับผลประโยชน์มาแล้วจึงเกรงว่าฝ่ายโจทก์จะมาร้องเรียนถ้าจะแก้ไขคำสั่งให้ถูกต้อง อีกทั้งคำพิพากษาและคำสั่งก็ล้วนแต่เอื้อประโยชน์ให้แก่ฝ่ายโจทก์จนกระทั่งไม่คำนึงถึงตัวบทกฎหมาย อีกทั้งเป็นการเพิ่มภาระให้แก่ประชาชนโดยไม่จำเป็น ทำให้ได้รับความเดือดร้อนมากเกินจำเป็น ศาลเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน ถ้าศาลทำอย่างนี้เสียเองแล้ว ต่อไปประชาชนจะพึ่งใคร” เห็นว่า ตามบันทึกจำเลยไม่ได้ยืนยันว่าโจทก์ร่วมทุจริต เพียงแต่สงสัยในพฤติการณ์เท่านั้น ซึ่งเหตุที่ควรสงสัยได้แก่การที่โจทก์ร่วมงดชี้สองสถานกับงดสืบพยานโจทก์พยานจำเลยตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 252/2544 ของศาลจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งแม้ว่าเป็นอำนาจและดุลพินิจของโจทก์ร่วม แต่ก็เป็นการใช้ดุลพินิจและอำนาจที่คลาดเคลื่อนโดยจะเห็นได้ว่า ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้ยกคำพิพากษาของศาลชั้นต้นซึ่งโจทก์ร่วมเป็นองค์คณะ กับยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 และย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นทำการสืบพยานโจทก์และพยานจำเลย ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2567/2551 ประการที่สองได้แก่ การสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยเฉพาะข้อกฎหมายโดยไม่สั่งอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง เมื่อจำเลยอุทธรณ์คำสั่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ก็มีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงด้วย ประการที่สามได้แก่ จำเลยยื่นอุทธรณ์คดีแพ่งข้างต้น เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2544 เวลา 10.50 นาฬิกา แต่โจทก์ร่วมไม่ได้สั่งอุทธรณ์ในวันดังกล่าวและต่อมาปรากฏว่าโจทก์ร่วมสั่งรับอุทธรณ์ข้อกฎหมาย โดยมีตรายางประทับวันเดือนปี โดยเดือนและปีคือ เมษายน 2544 แต่มีการลบวันที่ (ซึ่งน่าจะเป็นวันที่ 27) และเขียนด้วยลายมือโจทก์ร่วมเป็นวันที่ 30 ซึ่งหากไม่มีการแก้วันที่แล้วอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยซึ่งยื่นเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2544 ก็จะเกินกำหนด 15 วัน นอกจากนี้จำเลยก็ไม่ได้ลงลายมือชื่อโดยได้ความจากนาย ส. (อธิบดีผู้พิพากษาภาค 7 ขณะเกิดเหตุ) มาเบิกความเป็นพยานโจทก์และโจทก์ร่วมว่า จำเลยไปพบพยานเพียงประสงค์ว่าให้ดูแลผู้พิพากษาในภาคให้มากกว่านี้ ไม่ได้ไปพบในลักษณะที่ว่าให้ตั้งกรรมการสอบผู้พิพากษา พยานบอกให้จำเลยลงลายมือชื่อในบันทึก แต่จำเลยไม่ยอมลงลายมือชื่อ ดังนี้บ่งชี้ว่าจำเลยไม่ได้ประสงค์จะให้ตั้งกรรมการสอบสวนโจทก์ร่วม ดังที่นาย ส. ก็เบิกความตอบทนายจำเลยความถามค้านว่า บันทึกพยานต้องการให้ศาลจังหวัดสุพรรณบุรีรายงานข้อเท็จจริงให้ทราบ ไม่ใช่การตั้งกรรมการสอบสวนและเมื่อพิจารณาบันทึกทั้งหมดแล้ว แม้จะมีข้อความเกินเลยไปบ้าง แต่ก็มีลักษณะเป็นการปรับทุกข์และระบายความทุกข์กับนาย ส. ซึ่งเป็นอธิบดีผู้พิพากษาภาค 7 ที่ดูแลผู้พิพากษาภายในภาค 7 การกระทำของจำเลยดังวินิจฉัยมาแล้ว จึงไม่เป็นความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะได้กระทำการตามหน้าที่และดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาหรือพิพากษาคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 และ 198 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว ฎีกาของโจทก์ร่วมที่ว่าไม่ควรรอการลงโทษจำเลยจึงไม่จำต้องวินิจฉัย
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง